นายกฯ ปาฐกถา “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” เผยรัฐบาลตั้งเป้าลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บบนท้องถนนให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคนภายในปี 2570 กำชับทุกหน่วยงานลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ มุ่งเน้นนำแนวคิด “วิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย”
25 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15
พร้อมกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” และมอบโล่รางวัล Prime Minister Road Safety Awards ให้กับบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านความปลอดภัยทางถนน จำนวน 49 รางวัล เพื่อเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่บุคคลและองค์กรที่ดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย
โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีกับหน่วยงาน องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลที่ได้รับรางวัล Prime Minister Road Safety Awards ทั้ง 49 รางวัล ที่ได้มีการนำเสนอนวัตกรรม แนวความคิด ความมุ่งมั่นตั้งใจในการช่วยแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ
ทำให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตใช้ถนน ลดความสูญเสียด้านจิตใจ ครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีความคาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลงานและแนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้ไปพัฒนา ปรับปรุง และปรับใช้ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในห้วงปี 2565 นี้ ถือเป็นการเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของความปลอดภัยทางถนน (พ.ศ. 2564 – 2573) รัฐบาลได้ขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน ผ่านกลไกระดับต่าง ๆ โดยกำหนดเป้าหมายภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมทั้งกวดขันการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แบบองค์รวม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน ลดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ลดลงมากที่สุด
โดยมีเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บบนท้องถนนให้เหลือ 12 คน ต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ. 2570 เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ Vision Zero ภายในปี 2593 เป็นสิ่งที่ยาก แต่เป็นเป้าหมายสำคัญ ที่เราต้องร่วมเดินหน้าไปถึงให้ได้ ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ทั้งในส่วนกลางและระดับท้องถิ่น นับว่าเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในการเกิดอุบัติเหตุ
โดยการเสริมสร้างศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย การคมนาคม และยานพาหนะที่ปลอดภัย การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานถนน และระบบขนส่งที่มีความปลอดภัย การดูแลหลังเกิดอุบัติเหตุ การเก็บข้อมูล การจัดการเรื่องความเร็ว รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านความปลอดภัยทางถนนมาปรับใช้ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุ
นายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วน ร่วมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือให้แก่ผู้ที่ใช้รถใช้ถนน ให้มีความปลอดภัย ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพแวดล้อมทางสังคม รวมทั้งกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยแก้ไขปัญหา โดยมุ่งเน้นการนำแนวคิด “วิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย” มาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งทางด้านกายภาพ
เช่น การปรับปรุงถนนหนทาง ไฟฟ้าส่องสว่าง ป้ายจราจร เป็นต้น ด้านสังคม เช่น การสร้างค่านิยม “เมาไม่ขับ” ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานด้านความปลอดภัยทางถนน และมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นการเริ่มต้นทษวรรษใหม่แห่งการขับขี่ปลอดภัย พร้อมขอให้การจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ
ในวันนี้ เป็นโอกาสในการใช้เวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และสร้างหนทางสู่ “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” และสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานต่อไปในอนาคต
สำหรับการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 นับเป็นเวทีสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนตามนโยบายของรัฐบาล
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน และมีส่วนร่วมเสนอนโยบายสาธารณะ
รวมทั้งแนวทางการบูรณาการในการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถนำความรู้ แนวทาง และรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ไปเผยแพร่และปฏิบัติให้เหมาะสมกับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง