สุดทางที่เปียงหลวง ๒ (จบ) -นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

ลุงสายคำและภรรยากลับมาที่หมู่บ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ในปีพ.ศ.๒๕๒๕ สิบปีพอดีหลังจากเข้าป่ามาเป็นนักรบกู้ชาติ

          โรงพยาบาลของกองทัพถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ภายในประกอบด้วยห้องฉุกเฉินและห้องพักฟื้น โดยลุงสายคำจะทำหน้าที่รักษาอาการบาดเจ็บทั่วไปและผ่าตัดบาดแผลถูกยิงในตำแหน่งไม่สำคัญ หากมีอาการหนักจะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลจินดา สิงหเนตร ส่วนภรรยาของลุงทำหน้าที่ตรวจเลือดและให้การรักษาโรคมาเลเรียกับทหารไทใหญ่ ซึ่งติดเชื้อกันหนักมากในช่วงนั้น
          ในเวลาที่เปิดโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ เขตกิ่งอำเภอเวียงแหงเองซึ่งห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ร้อยกว่ากิโลเมตร ยังไม่มีโรงพยาบาลของราชการไทย โรงพยาบาลกองทัพไทใหญ่จึงให้การรักษากับทั้งทหารไทใหญ่ และชาวบ้านไทยในพื้นที่รอบๆ โดยเก็บเงินค่ารักษาแล้วแต่ศรัทธาของชาวบ้าน ส่วนนางพยาบาลนั้นลุงสายคำฝึกขึ้นมาจากหญิงไทใหญ่ที่มาเข้าร่วมกับกองทัพกู้ชาติ
          “พอกลับมาถึงเปียงหลวง ผมมาฝึกหญิงไตให้เป็นนางพยาบาล ฝึกทฤษฎีการใช้ยา คุณสมบัติผลข้างเคียงของยาต่างๆ การฉีดยา การใช้เครื่องมือแพทย์ เราต้องผ่าตัดกันบ่อยมาก ผ่าลูกกระสุน ผ่าตัดรักษาอาการบาดเจ็บเท่าที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆเราไม่ผ่า เนื่องจากเครื่องมือ กำลังผู้ช่วยไม่พร้อม
          พวกยาต่างๆต้องลงไปหาซื้อมาจากเชียงใหม่ สมัยนั้นถนนไม่มี มีแต่ทางลากไม้ลงไปถึงเชียงดาว ต่อจากเมืองงายไปถึงเป็นถนนดี จะเข้าเชียงใหม่ใช้เวลาถึง ๒ วัน คนไข้บางคนต้องหามไป ยังดีที่ช่วงนั้นการรบไม่รุนแรงมากนัก ทหารไทใหญ่คุมพื้นได้ ตลอดแนวชายแดนถึงเมืองปั๋นเป็นเขตการดูแลของกองกำลังSURA ทหารพม่าไม่กล้าข้ามล้ำเข้ามา
          แต่ทหารของเราติดเชื้อมาเลเรียและป่วยไข้กันหนักจริงๆ ภรรยาผมต้องดูแลและทำงานหนักมาก จนเธอล้มป่วย ไม่มีเวลารักษาตัวเอง แล้วตายไปด้วยไข้มาเลเรียเหมือนคนไข้ของเธอ”
เล่าถึงตอนนี้ลุงสายคำนั่งนิ่งงัน
ดิฉันเองก็ถึงกับชะงัก มือจับปากกาถือค้างทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะถามอะไรต่อไปด้วยเช่นกัน
          ในที่สุดโรงพยาบาลของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ก็ต้องปิดตัวลง เพราะได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังจากสถานการณ์เปลี่ยนไป เมื่อขุนส่าเข้าร่วมกับกองทัพSURA และเตรียมการมอบอาวุธทั้งหมดของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ให้กับรัฐบาลทหารพม่า ในปีพ.ศ.๒๕๓๙ ในวันที่ข่าวนี้มาถึงหมู่บ้านเปียงหลวง นักรบไทใหญ่ทั้งชายและหญิงต่างน้ำตาตกกันโดยทั่วหน้า ทุกคนตระหนักตรงกัน พวกเขาทิ้งชีวิตทั้งชีวิตเพื่อมาทำการรบกู้ชาติ แต่จู่ๆวันหนึ่ง ความหวังและแรงใจทั้งหมดก็พังทลายลงตรงหน้า
          เช่นเดียวกับลุงสายคำ เมื่อได้รับทราบข่าวนี้ ลุงสายคำก็ได้ฝากจดหมายไปกับคนที่ต้องการวางอาวุธ เป็นคำยืนยันมั่นคงของลุงว่า
“หนึ่ง ความตั้งใจของผม ตั้งแต่ออกจากบ้านคือการกู้ชาติ
สอง นับจากวันแรกที่เข้าป่าจนถึงวันนี้ ผมทำเพื่อชาติมาตลอด
และข้อสุดท้าย สิ่งที่คุณทำต่อไปนี้ ไม่ใช่การกู้ชาติ ผมจะไม่ไปร่วมกับคุณ ถ้าคุณคิดว่าจะทำเพื่อชาติเมื่อไหร่ เรียกผมได้ตลอดเวลา”
          ในปีพ.ศ. ๒๕๔๕ ลุงสายคำใช้ชีวิตเงียบๆ อยู่ที่หมู่บ้านเปียงหลวง และเช่นเดียวกับทหารไทใหญ่รุ่นแรกๆที่เข้ามาตั้งรกรากในเปียงหลวง ลุงสายคำเป็นคนหนึ่งซึ่งไม่ยอมทำบัตรประชาชนคนไทยเมื่อได้รับอนุญาตในยุคนั้นด้วยเหตุผลที่ว่า
