เปลว สีเงิน
ข่าวสารตอนนี้ หนักด้วยเรื่องทำลายล้าง วันนี้ เบาด้วยเรื่องสร้างสรรค์กันซักนิด
“Soft Power”
กำลังเป็นอีกเครื่องยนต์ ที่ทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน ตื่นตัว-สนใจ ติดตั้งเพิ่มเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศ
แต่เราเข้าใจเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกันหรือยัง ผมก็ไม่แน่ใจ?
พอดีได้อ่านที่ “รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร” และคุณ “ชาลอต โทณวณิก” ซึ่งทั้ง ๒ เรียกว่า เป็นผู้มาก่อนกาล ซอฟต์ เพาเวอร์ในไทย ได้โพสต์เป็นแง่คิด-มุมมองไว้ น่าศึกษาครับ
………………………..
Harirak Sutabutr
…………กรณี มิลลิหรือ ดนุภา คณาธีรกุล Rapper ชื่อดังของไทย ได้ขึ้นเวทีแสดงในงานมหกรรมดนตรี Coachella 2022 ที่สหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นงานมหกรรมดนตรีที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก และได้นำข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นกินโชว์บนเวที BBC ไทย พาดหัวทันทีว่า
“มิลลิ :เปิดประวัติแรปเปอร์ ไทยคนแรก บนเวที Coachella 2022 ที่ครั้งหนึ่งทนายของประยุทธ์เคยแจ้งความหมิ่นประมาท”
The Standard ออกบทความว่า ผลการโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิ ทำให้ยอดขายข้าวเหนียวมะม่วงของร้านต่างๆ ในประเทศไทย พุ่งสูงขึ้นหลายเท่า
ฝ่าย 3 นิ้ว ก็พากันออกมาอวยใน social media ในมุมต่างๆ กันถ้วนหน้า บางคนก็ว่า เป็น soft power ที่ได้ผลมาก และ soft power ไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่เป็นไทยๆ ดูอย่างมิลลิ เป็นต้น
คงยังจำกันได้ว่า ปลายปีที่แล้ว ลูกหนัง หรือ ศีตลา ลูกสาว ตั้ว ศรัณยู วงศ์กระจ่าง ได้รับคัดเลือกเข้าอยู่ในวง H1- Key ของเกาหลี และเป็นข่าวว่ากำลังจะเปิดตัว กลับถูกคนกลุ่มเดียวกันประกาศแบน เพียงเพราะพ่อคือ คุณศรัณยู ออกไปขึ้นเวทีประท้วงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ร่วมกับ ก.ป.ป.ส.
และลูกหนังซึ่งยังเด็กก็ออกไปด้วยกับคุณพ่อ ทั้งที่หากลูกหนังเกิดโด่งดังระดับโลกขึ้นมาเหมือน Lisa ก็จะสามารถใช้ soft power ทำประโยชน์ให้ประเทศได้อีกมาก
การที่มิลลิได้ขึ้นแสดงในงานมหกรรมดนตรีระดับโลกก็ต้องนับเป็นเรื่องดี และเป็นการทำชื่อเสียงให้ประเทศไทย แต่ก็อย่าได้อวยกันจนเกินจริงไป
เพราะมิลลิไม่ได้ขึ้นแสดงเพราะความสามารถและชื่อเสียงของตัวเองล้วนๆ
แต่ได้ขึ้นแสดงก็เพราะ มีผู้ที่รู้จักกับเจ้าของบริษัท 88 Rising ซึ่งเป็นบริษัทค่ายเพลงระดับโลกช่วยแนะนำ และ 88 Rising คงจะเห็นแววของมิลลิ จึงผลักดันให้ได้ขึ้นแสดงในงาน Coachella 2022 ประมาณ 6 นาที
ซึ่งก่อนหน้านี้ มิลลิไม่ได้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติแต่อย่างใด
การแสดงของมิลลิ แม้จะเป็นเรื่องดีและเป็นการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ แต่น่าเสียดายที่มิลลิใช้เนื้อเพลงที่ดูแคลนและประจานประเทศไทยอย่างไม่เป็นธรรม
แต่ยังโชคดีที่เพลง rap เป็นเพลงที่ฟังยาก จับคำยาก คนฟังส่วนใหญ่จึงคงฟังไม่เข้าใจทั้งหมด อีกทั้งมิลลิร้องเป็นภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ เช่นใช้คำว่า “Government บูด”
ทำให้ยิ่งฟังยากยิ่งขึ้นไปอีก
