รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการนำร่องเพิ่มการเข้าถึงยาต้านไวรัสตับอักเสบ ซี “Test and Treat” เริ่มที่ จ.นนทบุรี เป็นจังหวัดแรก หลังปลดล็อกหลักเกณฑ์ให้ผู้ป่วยทุกรายเข้าถึงยาโดยไม่ติดเงื่อนไข โรงพยาบาลอำเภอและแพทย์ทั่วไปที่ผ่านการอบรมจ่ายยาได้ ดึง อปท.เข้าร่วมคัดกรอง พร้อมนำร่องเพิ่มอีก ๓ จังหวัด ที่เชียงใหม่ อุดรธานี และนครศรีธรรมราช ก่อนขยายทั่วประเทศต่อไป
๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รอนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการนำร่องการเพิ่มการเข้าถึงยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ปี ๒๕๖๕ (Test and Treat) พร้อมมอบยาต้านไวรัสและชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมดำเนินการในพื้นที่ จ.นนทบุรี
นายอนุทินกล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้จะมียาต้านไวรัสชนิดรับประทาน Sofosbuvir/Velpatasvir ที่มีประสิทธิภาพสูง รับประทานเพียง ๑๒ สัปดาห์ สามารถรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ให้หายขาดร้อยละ ๙๓-๑๐๐ โดยขึ้นทะเบียนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ ๒ แต่ยังมีปัญหาผู้ติดเชื้อที่ยังไม่สามารถเข้าถึงยาได้ โดยช่วงปี ๒๕๖๑-๒๕๖๔ มีผู้ติดเชื้อได้รับยาเพียง ๑๔,๕๐๓ ราย เนื่องจากหลักเกณฑ์การใช้ยาที่ไม่ครอบคลุมผู้ป่วยทุกราย เช่น ข้อจำกัดเรื่องค่าปริมาณไวรัสต้องมากกว่า๕,๐๐๐ IU/ml และผู้ติดเชื้อต้องอายุไม่เกิน ๗๐ ปี รวมถึงการสั่งยาต้องเป็นอายุรแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหาร หรืออายุรแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านระบบทางเดินอาหาร ซึ่งไม่มีในทุกโรงพยาบาล
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ได้มอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เร่งรัดแก้ไขหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคการเข้าถึงยา และมอบให้กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมการแพทย์ กรมอนามัย และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาศักยภาพแพทย์ทั่วไปของโรงพยาบาลชุมชน พัฒนาระบบการตรวจและรักษาของโรงพยาบาลทุกแห่งให้มีความพร้อมตรวจรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยมีแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดเป็นผู้ดูแลให้คำปรึกษา คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงมีมติเห็นชอบให้กรมควบคุมโรคดำเนินการ “โครงการนำร่องการเพิ่มการเข้าถึงยาต้านไวรัส เพื่อรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ด้วยวิธี Test and Treat” เพื่อให้ผู้ติดเชื้อรับยาต้านไวรัสโดยเร็วหลังได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยัน ซึ่งกรมควบคุมโรคได้จัดทำโครงการนำร่องในพื้นที่ ๔ จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี นครศรีธรรมราช และนนทบุรี เพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อทุกรายได้รับการรักษา เข้าถึงยาโดยเร็ว โดยไม่ติดเงื่อนไข
“วันนี้เป็นการเปิดโครงการนำร่องที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี เป็นจังหวัดแรกที่เป็นต้นแบบดำเนินการ โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในพื้นที่ นับเป็นก้าวสำคัญในการเริ่มต้นร่วมมือกันขับเคลื่อนให้ประเทศไทย สามารถกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ให้ได้ตามเป้าหมายในปี ๒๕๗๓ และอยากให้ อปท.เข้ามาร่วมสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มขึ้น และเร่งสร้างความตระหนักของประชาชนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนที่ติดเชื้อได้รับการรักษาให้หายขาดจากโรคนี้โดยเร็ว” นายอนุทินกล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคสนับสนุนชุดตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ซี น้ำยาตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อ และสนับสนุนยาต้านไวรัสให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ โดยการนำร่องที่สถาบันบำราศนราดูรวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานนโยบายความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย มี อปท.ร่วมดำเนินงาน ได้แก่ เทศบาลนครนนทบุรี เทศบาลเมืองบางกรวย เทศบาลเมืองบางคูรัด เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลตำบลบางเลน และเทศบาลตำบลไทรน้อย จะร่วมคัดกรองหาผู้ติดเชื้อร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ได้แก่
โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลบางกรวย โรงพยาบาลบางบัวทอง โรงพยาบาลปากเกร็ด โรงพยาบาลบางใหญ่ และโรงพยาบาลไทรน้อย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ทั้ง ๖ แห่ง ที่จะร่วมดำเนินงานสร้างระบบการดูแลรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ในพื้นที่ จ.นนทบุรี ให้มีประสิทธิภาพ โดยรูปแบบการจัดบริการ จะให้โรงพยาบาลระดับอำเภอและแพทย์ทั่วไปที่ผ่านการอบรมแล้วสามารถจ่ายยารักษาได้ และเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๕ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับ กระทรวงมหาดไทย เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานในพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป