มิติงบฯ มิติคน-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ยกแรกผ่านไป

ช่วงดึก คืนวันที่ ๒ มิถุนายน สภาผู้แทนราษฎร โหวตรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๖ ด้วยคะแนนเสียง ๒๗๘ ต่อ ๑๙๔ เสียง งดออกเสียง ๒

เสียงโหวตต่างกัน ๘๔ เสียง

ขณะที่เสียงของรัฐบาลกับฝ่ายค้านห่างกันประมาณ ๖๐ ที่นั่ง

ก็เท่ากับว่ารัฐบาลได้กำไร

กำไรที่ว่าได้มาจากไหน

ที่เป็นกอบเป็นกำคือได้จากพรรคเพื่อไทย ๗ เสียง

๑.นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ

๒.นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ

๓.นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ

๔.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี

๕.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก

๖.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก

๗.นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา

ทีมศรีสะเกษ ย้ายไปอยู่ภูมิใจไทยแน่นอนแล้วครับ  เขาต้องการยึดอีสานใต้ทั้งหมด ฉะนั้นการโหวตหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ วาระที่ ๓ หรือแม้กระทั่งญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้ง ๓ คนจะโหวตให้รัฐบาลต่อ

หรือถ้าเหนียมหน่อยก็ งดออกเสียง

รัฐบาลยังได้กำไรจาก ๔ ส.ส.พรรคก้าวไกล

เห็นเขาตั้งฉายากันว่า งูเห่าหน้าเก่า

สรุปคะแนนของฝ่ายค้านหายไปรวมทั้งสิ้น ๑๔ เสียง  จากยอด ส.ส.ฝ่ายค้านที่มีอยู่ทั้งสิ้นรวม ๒๐๘  คน

นอกจากงูเห่าเพื่อไทย ๗ คน งูเห่าก้าวไกล ๔ คน และยังมี พรรคประชาชาติ ๑ คน

ที่เหลือเป็นพวกไม่มาประชุม แต่เป็นงูเห่าอีกสายพันธุ์หรือเปล่าไม่รู้ มาจากเพื่อไทยอีก ๒ คน คือ นายคมเดช  ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์ กับนายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์  ส.ส.ชัยภูมิ

นี่คือกำไรของรัฐบาล

ในส่วนของ “เสียงพยศ” ในรัฐบาล

กลุ่มนี้ยังไม่ทันอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่มานานแล้ว!

พรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน ๑๖ เสียง ภายใต้การคอนโทรลของ “ธรรมนัส พรหมเผ่า”

ส.ส.กลุ่ม ๑๖ จำนวน ๑๘ คน ที่ประกอบด้วย ส.ส.พรรคเล็กบางส่วน ได้แก่ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย  พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทรักธรรม พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคเพื่อชาติไทย พรรคพลังชาติไทย

ทั้ง ๒ ก๊วนนี้เสพสมอารมณ์หมาย ไม่มีใครแตกแถว  ต่างพากันโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ให้ “ลุงตู่” ได้ยิ้มออก

แต่ “ลุงตู่” คงยิ้มออกได้ไม่นาน เพราะอย่างที่บอก นี่คือยกแรกเท่านั้น

ยังมียกสองยกสาม

กลายเป็นว่ากลุ่มงูเห่าจากเพื่อไทยและก้าวไกล ๑๑  เสียงไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลสำหรับรัฐบาล แต่กลุ่มเศรษฐกิจไทย และกลุ่ม ๑๖ นี่แหละจะเป็นตัวชี้ขาดเสถียรภาพรัฐบาลหลังจากวันนี้เป็นต้นไป

แน่นอนครับ ก่อนการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในวาระที่ ๓ ก็คงต้องมีการเอกเซอร์ไซส์ เหมือนที่เอกเซอร์ไซส์กันมาแล้วก่อนโหวตวาระแรก

ก็คงต้องเรียกมาเป่ากระหม่อมกันอีก

ถัดจากนั้นจะเป็นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทุกอย่างจะกลับมาวนซ้ำเป็นแผ่นเสียงตกร่องอีก

นี่คือความอัปยศของการเมืองไทยครับ

การรวมกลุ่ม ตั้งก๊วนของ ส.ส. ก็เพื่อให้มีพลังต่อรอง  แต่น่าเสียดายครับ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากเรื่องที่ว่านี้สักเท่าไหร่

เพราะส่วนใหญ่เป็นการตอบสนองความต้องการของนักการเมืองเสียมากกว่า

ฉะนั้นในแง่วิธีการ ถือว่าเสถียรภาพของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องน่ากังวล

แต่ในแง่สปิริตทางการเมือง คงต้องพูดกันไปอีกนานตราบเท่าที่การปฏิรูปการเมืองไม่เกิดขึ้น

