6 เมษายน 2565-จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 4 – 7 เมษายน 2565 พบว่าอิทธิพลของลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) สั่งการด่วนให้ปศุสัตว์ในพื้นที่แจ้งเตือน เฝ้าระวังและเร่งเข้าช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันที
“กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมรับมืออุทกภัย ผมสั่งการทุกหน่วยในสังกัด เร่งให้การช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ เสบียงอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยานพาหนะ ทีมสัตวแพทย์ แต่งตั้งชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว พร้อมออกปฏิบัติการทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องเสบียงนี้มีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
สถานการณ์ล่าสุด อำเภอสิชล อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชเกิดน้ำป่าไหลหลากและท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ปศุสัตว์เขต 8 ได้สั่งการด่วนถึงปศจ. ทุกจังหวัด ในพื้นที่เขต 8
“ท่านอธิบดี ได้ห่วงใยต่อสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในบางพื้นที่ อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โดยสั่งการให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเกษตรกร
ในการนี้ ขอให้ท่านปศุสัตว์จังหวัด ดำเนินการ ดังนี้
– รายงานประมวลสรุปสถานการณ์ประจำวัน ในไลน์กลุ่ม DLD disaster จนกว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
– พื้นที่จังหวัดใด มีสถานการณ์น้ำท่วม และ หน่วยงานได้ดำเนินการช่วยเหลือฯ ให้รายงาน ตามแบบฟอร์มและช่องทางการรายงานที่กำหนด
– พื้นที่ใด ที่ต้องการขอสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์เพิ่มเติม (นอกเหนือจากโควตาที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว) ให้ประสานกับ ศวอ. ที่รับผิดชอบพื้นที่ และแจ้งให้ปศข.8 ทราบด้วย”
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) ซึ่งเกษตรกรสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ได้ทันที
สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาหรือได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติดังกล่าว สามารถติดต่อประสานขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลาจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร.0-2653-4553, 0-2653-4444 ต่อ 3315 อีเมล์ [email protected] หรือแจ้งข้อมูลในแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที
ที่มา : กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์