เปลว สีเงิน
ปีนี้ “นักษัตรเสือ”
เป็นปีชงหรือปีสมพงศ์กับรัฐบาลก็ไม่ทราบ เพราะพอเริ่มปีนักษตรใหม่เท่านั้นแหละ
เสือตะปบใส่รัฐบาลก่อนเลย!
ประเดิมจาก นายวิเชียร ชวลิต ระดับกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ลาออกทั้งจากสส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งจากสมาชิกพรรค
วันเดียวกัน แรมโบ้ “ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์” ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
และตำแหน่ง “ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล”
รัฐบาล “ไม่พัง” หรอก
แต่มันจะส่งผลทาง “อารมณ์-ทางรู้สึก” ด้านความเสถียรของรัฐบาลให้เกิดกับทั้งคณะพรรครัฐบาลเอง และทั้งสังคมทั่วไป
“แรมโบ้” ลาออกน่ะ เป็นสปริตทางการเมืองของเขา ไม่เป็นปัญหา
แต่การที่นายวิเชียร อดีตปลัดมหาดไทย เป็นระดับแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ “ลาออก” นี่ซี
ต้องบอกว่า เสถียรภาพพลังประชารัฐ คือเสถียรภาพรัฐบาล เมื่อพลังประชารัฐ “มีปัญหา” จะบอกว่า “รัฐบาลไม่มีปัญหา”
พูดได้….แต่ใครล่ะจะเชื่อ!?
นายวิเชียร ไม่ใช่ “เต้าหู้ขาดไส้” เมื่อลาออก ก็มีทางเป็นไปได้มากกว่า จะต้องมีคนในพรรคอีกจำนวนหนึ่ง อาจลาออกตามไปด้วย
ตามไปไหน?
ผมไม่รู้ รู้แต่ว่า เขาเริ่มก่อตั้ง “พลังประชารัฐ” มากับ “คุณอุตตม-สนธิรัตน์” ที่ถูกผลักไสออกไป และตอนนี้ “อุตตม-สนธิรัตน์” ไปตั้งพรรค “สร้างอนาคตไทย”
เมื่อถึงจุดที่พรรคพลังประชารัฐ ทำให้คำว่า “คับที่อยู่ได้-คับใจอยู่ยาก” ให้เกิดกับนายวิเชียร
ดังนั้น การที่เขาลาออกทุกตำแหน่งในพรรค รวมทั้งการเป็นสมาชิกพรรค จึงไม่ยากคาดเดา ว่านายวิเชียรจะไปไหนต่อ ที่ไม่ใช่อยู่บ้าน “เลี้ยงหลาน”?
แต่ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ เหมือนไฟในเตา พอใช้ขี้เถ้าและน้ำดับได้
ปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์นี่ซี ต้องบอกว่าถึงคราทุกข์ซ้ำ-กรรมซัดวิบัติเป็น หนักหนาสาหัสจริงๆ อาจมีผลถึงความไม่แน่นอนในจำนวนเสียงในสภาแน่
ปัญหา “นายปริญญ์ พานิชภักดิ์”
เมื่อเรื่องเกิดปุ๊บ นายปริญญ์ลาออกทุกตำแหน่ง รวมทั้งสมาชิกพรรคปั๊บ นั้น
ถ้า “หัวหน้าพรรค” มีกึ๋น จะต้องรีบฉวยจังหวะนั้น โชว์ภาวะผู้นำยามวิกฤติ ในทาง “ผ่อนหนักเป็นเบา” ทันที
ต้องเข้าใจ ผิด-ถูก เป็นเรื่องเฉพาะคน ทางกฎหมายจัดการไปก็จริง
แต่เรื่องความรู้สึกของผู้คนทางสังคม มันเป็นเรื่องภาพลักษณ์-ความเชื่อถือในพรรคโดยตรง ซึ่งกฎหมายไม่เกี่ยว
มันเกี่ยวกับ “ภาวะผู้นำ” ๑๐๐%!
สโลแกนพรรคประชาธิปัตย์มีว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” มิใช่หรือ?
แล้วหัวหน้าพรรค บริหารปัญหาภาพรวมของพรรคภายใต้หลักการ “ประชาชนต้องมาก่อน” หรือเปล่า?
ถ้ายึดหลัก “ประชาชนต้องมาก่อน”…..
หัวหน้าพรรค ต้องตั้งหลักให้ถูก รีบประชุมกก.บห.พรรค กำหนดทิศทางตั้งรับ
ขั้นแรก ในนามพรรค
หัวหน้าพรรค พร้อมกก.บห.พรรค ต้องออกมา “ขอโทษประชาชน” แล้วแถลงว่าทางพรรค จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร?
ไม่ใช่ออกมาพูดสำแดงโวหาร พรรคไม่เกี่ยว เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ให้ว่าไปตามกฎหมาย
ซึ่งมันก็ใช่ “ว่าไปตามกฎหมาย”
แต่ทางการเมือง ต้องเข้าใจ…….
ว่า “สังคมพิพากษา” มีผลแรงกว่า “กฎหมายพิพากษา”
เมื่อนายปริญญ์ ระดับบริหารพรรคมีเรื่องฉาว การที่โบ้ยให้เป็นเรื่องกฎหมาย นึกว่าทางการเมือง จะ “ตัดตอนจบ” ได้ง่ายๆ อย่างนั้นหรือ?
ช่างไร้เดียงสาเสียจริงๆ!