หรืออย่างเสาไฟกินรี ก็ไม่มีคนต่างชาติฟังออก ถึงฟังออกก็ไม่รู้ว่าคืออะไร
แต่กระนั้น การแต่งเนื้อเพลงแบบนี้ก็บ่งบอกได้ถึงทัศนคติของคนแต่งและคนร้องว่าเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ดี การที่มิลลินำข้าวเหนียวมะม่วงไปกินโชว์บนเวทีต้องนับเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย และทุกสำนักข่าวชื่นชมว่าเป็นการใช้ soft power ได้ดี
แต่ก็ไม่ทราบว่าชาวต่างชาติจะฟังเข้าใจหรือไม่ว่าสิ่งที่มิลลินำไปกินบนเวทีคืออะไร
ที่แน่ๆ คือการเผยแพร่ข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิ กลับทำให้ข้าวเหนียวมะม่วงขายดิบขายดีในประเทศไทย ไม่ใช่ในประเทศอื่น
นั่นเป็นเพราะการปั่นกระแสของสำนักข่าวออนไลน์ที่สนับสนุน 3 นิ้วทุกสำนักนั่นเอง
เมื่อพูดถึงคำว่า “soft power” ซึ่งความจริงผมไม่ค่อยชอบคำนี้สักเท่าใด แต่เราต้องเข้าใจคำนี้ให้ถ่องแท้ก่อนจะวิจารณ์อะไร
soft power สำหรับประเทศใดประเทศหนึ่ง คือการทำให้ต่างชาตินิยมชมชอบ หรือเห็นดีเห็นงามไปกับชาติเราในด้านวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง หรือนโยบายต่างประเทศ โดยไม่ใช้กำลังหรือใช้การข่มขู่ใดๆ
ก่อนที่มีการให้กำเนิดคำว่า “soft power” คุณแสงชัย สุนทรวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ผู้มากความสามารถ
ก่อนเสียชีวิต ท่านได้ใช้คำว่า “กำหนดวัฒนธรรม” ความหมายคือ หากชาติใดสามารถกำหนดวัฒนธรรมของชาติอื่นๆได้ ชาตินั้น จะได้ประโยชน์จากชาติอื่นๆอย่างมหาศาล
และผมได้เคยร่วมกับคุณแสงชัย และอ.ส.ม.ท จัดงานสัมมนาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน “ธรรมศาสตร์ 60 ปี” ให้ชื่อว่า “สงครามคลื่นวัฒนธรรม”
ในตอนนั้น เกาหลีมีแต่สินค้าไฮเทค ยังไม่มี K-Pop ยังไม่มีภาพยนต์ฮิทมากมายเช่นทุกวันนี้
แต่ประเทศที่สามารถครอบงำประเทศต่างๆ ในโลกได้อย่างต่อเนื่องก่อนใครก็คือ สหรัฐอเมริกา
โดยมีเครื่องมือหลักคือ Hollywood ภาพยนต์ Hollywood ทำให้ทั้งโลกนิยมใส่กางเกงยีนส์ คลั่งไคล้ดารา
Hollywood ฟังเพลงของศิลปินอเมริกันและอังกฤษ และนิยมกิน hamburger และ fast food อื่นๆ ของคนอเมริกัน
ชัดเจนว่า เกาหลีได้ดำเนินรอยตามสหรัฐอเมริกาทุกประการอย่างได้ผล
และประเทศที่เป็นเหยื่ออย่างถอนตัวไม่ขึ้นประเทศหนึ่งก็คือประเทศไทย ทั้งที่ในสมัยนั้น เกาหลียังเท่าๆ กับไทย
แต่วันนี้ ต้องยอมรับว่า วัฒนธรรมเกาหลีได้เข้ามาครอบงำประเทศไทยอยู่ข้างเดียว
หมายความว่า ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เกาหลีได้ใช้ soft power กำหนดวัฒนธรรมประเทศอื่นได้อย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ประเทศไทย ดูเหมือนจะเกือบย่ำอยู่กับที่ ทำให้เราพ่ายแพ้ต่อเกาหลีใน “สงครามคลื่นวัฒนธรรม” ไปอย่างไม่มีทางสู้
อย่าได้โทษว่า เพราะประเทศไทยชอบมีการทำรัฐประหารบ่อยครั้ง จึงได้เป็นเช่นนี้ ควรต้องโทษคนไทยเรานี่แหละ ที่เอาแต่แย่งชิงอำนาจกัน ดึงแข้งดึงขากัน พวกใครพวกมัน
ไม่ค่อยยอมรับสิ่งดีๆ ของคนอื่นที่ไม่ใช่พวกพ้อง หรือไม่ใช่ฝ่ายเดียวกันทำไว้ และมีการทุจริตคอรัปชันกันในทุกระดับ ทั่วทุกหัวระแหง
เป็นเช่นนี้มาทุกยุคทุกสมัย ทุกรัฐบาล ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น
หรือว่าประเทศเรา ต้องใช้ระบอบการปกครองแบบจีน และมีผู้นำอย่าง สี จิ้นผิง ประเทศเราจึงจะดีได้ ก็ไม่ทราบ
—————————-
Charlotte Donavanik
………..การมาพูดว่า จะทำ soft power นั้นมันไม่ง่าย มันต้องวางตั้งแต่นโยบาย infrastructure และงบประมาณ
เกาหลีไม่ได้มาด้วยโชคช่วย และไม่เคยพูดว่าตัวเองทำ soft power แต่เค้าทำมาน่าจะ 20 กว่าปี ในการวางโครงสร้างการสนับสนุนด้าน entertainment
เราได้ประสบการณ์เพราะเคยไปดูงาน KBS ที่เกาหลี และเคย นำconcert Rain เข้ามาแสดงในไทยเป็นรายแรกของไทยที่นำ concert นักร้องดาราดัง ของเกาหลีมา แบบ สนามบินแตก เรื่องนี้เคยเขียนแล้ว
เกาหลีวางตั้งแต่โครงข่าย internet ที่เปิดกว้างทั่วถึงทำให้คนเข้าถึงสื่อได้ง่าย นอกจากนั้น ยังมีทุนจากรัฐบาล ในการสนับสนุนวงการบันเทิงด้านต่างๆ
คือถ้าคุณมีโครงเรื่องจะสร้าง ด้านบันเทิง ด้านที่ท่องเที่ยว เช่น winter love song สมัยเบยองจุน หรือวัฒนธรรมแบบแดจังกึม
หรือแม้แต่หัวหน้าฮง Home town cha cha cha ที่เรื่องมีการแสดงความผูกพันคนในชุมชน คนชรา เหล่านี้รัฐให้ทุนสนับสนุน
เรื่องอาหารการกิน วัฒนธรรมมีการสอดแทรกทุกเรื่องนอกเหนือจากสินค้าที่แฝงไปอย่างเนียนๆ ตอนนี้คนทั่วโลกรู้จักอาหารเกาหลี บะหมี่เกาหลีกำลังแย่ง shelf ของบะหมี่ไทย
และการที่น้องๆ แม้เป็นคนไทยไปดังระดับโลกในนามศิลปินค่ายเกาหลีนั้น เค้าไม่ได้มาด้วยบังเอิญ เราเคยทำเรน รู้เลยว่าฝึกหนักมาก
อย่าง “แบมแบม” ฝึกมาเป็นเวลาหลายปีกว่าจะฝ่าด่านต่างๆได้ ลิซ่า ก็เช่นกัน และขอโทษเกาหลีเค้า ฝึกโหดพอกับฝึกทหาร น้องๆ นั้น มีแรงกดดันแน่นอน แต่ก็ผ่านมาได้
ไทยโชคดีที่แม้รัฐบาลไม่เข้าใจ soft power แต่น้องๆ ยังรักเมืองไทย พยายามแทรกความเป็นไทย อย่างลิซ่าก็มีชุดใส่ชฎา
คือถ้านางไม่เบอร์นี้ นางจะ request แบบนี้ยาก หรือแบมแบม ที่ได้ไปร้อง งาน NBA ก็มี hello Thailand
และพวกนี้ มีเวลาก็อยากกลับบ้าน หาพ่อแม่ปู่ย่าตายาย อยากมากินหมูกระทะ มาใช้ชีวิตในไทย
บอกไว้ว่า ตอนนี้ เรายังสร้างไม่เป็น มีแค่ “ตามกระแส” พอเด็กดังทีก็พูด soft power ที แต่เกาหลีเค้าสร้างไว้ แม้เป็นศิลปินค่ายเกาหลี แต่ทุกคนก็บอกว่าตัวเองเป็นคนไทย
ถ้าภาครัฐจะต่อยอดที่เค้าปรุงอาหารเลิศรสไว้ ก็น่าจะอ้าปากเคี้ยว มีการ recognize น้องๆ เอาว่าที่เป็นคนไทยที่ประสบความสำเร็จ จะได้ไม่มีปัญหาที่เป็นค่ายเกาหลี
แต่ตอนนี้เงียบ……
เพราะไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ปล่อยน้องๆ ขายลูกชิ้นยืนกิน ข้าวเหนียวมะม่วงกันไป
ตอนนี้ถ้าสังเกตดีๆ เกาหลีจะเอาใจไทยที่เป็น fan base ใหญ่ ทั้งแบมแบม ก็มาอยู่ ลิซ่าก็มา และหัวหน้าฮงก็มาเที่ยว
เราจะขอให้รางวัลหรือ recognize น้องๆ ก็ย่อมทำได้เรามีทั้งกระทรวงวัฒนธรรม ที่ไม่ต้องเอิงเงยอย่างเดียวก็ได้ เรื่องการนำความเป็นไทยออกไปก็ recognize ได้
กระทรวงพัฒนาสังคม ก็ได้ กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้ ที่ช่วยขายข้าวเหนียวมะม่วง ทำอะไรให้น้องๆ รู้สึกว่า ประเทศไทยรักเค้า และชื่นชมสิ่งที่เค้าทำ เพื่อเค้าจะมีกำลังใจต่อยอดต่อไป
———————————–
สรุป Soft Power คือ การสอดแทรกเชิงประยุกต์อย่างมีศิลป์ ด้วย “คิดนอกกรอบ” ผ่านกิจกรรม-กิจการ ให้ชาติอื่นตื่นใจ จนซึมซับเข้าไปให้เขายอมรับวัฒนธรรมเรา
กระทั่ง “บริหารการเมือง-การประเทศ” ก็เถอะ
“ลุงตู่” กำลัง Soft Power อยู่ ดูกันให้ดีๆ!