คณะบัญชีฯ จุฬาฯ ตอกย้ำความเป็นสถาบันชั้นนำนานาชาติ ด้วยชัยชนะในการแข่งขัน Business Case ที่ประเทศแคนาดา โดยนิสิตหลักสูตร BBA ภาคอินเตอร์ ใช้ “เคสคลับ” เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพนิสิตให้ไม่แพ้ใครในโลก เล็งขยายผลสู่นิสิตทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างต้นแบบในการผลิตบัณฑิตคุณภาพระดับนานาชาติ
AIBC Alberta International Business Competition 2019 การแข่งขันกรณีศึกษาธุรกิจระดับนานาชาติรายการสำคัญ จัดขึ้นที่เมืองแจสเปอร์ รัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา โดยนิสิตหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของไทย คว้าอันดับ 1 ในการแข่งขัน ขณะที่ทีมจาก Concordia University และ HEC Montreal ครองอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา อาจารย์ที่ปรึกษากล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทำให้การศึกษาไทยต้องเปิดกว้างสู่เวทีโลกในทุกศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสตร์ที่ว่าด้วยธุรกิจการค้า ซึ่งหนึ่งในแนวทางการผลักดันการศึกษาไทยให้มีความเป็นอินเตอร์ คือการสนับสนุนให้เด็กได้ร่วมกิจกรรมการแข่งขันระดับนานาชาติ อย่างการแข่งขัน International Business Case
โดยคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงได้ก่อตั้ง “ชมรมเคสคลับ” ขึ้น เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนนิสิตได้ฝึกฝนทักษะด้านการแข่งขันเชิงบริหารธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งที่ผ่านมานิสิตสามารถคว้าชัยชนะจากการแข่งขันบิสซิเนสเคสระดับนานาชาติ มาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าการศึกษาของไทยอยู่ในระดับชั้นนำของโลก
“เคสคลับของเราถูกออกแบบมาให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ ฝึกฝนและเตรียมความพร้อมนิสิตสำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติ มีเป้าหมายเพื่อให้นิสิตมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์จากต่างแดนทั่วโลกและฝึกฝนให้ตนมีความเชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ขณะที่รางวัลเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าว”
“บัญชีฯ จุฬาฯ เราใช้เวลาสะสมชื่อเสียงมานานจนปัจจุบันทั่วโลกรู้จักเราดี ปีหนึ่งๆ เราได้รับเทียบเชิญไปแข่งขันระดับนานาชาติจำนวนมากในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่เดินทางไปกับนิสิตหลายครั้งมีโอกาสได้เห็นทั้งเด็กของเรา และเด็กของเขา ผมกล้ายืนยันเลยว่า เด็กเราเก่งกว่าหลายๆ ประเทศ และกำลังเป็นกรณีศึกษาที่โปรแกรมอินเตอร์ของคณะอื่นๆ เอาเราเป็นต้นแบบ ซึ่งเป็นผลสำเร็จที่เราภูมิใจ”
นายภากร ชวนะลิขิกร หนึ่งในนิสิตที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้กล่าวว่า ตัวเองมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติมาหลายเวทีแล้ว สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม คือการมองเห็นข้อบกพร่องของตัวเอง และอยากที่จะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ซึ่งส่วนตัวมองว่าวิธีคิดคือสิ่งที่สำคัญมากสำหรับโลกอนาคตที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยในส่วนของการแข่งขันครั้งนี้ความยากอยู่ที่ปัญหาของเคสที่ถูกนำมาเป็นโจทย์นั้น เป็นปัญหาท้องถิ่นของแคนาดา ซึ่งยากที่เราจะเข้าใจได้ แต่ด้วยการสนับสนุนทางด้านข้อมูลที่ทางคณะฯ ลงทุนให้ ทำให้เราสามารถคว้าชัยอันดับ 1 จึงดีใจที่ได้สร้างความภูมิใจแก่คณะ มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