เปลว สีเงิน
ในการศึก
“นิ่ง” น่าสะพรึงกลัวกว่า “เคลื่อนไหว”
เพราะนิ่ง ศัตรูจะครั่นคร้าม ด้วยเดาใจไม่ถูกว่า ในนิ่งนั้น ซ่อนเล่ห์กลศึกใด
ตรงข้ามกับเคลื่อนไหว ฝ่ายตรงข้ามชอบ
เพราะเคลื่อนไหวในสถานการณ์ที่เป็นรอง ย่อมเปิดช่องว่าง-รูโหว่ให้ฝ่ายตรงข้ามเห็น และเขาจะโหมโจมตีจุดนั้น
“ขงเบ้ง” ตอนถูก “สุมาอี้” ไล่ล่า
ไม่เพราะใช้ “สงบสยบเคลื่อนไหว” ดอกหรือ จึงรอด!
เพราะเมื่อจนตาหนี
ก็แสร้งเปิดประตูเมืองร้าง แล้วขึ้นไปนั่งตีขิมบนกำแพง แทะเม็ดก๋วยจี๊ เจียะเต้ ผายลมป้าด..ป้าด สบายอก-สบายใจ
สุมาอี้เห็น…ก็ นั่นแน่….
อุบายศึกตื้นๆ “ไม่มี-ทำเป็นมี”, “มี-ทำเป็นไม่มี” เพื่อหลอกให้เราตายใจ
บุกเข้าไป ขงเบ้งก็จะโบกธงสัญญานให้ทหารที่ซุ่มซ่อนไว้ “ปิดประตูตีแมว”
อุบายตื้นๆ แบบนี้ ใช้กับคนอย่างสุมาอี้ไม่ได้หรอก เรารู้ทันน่า….ทำนองนั้น
วันนี้ ๑๖ กันยา. “หวยออก”
ได้ข่าวว่า “พลเอกประยุทธ์” ลงพื้นที่จังหวัดระยอง ไปดูน้ำ-ดูท่า ไปให้กำลังใจทหารที่กำลังทำงาน ทั้งเยี่ยมเยียนชาวบ้านชาวช่อง
ถ้าเป็นสมัยโบราณเขาเรียกว่า “เตรียมการรับศึก” แต่ครั้งนี้ ไม่ใช่รับกองทัพพม่า แต่เป็นรับ “กองทัพน้ำ” ที่เอาเราแน่
มนุษย์เนี่ย ตัวตนจริงๆไม่มีหรอก
เพียงแต่ “ธาตุดิน-ธาตุน้ำ-ธาตุลม-ธาตุไฟ” มาผสมตามสัดส่วนเป็นรูป-เป็นร่างให้เราทึกทึกว่า…นี่ “ตัวตน” เท่านั้น
ฉะนั้น เพื่อ “สร้างสมดุล” ความเป็นตัวตนตามธรรมชาติ
ในการดำรงวิถีชีวิต เราต้องรู้จักอยู่แบบ “ตีนติดดิน-กินน้ำคลอง-ท่องกลางแดด”
และ “อานาปานสติ” คือหมั่นกำหนดลมหายใจเข้า-ออกให้เป็นประจำ จนเป็นนิสัย ชนิดว่า นึกได้ตอนไหน กำหนดรู้ตอนนั้น ทุกครั้งไป
ทำได้แบบนี้ รับประกัน “จิตสบาย-กายสมบูรณ์”
ที่สำคัญ จะเป็นมนุษย์ “กึ่งอมตะ” อยู่ไปจนเบื่อว่า “เมื่อไหร่จะตายซะที” นั่นแหละ เพราะพรรคพวก-เพื่อนฝูง ชิงหนีไปจองวิมานทำเลดีๆ ล่วงหน้าหมดแล้ว
นายกฯ ประยุทธ์ไป ก็ไปย่ำน้ำ ลุยโคลน งับโอโซนกลางแดด เรียกว่า สร้างพลังชีวิตสมดุล แบบ Vitality
ทำงานงกๆ มา ๘ ปี…..
ได้พักร้อน ๓๕ วัน จาก ๒๕ สิงหา.ไปถึง ๓๐ กันยา.ช่วงศาลฯ ให้พักการทำหน้าที่ระหว่างตีความอายุนายกฯ ๘ ปี
ใครว่าไงไม่รู้ สำหรับผม อยากบอกว่า “อิจฉาท่าน” จัง!
ยังได้ชิลๆ อีก ๑๔ วัน
กว่าจะถึง ๓๐ กันยา.ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยและลงมติชี้ขาด ว่า “ลุงต่” จบแค่นี้ หรือ
“ลุงตู่” ยังได้ไปต่ออีก ๔ ปี!?
ผมเห็นทั้งสื่อ ทั้งสาก ทั้งนักวิชาการล้นเกิน ยกนั่น-ยกนี่ ขึ้นมาตีความแทนศาลฯ กันวันละ ๓ รอบ ๕ รอบ
นี่…ผมกะว่า ที่ไหนเปิดสอบเป็นเนติฯ จะรีบไปสมัครทันทีเลย ทั้งที่ไม่เคยเรียนกฎหมง-กฎหมายกะเขานี่แหละ เพราะฟังจนล้นทะลุขี้หูแล้ว
เท่าที่สังเกต เจ้าตัว คือนายกฯ ไม่เห็นท่านวิตก-ทุกข์ร้อนอะไร ตรงข้ามกับสื่อ นักวิชาการล้นเกิน และผู้ร้อง คือสส.ฝ่ายค้าน-เพื่อไทย
กระวน-กระวาย หายใจเข้า-แช่ง หายใจออก-แช่ง “ตู่ตายแน่…ตู่ตายแน่”
ดึกดื่นคืนค่อน ไม่เป็นอันนอน-อันหลับ ต้องคอยหอนแข่งหมา ชะเง้อรอตะวันขึ้น เพื่อเคาน์ดาวน์กัน!
เป็นเอามากนะ เป็นกันจนออกหน้า-ออกตา ก็ไม่ทราบว่าลุงตู่ไปเหยียบหัวแม่ตีนหรือหัวใครเขาไว้ เขาจึงเกลียดชัง ขับไสไล่ส่งกันถึงขนาดนั้น?
ถ้าเสกหนังควายเข้าท้องได้ คงเสกกันไปนานแล้ว แต่ผมดูทรงแล้ว เลย ๓ โมงเย็น วันที่ ๓๐ กันยา.ไป
ต้องมีคน “อกแตกตาย” แหง
ผสมเสียงคนร้อง “เราฉิบหายอีกแล้ว…พี่จ๋า”!
รักจะติดตามเรื่องนี้ ผมขอย้ำ ก่อนมีคำตอบให้ตัวเอง ทุกคนต้องอ่านโจทย์ให้เข้าใจ และตีโจทย์ จับประเด็นที่เขาถามให้ได้
ไม่งั้น จะหลงโจทย์ ตอบผิด ถ้าตีโจทย์ไม่แตก!
ก่อนอื่น ถามตัวเองก่อนเลยว่า โจทย์ที่ฝ่ายค้าน-เพื่อไทย เขายื่นให้ศาลตีความนั้น มีว่าอย่างไร?
ก็ยังไม่รู้กันใช่มั้ย?
ส่วนใหญ่จะกล้อมแกล้มว่า พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มา ๘ ปีแล้ว จาก ๒๔ สิงหา.๕๗ ครบ ๘ ปี ๒๓ สิงหา.๖๕ รัฐธรรมนูญปัจจุบันเขาห้ามเป็นเกิน ๘ ปี ฉะนั้น ลุงตูต้องลง!
ก็ไม่ผิด-ไม่ถูกซะทีเดียว นั่นเป็นความเข้าใจแบบ ๒+๒ เป็น ๔ แต่ถ้าใครบอก ๓+๑ เป็น ๔ หรือ ๔-๐ เป็น ๔ ก็จะว่าผิด
ฉะนั้น แบบไหนผิด-แบบไหนถูก ต้องไปดูโจทย์ให้ชัด ว่า โจทย์เขาถาม ด้วยต้องการทราบอะไร ตรงไหน?
ที่ฝ่ายค้านส่งโจทย์ให้ศาลฯ ตีความ ดังนี้……..