กลุ่มก๊วนการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อรองการเมือง ล้วนสร้างความเสียหายให้คนต่อรองและคนถูกต่อรอง

แน่นอนครับมีการพูดถึงการแจกกล้วย ซึ่งมันเสียหายกันหมด

การเมืองที่ด้อยพัฒนาเช่นนี้ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ศรัทธาในตัวนักการเมืองตกต่ำลง

ครับ…วาระแรกถือว่าพอหอมปากหอมคอ

กลับไปที่คำอภิปรายของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กันอีกทีครับ ยังมีประเด็นคาใจอยู่ เพราะไปตั้งฉายาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ๒๕๖๖ ว่า “งบช้างป่วย ปรับตัวไม่ได้”

 “…ตัวเลขที่สูงที่สุดในงบประมาณชุดนี้ คือ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการกว่า ๓ แสนล้านบาท สูงกว่างบฯ ของกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลเด็กทั้งประเทศ นี่คือปัญหาช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้…”

“…ทุกๆ ๑ บาทที่เก็บภาษีมาและกู้มา ๔๐% กลายเป็นเงินเดือน สวัสดิการ กับบำนาญข้าราชการ ขณะที่เงินบำนาญข้าราชการเพิ่มขึ้น ๒ เท่าในช่วง ๘ ปีที่ผ่านมา ข้าราชการเกษียณปัจจุบันมีประมาณ ๘ แสนคน และ ๒๕๘๐  จะมีถึง ๑.๒ ล้านคน แค่บำนาญก็เกินงบฯ ที่จะใช้ไปเยอะมาก…”

“…นี่เป็นยาขมที่ต้องกลืน และต้องส่งสัญญาณไปยังข้าราชการว่า นี่คือ ระบบช้างป่วย หากปล่อยไว้อีก ๑๐ ปี  ถึงปี ๒๕๘๐ งบกว่า ๓ แสนล้าน จะกลายเป็นกว่า ๘ แสนล้าน แล้วลูกหลานจะมีงบฯ ไปพัฒนาอย่างไร…”

ถ้าดูตัวเลขตามนี้แล้วไม่ต้องคิดอะไรมาก วิธีแก้ปัญหาคือ เลิกจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ก็ได้เงินไปพัฒนาประเทศทันที ๓ แสนล้าน

แต่ถ้ามองหลายๆ มิติ การที่ข้าราชเกษียณได้รับ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ก็คือการพัฒนาประเทศเช่นกัน

เงินพวกนี้ไม่ได้นำไปใส่ตุ่มครับ

เงิน ๓ แสนล้านบาทมันกลับมาหมุนใหม่ ผ่านการจับจ่ายใช้สอย พ่อค้าแม่ค้ามีรายได้ รัฐเก็บภาษีได้ เงินหมุนไปหลายรอบ สุดท้ายเม็ดเงินก็กลับมาอยู่ที่งบประมาณแผ่นดินในปีถัดๆ ไป

ไม่ทราบเจตนาของ “พิธา” ที่หยิบตัวเลข ๗ หมื่นล้านบาทขึ้นมาเปรียบเทียบกับตัวเลข ๓ แสนล้านบาทเพื่ออะไร

จะบอกว่าข้าราชการแก่ๆ ไร้ประโยชน์ เป็นภาระของชาติอย่างนั้นหรือ

แล้ว ๗ หมื่นล้านบาทที่บอกว่าเป็นบำนาญประชาชน ตัวเลขมาจากไหน

และอะไรคือบำนาญประชาชน

รวม ๓๐ บาทรักษาทุกโรค บัตรทอง สำหรับประชาชนที่อายุเกิน ๖๐ ปีแล้วหรือยัง

ไหนๆ พรรคก้าวไกลก็ขยันรวมตัวเลขอยู่แล้วทำไมไม่เอามารวมไว้ด้วย หรือกลัวว่าจะมากกว่า ๓ แสนล้าน

ต้นไม้หากตัดรากถอนโคนมันก็ตายทั้งต้น

ใบใหม่อย่าคิดว่าจะอยู่ได้โดยไม่มีราก

คนรุ่นเก่ามีคุณค่าเสมอ

หากละทิ้งไม่ให้ความสำคัญ ต่อให้ลูกหลานร่ำรวย มีงบประมาณล้นเหลือ มันจะมีค่าอะไร

เพราะความเป็นคนมันหมดสิ้นไปแล้ว


Written By
More from pp
ปตท. ยุติธุรกิจถ่านหิน พร้อมเดินหน้าตามกลยุทธ์มุ่งสู่พลังงานสะอาด
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า บริษัท PTT International...
Read More
0 replies on “มิติงบฯ มิติคน-ผักกาดหอม”