ติดตามสถานการณ์โรคมือเท้าปากในช่วงฤดูฝน – รศ.นพ.เทอดพงศ์ เต็มภาคย์

www.plewseengern.com

โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อได้ง่าย พบบ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โรคมือเท้าปากมักระบาดในโรงเรียน ชั้นอนุบาลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กและเกิดการระบาดได้หลายช่วงเวลาของปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน

โดยสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสชนิดค็อกซากี จึงมีอาการแสดงที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรง ในกรณีที่มีการอักเสบของสมองร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 ทำให้มีอาการรุนแรงและเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

รศ.นพ.เทอดพงศ์ เต็มภาคย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเด็กภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก มักจะมีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล ทานอาหารได้ลดลง เนื่องจากมีแผลที่บริเวณริมฝีปาก กระพุ้งแก้มและเพดานปาก พบผื่นผิวหนังที่ร่างกายเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสรูปร่างกลมรี บนพื้นผิวสีแดง

มักพบที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจพบผื่นบริเวณลำตัว แขนและขาได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงทางผิวหนังหลากหลายรูปแบบ และความรุนแรงของอาการแสดงขึ้นกับหลายปัจจัย โดยเฉพาะสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โรคประจำตัวและยาที่รับประทานเป็นประจำของผู้ป่วย  ผู้ป่วยมักมีอาการของโรคประมาณ 3-5 วัน และมักจะดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ มักมีอาการไม่รุนแรง แต่ในผู้ป่วยบางราย อาจพบภาวะการขาดน้ำจากการรับประทานอาหารและน้ำลดลง

รศ.นพ.เทอดพงศ์กล่าวว่า โรคมือเท้าปากจะมีการติดต่อและการแพร่กระจายโรค โดยเชื้อไวรัสจะแพร่ผ่านทางระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ และน้ำจากแผลตุ่มพองของผู้ป่วย และสามารถติดต่อจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อไวรัสนี้จะมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงสามารถติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ

สำหรับการรักษา ปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่จำเพาะของโรคมือเท้าปาก หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ ยาชาเฉพาะที่สำหรับทาแผลในช่องปากเพื่อลดอาการเจ็บปวด การดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเด็กสามารถหายป่วยได้เอง ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งมักเกิดจากเชื้ออีวี 71 ทำให้เกิดอาการสมองอักเสบ ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว  ส่วนเด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ การเคลื่อนไหวผิดปกติ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการผิดปกติเหล่านี้ควรรีบพามาพบแพทย์โดยด่วน  เด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่าง ใกล้ชิดในโรงพยาบาล

ในส่วนของการป้องกันที่สำคัญ คือ แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด และผ้าเช็ดหน้า  ควรตัดเล็บผู้ป่วยเด็กและผู้ดูแลให้สั้น เพื่อป้องกันการเกาและติดเชื้อ ควรหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังเด็กคนอื่น หมั่นทำความสะอาดของเล่นและสภาพแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้น้ำสบู่ หรือน้ำยาทำความสะอาด สามารถกำจัดเชื้อได้ ควรระมัดระวังสิ่งของที่เด็กอาจเอาเข้าปาก

ส่วนการดำเนินของโรคและการเฝ้าระวังนั้น  ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ ผู้ปกครองต้องแจ้งโรงเรียนและให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหาย โดยใช้เวลาอย่างน้อย 5-7 วัน โรคนี้สามารถหายได้เอง แม้ว่าจะพบผู้ป่วยที่มีอาการแสดงรุนแรงจำนวนไม่มาก แต่ควรเฝ้าระวังอาการซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเมื่อหายป่วยแล้ว เด็กที่เป็นโรคนี้ยังมีเชื้ออยู่ในอุจจาระได้นานหลายสัปดาห์ ดังนั้นแม้ว่าจะหายจากการเจ็บป่วยแล้ว ยังต้องเฝ้าระวังการปนเปื้อนของอุจจาระต่ออีกระยะหนึ่ง จึงควรเน้นการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หลังเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม และก่อนรับประทานอาหารทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ดูแลทุกคน

ในช่วงที่มีการระบาด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนนี้  ไม่ควรนำเด็กไปในที่ ๆ มีเด็กเป็นจำนวนมากมาอยู่รวมกัน เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ เพราะจะมีโอกาสรับเชื้อได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่มีการระบาดในโรงเรียนแล้วพบว่า มีผู้ป่วยเด็กมากกว่า 2 คนต่อห้อง และหลายห้องในชั้นเรียน ควรปิดโรงเรียนอย่างน้อย 5 วันเพื่อทำความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำ และสถานที่สาธารณะในโรงเรียน


Written By
More from pp
ชัดเจนในล้มล้าง-ผักกาดหอม
ผักกาดหอม กะล่อนกันเก่งเหลือเกิน ม็อบสามนิ้ว โดยการบงการของเพจ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มาแนวใหม่ แต่ย้อนหลังไปไกลถึง ๘๙ ปี
Read More
0 replies on “ติดตามสถานการณ์โรคมือเท้าปากในช่วงฤดูฝน – รศ.นพ.เทอดพงศ์ เต็มภาคย์”