๑.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่
๒.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งนายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำสั่ง เนื่องจากเห็นว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดิน
ตามโจทย์ ข้อ ๒ ศาลฯ พิจารณาวินิจฉัย และมีมติ ๕:๔ ให้พลเอกประยุทธ์ “หยุดปฎิบัติหน้าที่” ชั่วคราวไปแล้ว
ก็เหลือโจทย์ ข้อที่ ๑ ซึ่งศาลจะวินิจฉัยและลงมติกันในวันที่ ๓๐ กันยา.
ประเด็นที่ฝ่ายค้านตั้งเป็นโจทย์ให้ศาลฯวินิจฉัย คือการสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกฯ
-ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และ
-มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ตามรัฐธรรมนูญ ปี ๖๐
นี่….โจทย์ตีกรอบให้วินิจฉัยใน ๒ มาตรานี้
คนวินิจฉัย คือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องวินิจฉัยโดยต้องอยู่ในกรอบตามโจทย์ คือ ๒ มาตรานี้ เท่านั้น
ส่วนเรื่องบันทึกการประชุม ๕๐๐ และ ๕๐๐/๑ ต่างๆนานา ตามที่มีขบวนการปล่อยเพื่อนำมาปั่นให้เป็นกระแส จากจิ้งจกให้เป็นจรเข้ยักษ์อะไรนั่น
มัน “นอกโจทย์” ไม่ใช่สาระหลักที่ศาลฯท่านจะต้องนำมาพิจารณาวินิจฉัย อย่างที่พล่ามให้ชาวบ้านหลงเข้าใจทางนั้น
ตอนนี้ โจทย์แตกเป็น ๒ โจทย์ คือ
-“โจทย์หลัก” ที่อยู่ในศาลฯ กับ
-“โจทย์ลวง” ที่ขบวนการลากมาปั่นล่อนอกศาลฯ
ถ้า ๓๐ กันยา.มติศาลออกมาไม่ตรงใจ ก็จะได้ใช้กระแส “โจทย์ลวง” ที่ปูทางนำไว้นั้น ว่า…นั่นไง กูว่าแล้ว
จากนั้น ก็ตาม “แผน ๒” ปั่นลากขบวนการลงถนน!
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง มีความว่า
มาตรา ๑๗๐ ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ ตาย, ลาออก และ ฯลฯ……
(วรรคสอง) “นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๕๘ 158 วรรคสี่ ด้วย”
และรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๘ มีความว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีก ไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
-นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙
-ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
-(วรรคสี่)นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
อ่านปุ๊บ เข้าใจปั๊บ ไม่ต้องไปดูเจตนารมณ์ผู้ร่างหรือเศษกระดาษบันทึกการประชุมอะไรเลย
เพราะ วรรคสอง มาตรา ๑๗๐ กับวรรคสี่ มาตรา ๑๕๘ เชื่อมโยงถึงกัน
โดยวรรคสอง มาตรา ๑๗๐ “ล็อคเป้า” คนเป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๖๐ ไว้ที่มาตรา ๑๕๘ ที่กำหนดขั้นตอนสู่ความเป็นนายกฯไว้
นั่นคือ นายกฯ ๘ ปีในที่นี้ นายกฯ คนนั้น จะต้องมาโดยผ่านขั้นตอนตามลำดับ
-วรรคหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
-วรรคสอง นายกฯต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙
-วรรคสาม ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
เมื่อผ่านขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญบัญญัตินี้แล้ว จึงจะเข้ากรอบกฏเกณฑ์ตามวรรคสี่ ที่ว่า…….
“นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
สรุป………
ความใน ๒ มาตรา เชื่อมโยงบ่งบอกตัวนายกฯตามโจทย์ถาม “ครบ-จบ-ชัด” ในข้อกฎหมายในตัวมันเอง
โดยไม่ต้องไปเอาเศษกระพี้ในวงข้าว-วงกาแฟกรธ.คนไหน มาเป็นกุญไขประตูตัวแม่บทกฎหมายที่เปิดอ้าอยู่แล้ว
ก็ไม่ต้องไปหวั่นไหว….
ทั้งวัน “มามาก” และ “มาน้อย” กันเลยครับ!
เปลว สีเงิน
๑๖ กันยายน ๒๕๖๕