กระทรวงแรงงานเตือนภัย แก๊งต้มตุ๋นหลอกไปทำงานฟิลิปปินส์ กักขัง ทำร้ายร่างกาย เรียกเงิน 1 แสนแลกอิสรภาพ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงใยคนถูกหลอกไปทำงานประเทศฟิลิปปินส์ ย้ำคนหางานตรวจสอบข้อมูลการทำงานให้รอบคอบ เสี่ยงไปทำงานผิดกฎหมาย และตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีหญิงสาวอายุ 26 ปี ถูกหลอกไปทำงานประเทศฟิลิปปินส์ กระทรวงแรงงานตรวจสอบพบว่า ได้มีผู้ชักชวนเหยื่อไปทำงานเป็นแอดมินบริษัทบิทคอยน์ ทำหน้าที่ตอบแชทให้กับลูกค้า เงินเดือนประมาณ 30,000 บาท สัญญาจ้าง 1 ปี และการเดินทางไปทำงานไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
รวมทั้งนายจ้างเป็นผู้ออกค่าตั๋วเครื่องบินให้ แต่เมื่อเดินทางไปถึงประเทศฟิลิปปินส์แล้ว กลับไม่ได้ทำงานตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ให้ไปทำงานหลอกคนไทยด้วยกัน โดยการพูดคุยสร้างความสัมพันธ์เป็นคนรัก ตีสนิท จนเหยื่อหลงเชื่อและโอนเงินให้
แต่เมื่อทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด จะถูกกักขังและทำร้ายร่างกาย หากต้องการเดินทางกลับประเทศไทย ต้องจ่ายเงินค่าไถ่จำนวน 100,000 บาท หากไม่จ่ายจะขายต่อให้นายจ้างที่อื่น
“พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานประเทศฟิลิปปินส์อย่างยิ่ง
ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชักชวนและหลอกลวงคนหางาน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ทราบเพื่อป้องกันการหลอกคนไปทำงานประเทศฟิลิปปินส์
และขอย้ำเตือนให้คนหางานต่างประเทศศึกษา ตรวจสอบบริษัทที่จะเดินทางไปทำงานให้รอบคอบ และศึกษาวิธีการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต้องเดินทางผ่านด่านตรวจคนหางาน กรมการจัดหางานเท่านั้น
หากมีผู้ชักชวนไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงาน ให้สันนิษฐานว่าอาจถูกหลอกลวง หรือตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมอบหมายกองทะบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน เฝ้าระวังการหลอกลวงไปทำงานผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดียและช่องทางต่างๆ
หากพบผู้มีพฤติการณ์โฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน หรือหลอกลวงว่าสามารถหางาน และได้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง จะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชักชวนและหลอกลวงคนหางานตามพรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 ต่อไป
ขอให้ทราบว่า การโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้
โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยปีงบประมาณ 2565 มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้ว 113 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 164 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 13,029,610 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2565)
ทั้งนี้ การเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มี 5 วิธี ได้แก่
1.กรมการจัดหางานจัดส่ง
2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง
3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ
4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานต่างประเทศ และ
5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง และสามารถดูประกาศการรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จากกรมการจัดหางาน ทางเฟซบุ๊ก แรงงานไทยไปต่างประเทศโดยรัฐจัดส่ง
สำหรับคนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ หรือประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถติดต่อได้ตามช่องทาง ดังนี้
1.ติดตาม ศึกษาข้อมูลการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas
2. ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th
3. ประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10
4. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694