คนเป็นผู้นำ เมื่อวิกฤติเกิดขึ้น ขั้นแรก ต้อง “ยืดอก” รับหน้า-รับปัญหาก่อนเลย
ไม่ใช่เห็นข้าศึกล้อมเมือง แล้วฆ่าลูก-ฆ่าเมีย-ฆ่าลูกน้อง โยนศพแลก “ตัวเองรอด” ส่วนเมืองจะเป็นไง ปล่อยไปตามบุญ-ตามกรรมอย่างนี้
นี่ไม่เพียง “ระส่ำภายใน” เพราะไม่มีใครนำบริหารปัญหา
ซ้ำยังปล่อยปละ….
ให้คนใกล้ตัวในพรรค ออกมาโพสต์สาวไส้คนภายในกันเอง ให้แร้งกาจิกลากไปประจาน เรี่ยราด อนาถพรรค-อนาถเมือง อย่างที่เป็น
แล้วผู้นำยังมาพูดด้วยนึกว่าเท่……
“ทุกคนในพรรคมีสิทธิออกความคิดเห็น”!?
เมื่อผู้นำไม่แยแส “กระแสสังคม” เท่ากับสวนทางหลักการพรรคที่ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน”
จึงไม่แปลก ทั้ง “กระแสจริง-กระแสปลอม” จึงรุมถล่มประชาธิปัตย์จมดินตอนนี้
แล้วจะโทษใครล่ะ?
เมื่อแม่ทัพในยามศึก “เอาตัวรอด” แล้วจะมีลูกทัพคนไหน ใครล่ะ จะรบเพื่อพรรค?
จึงไม่แปลก จากที่ “ร้าวทั้งพรรค” อยู่นานแล้ว ขณะนี้ ไม่แตกก็เหมือนแตก มีแต่คนคิดแยก น้อยคนที่จะคิดกอบกู้-สู้สถานการณ์
ไม่จำเป็นต้องบอก มีเสียงเรียกร้องให้ “หัวหน้าพรรค” ลาออก!
เพราะบรรยากาศมันบอก “อาการและอารมณ์” ทั้งทางสังคมและทางคนในพรรคอยู่แล้ว
คำว่า “ภาวะผู้นำ” ไม่ได้มาจากคำว่า “รับชอบ”
หากแต่ มันมาจากคำว่า “รับผิด”
รับผิดทั้งทางสังคม ทางกฎหมาย ในฐานะ “ผู้นำ” ตะหาก จอมพลสฤษดิ์ “ได้ใจประชาชน” เพราะอะไร รู้มั้ย?
เพราะคำว่า “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่ผู้เดียว” นั่นแหละ เหตุนั้น ในบางเรื่อง จอมพลสฤษดิ์ทำผิดพลาด แต่ประชาชนก็ให้อภัย ไม่คาดคั้น-มั่นหมาย ถึงเป็น-ถึงตาย
แต่ที่สังคมเกรี้ยวกราดประชาธิปัตย์หนักขึ้นทุกวันขณะนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะ ผู้นำพรรค ขึ้นที่สูง แล้วไม่ก้มต่ำ “ศึกษาทางเดินผู้นำ” คนก่อนๆ ที่เขาฝ่าวิกฤติดูบ้าง
“เล่นการเมือง” น่ะ เล่นได้
แต่อย่าเล่นกับอารมณ์และกระแสสังคม ซึ่งมันไม่มีได้ มีแต่เสียอย่างเดียว!
ผมสงสารท่านประธานรัฐสภา “ชวน หลีกภัย” ด้วยความเป็น “ผู้ใหญ่สูงสุด” ของการดำรงอยู่ของพรรคประชาธิปัตย์
ท่านรู้ สถานการณ์อย่างนี้ หัวหน้าพรรคควรทำอย่างไร?
แต่ท่านมีมรรยาทพอที่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายการบริหาร โดยไปชี้ ไปสั่ง ให้ทำอย่างนั้น-อย่างนี้ โดยตรง
ที่ทำได้ เพียงแต่พูดให้สติ ให้คิด ชี้ทาง ในภาพรวมเท่านั้น
ก็อยู่ที่หัวหน้าพรรค “คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” จะคิดใคร่ครวญ ว่าจะเอาอำนาจไว้ หรือจะเอาพรรคไว้?
ปัญหานี้ มันแก้ได้
แต่ที่แก้ไม่ได้ เพราะหัวหน้าพรรคหนักไปทางแก้เอาตัวรอด มากกว่าแก้เอาพรรครอด!
ถ้ารัฐบาลมีอันเป็นไป เพราะเอกภาพประชาธิปัตย์ นั่นเป็นวิถีการเมืองระบบสภา ไปได้-ก็กลับมาได้
แต่ถ้าพรรคอายุร่วมร้อยปีอย่างประชาธิปัตย์ มีอันเป็นไป ถึงขั้น ตายไปจากศรัทธาประชาชน
นั่น…จะไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี ซึ่งน่าเสียดายนัก!
ผมมองด้วยสายตาคนภายนอก ผิด-ถูก ก็ขอโทษท่านหัวหน้าพรรคด้วย
แต่ขอฝากไว้คำ….
ท่านจุรินทร์ อย่าทำให้ “ท่านชวน” ต้องขมขื่น กล้ำกลืนทน มากไปกว่านี้เลย
คนรับผิดชอบ “ทางปาก-ทางกาย” นั่นน่ะ
ไม่หนักเท่าคน “รับผิดชอบทางใจ” อย่างท่านชวนขณะนี้หรอก!