วันที่ 11 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ H.E. Mr. Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย Mr. Michael Heath ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา 20 หน่วยงาน ผู้แทนผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต 3 หน่วยงาน แถลงข่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต โดยนายจุรินทร์เป็นประธาน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้การซื้อขายสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2562 มีมูลค่าสูงถึง 4.02 ล้านล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 7% ส่งผลให้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเปลี่ยนรูปแบบจากการละเมิดในรูปแบบเดิมเป็นการละเมิดบนแพลตฟอร์มและอินเทอร์เน็ตมากขึ้นตามไปด้วย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการร่วมกันเพื่อระงับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ
ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ศาลได้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออกจากเว็บไซต์จำนวน 36 คำสั่ง 1,501 URLs และเฉพาะในปี 2562 – 2563 มีการจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต จำนวน 345 คดี ยึดของกลางทั้งหมด 56,349 ชิ้นด้วยกัน
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงแผนงาน 14 แผนงานของกระทรวงในปี 2564 หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญในด้านทรัพย์สินทางปัญญาประกอบด้วย
1. กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างความตระหนักรู้ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้กับคนไทยทุกคน
2.เร่งรัดการส่งเสริมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในทุกภูมิภาคต่างๆของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเหล่านั้น ในปีที่ผ่านมาเราสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าในท้องถิ่นจาก 20,000 ล้านบาทเป็น 36,000 ล้านบาทเพราะได้รับการจดทะเบียน GI
3.กระทรวงพาณิชย์จะส่งเสริมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาด้วยการลดเวลาการจดทะเบียนให้สั้นลง
4.ให้ความคุ้มครองเชิงรุกกับทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยที่ถูกละเมิดในต่างประเทศเพราะปัจจุบันคนไทยเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
5.ดำเนินการเดินหน้าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ จะเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ และ
6.กระทรวงพาณิชย์จะเริ่มดำเนินการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต รวมถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
และท้ายที่สุดนำมาสู่การแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมในวันนี้ นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น
สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ (USPTO) คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) และกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ติดตามความคืบหน้าการจัดทำ MOU ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) ได้เผยแพร่รายงานการเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Counterfeit and Piracy Watch List) และได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต ได้มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตร่วมกัน จนนำมาสู่การลงนาม MOU ในวันนี้
“ผมเชื่อมั่นว่าการลงนาม MOU ฉบับนี้จะมีส่วนสำคัญในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ถึงการบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตอย่างจริงจัง ตลอดจนช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจด้วยการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งจะช่วยพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีสากล โดยผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ต 3 หน่วยงานประกอบด้วย บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด และบริษัท ลาซาด้า จำกัด
นอกจากนี้ ฝากสื่อสารไปยังผู้ลงทุนในประเทศของท่านว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างยิ่งจนกระทั่งนำมาสู่การลงนาม MOU ร่วมกันของทุกฝ่ายในวันนี้และเชื่อมั่นว่าการลงนามในวันนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้รวมไปถึงการบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้งในส่วนของภาครัฐภาคเอกชนในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังของประเทศไทยซึ่งจะส่งผลให้เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นรวมทั้งช่วยพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความเข้มแข็งส่งผลเชิงบวกในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปด้วยในเวทีสากล” นายจุรินทร์ กล่าว