2 บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ เป็นงง !!! ถูก กปน.ทำแท้ง โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งที่ 2 บริษัทฯ มีใบรับรองและผลงาน จากหน่วยงานภาครัฐ และมีผลงานประจักษ์ชัดว่ามีความสามารถทำได้ตาม TOR ผลิตน้ำประปา 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน จาก เทศบาลนคร ครบถ้วน จับตาอุทธรณ์ เป็นผลหรือต้องสู้ยาวยัน กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ยื่นหนังสือ ‘ขออุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้าง’ โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) หลังจากถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมประมูล โดยคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ อ้างว่า ทั้ง 2 บริษัท ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ระบุว่า ต้องมีผลงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
การประกวดราคาดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค.2564 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 5 ราย จากเอกชนที่ซื้อซอง 9 ราย ผลปรากฏว่า บริษัทฯที่เสนอราคาต่ำสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอราคา 6,150 ล้านบาท อันดับ 2 บมจ.ซิโน-ไทยฯ เสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท และอันดับ 3 ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) เสนอราคา 6,460 ล้านบาท
“บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจาก กปน. แจ้งว่า วงษ์สยามก่อสร้าง มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เพราะ “มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ตามที่กำหนดในประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 นอกจากนี้ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ซึ่งถูกตัดสิทธิจากการเข้าร่วมประมูลด้วย นั้น กปน. แจ้งว่า บมจ.ซิโน-ไทยฯ มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เนื่องจาก ผลงานก่อสร้างที่ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ ถูกตีความว่ามีขนาดน้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน”
โดยที่ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ทำหนังสือขออุทธรณ์ ลงวันที่ 7 มี.ค.2565 มีสาระสำคัญในการโต้แย้ง คือ หนังสือรับรองผลงานจากเทศบาลนครนครราชสีมา ที่ คณะกรรมการฯ ยกมาประกอบการกล่าวหา นั้น บริษัทฯ ได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าเทศบาลนครนครราชสีมา มีหนังสือแจ้งข้อมูลเรื่องนี้ไว้ 2 ฉบับ ซึ่งทั้งสองฉบับมีเนื้อความไปในทางสนับสนุน ว่า ผลงานก่อสร้างโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เทศบาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2550 ที่ถูกนำมาใช้ยื่นเป็นประสบการณ์มีความสอดคล้องกับประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 แล้ว กล่าวคือ หนังสือชี้แจงข้อมูลจากเทศบาลนครนครราชสีมา ที่ นม 52005/418 ลงวันที่ 19 ม.ค.2565 ชี้แจงว่าเป็นปริมาณซึ่ง “มีกำลังการผลิตน้ำที่รวมปริมาณน้ำสูญเสียไว้ด้วยตามข้อกำหนดไว้ในสัญญา”
อันหมายความว่า หลังจากผ่านการคิดคำนวณเรื่องน้ำสูญเสียเสร็จแล้ว ปริมาณการผลิตจริงที่ทำได้ ก็ยังเป็น 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันตามหนังสือรันรองผลงานก่อสร้างที่ออกให้ ดังนั้นหากการประปานครหลวง ยังคงดึงดันจะรับฟังว่า ผลงานผลิตน้ำประปาไม่ถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก็จะขัดแย้งกับบรรดาเอกสารทั้งปวงที่บริษัทฯ ได้นำเสนอ และอาจจะเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย บริษัทฯ จำต้องขออุทธรณ์ผลการพิจารณาดังกล่าว ขอให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว และแจ้งผลการพิจารณากลับมายังบริษัทฯ ด้วย
ในส่วนของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ฉบับลงวันที่ 7 มี.ค.2565 ได้ทำหนังสืออุทธรณ์โดยยืนยันว่า บริษัทฯ มีคุณสมบัติตามที่ประกาศประกวดราคาจ้างฯ ของ กปน. “จากผลงานการก่อสร้างระบบประปามาตรฐานของ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่มีขนาดตั้งแต่ 500-5,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง และผลงานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห. 24/2556 ลงวันที่ 11 เม.ย.2556 ซึ่งเป็นผลงานประเภทเดียวกันกับผลงานที่กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาข้อที่ 11 ตามข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในหนังสือรับรอง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ยืนยันว่า บริษัทฯมีผลงานครบถ้วน เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคา ในการประกวดราคาครั้งนี้ มีมูลเหตุอันควรสงสัยที่ กปน. ควรจะต้องเรียกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องด้วยบริษัทฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด การที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังในข้อดังกล่าว เป็นเหตุให้ กปน.เสียประโยชน์จากการที่ไม่ได้ผู้เสอนราคาต่ำสุด และมีคุณสมบัติครบถ้วน”
ทั้งนี้ตามระเบียบ เมื่อมีการยื่นเรื่องอุทธรณ์ ทาง กปน. จะรับพิจารณาคำขออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างฯ ของ บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ วงษ์สยามก่อสร้าง เอาไว้หรือไม่ หาก กปน. ยังยืนยันตามเดิมว่า ทั้ง 2 บริษัท ขาดคุณสมบัติ ก็จะมีการส่งเรื่องไปให้ ‘คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์’ กรมบัญชีกลาง เป็นผู้ชี้ขาด ต่อไป