          “เมื่อก่อน ผมเคยเชื่อมั่นว่าการกู้ชาติต้องสำเร็จสักวันหนึ่งข้างหน้า แล้วเราจะกลับไปประเทศของเรา เราต้องไม่ทำบัตรประชาชน เราต้องกลับไปเริ่มต้นที่ประเทศของเรา ฟื้นฟูประเทศของเรา”
          และสิ่งสำคัญที่อดีตนักรบแห่งกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่หลายคนกำลังพยายามต่อสู้กอบกู้อยู่ในขณะนี้ก็คือ ความมุ่งหวังที่ลุงสายคำตั้งปณิธานไว้ว่า
          “คนไทใหญ่จะตั้งใจรบเพื่อกู้ชาติอย่างเดียวไม่ได้ หากวันหนึ่งตั้งประเทศได้แต่วัฒนธรรมไตไม่เหลือ มันก็ไม่มีความหมายอะไร เราต้องต่อสู้เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี ภาษา ตัวอักษร ให้เด็กไตอ่านหนังสือไตได้ ให้เขาได้รู้ประวัติศาสตร์ที่มาของตัวเอง เราต้องมีโรงเรียนสอนเด็กของเรา นายพลโมเฮงเคยเปิดโรงเรียนให้เด็กไทใหญ่ได้เรียนภาษาวัฒนธรรมไต ถึงตอนนี้เราก็ยังมีโรงเรียนของเราอยู่ในหมู่บ้านเปียงหลวง เด็กไตที่อพยพมาจากรัฐฉาน อยู่ในศูนย์พักพิง ยังได้เรียนหนังสือไตจากโรงเรียนนี้ เขามาเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีไต ครูไทใหญ่จะถ่ายทอดให้เขารู้จักรักชาติ หวงแหนแผ่นดิน ภูมิใจในสายเลือด นั่นจะช่วยให้เขาได้เกิดจิตสำนึกที่จะสืบต่อการกู้ชาติจากคนรุ่นพ่อแม่ของเขาได้”
           และลุงสายคำยังยืนยันอย่างหนักแน่นอีกด้วยว่า
          “ประเพณีวัฒนธรรมไตเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องรักษาสืบทอดความเป็นชาติของเรา เราต่อสู้ด้วยอาวุธก็เพื่อให้คนไตมีโอกาสรักษาวัฒนธรรมไตไว้ หากไม่มีสิ่งนี้ คนไตจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นไต ไม่เกิดความภูมิใจในเลือดเนื้อชาวไต นี่เป็นการล่มสลายของชนชาติไตจริงๆ”
          ทุกวันนี้ในปีพ.ศ.๒๕๔๕ หมู่บ้านเปียงหลวงมีโรงเรียนบ้านหลักแต่งหรือโรงเรียนกาญจนาภิเษกเปิดสอนนักเรียนชั้นป.๑–ป.๖ เป็นโรงเรียนของชุมชน อาศัยพื้นที่ใต้ถุนศาลาวัดในหมู่บ้านเป็นห้องเรียนสำหรับเด็กๆ โรงเรียนมีนักเรียนทั้งหมด ๑๕๘ คน ครู ๖ คน ห้องเรียนละคน เด็กครึ่งหนึ่งเป็นเด็กอพยพมาจากรัฐฉาน อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวของอำเภอเวียงแหง ทุกวันจะมีรถรับส่งเด็กๆมาที่โรงเรียนสมทบกับเด็กในห่มูบ้านเปียงหลวงและบ้านหลักแต่งที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
          ดิฉันได้พบครูช้าง ครูเห็น และครูแลงวันที่มานั่งคุยให้รายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับโรงเรียนและเด็กไทใหญ่ ครูเห็น คำหมาย ครูหนุ่มอายุ ๒๙ ปีเล่าว่า หลังจากขุนส่าวางอาวุธ เด็กๆไทใหญ่ในเขตชายแดนทั้งฝั่งไทยฝั่งพม่า ไม่มีที่เรียนหนังสือ ชาวบ้านเปียงหลวงจึงจัดสร้างโรงเรียนบ้านหลักแต่งขึ้นมา และช่วยกันสอนหนังสือเด็ก แต่เนื่องจากพื้นที่โรงเรียนอยู่ประชิดชายแดน เมื่อมีการสู้รบอาวุธระเบิด กระสุนปืนตกเข้ามาในโรงเรียนบ่อยๆ อันตรายจนไม่อาจทำการเรียนการสอนต่อไปได้ จึงย้ายมาใช้พื้นที่วัดเปียงหลวงเปิดเป็นห้องเรียน
          เมื่ออยู่ที่โรงเรียนเด็กไตจะถูกห้ามไม่ให้พูดภาษาไต เพราะอยู่บ้านก็พูดกันคล่องปากแล้ว การมาโรงเรียนสิ่งพื้นฐานก็คือ ครูต้องช่วยเสริมทางด้านภาษาไทยให้แข็งแรง เพื่อที่เด็กจะสามารถเอาตัวรอดในโลกปัจจุบันได้ ครูเห็นกล่าวว่าการจะกลับไปทำงานในรัฐฉาน ประเทศพม่าเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงต้องสอนให้เด็กรับรู้ความจริง ให้เขาเอาตัวรอดให้ได้ในชีวิตประจำวัน ว่าเมื่อยังไม่มีโอกาสกลับไปรัฐฉาน เขาต้องดิ้นรนเอาชีวิตให้รอดไปได้อย่างไร ดังนั้นจึงต้องสอนภาษาไทยให้เด็กใช้งานได้ในอาชีพแรงงานรับจ้างที่คนไทใหญ่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้
          พร้อมกันนั้นทางโรงเรียนก็กวดขันให้เด็กได้เรียนเขียนอ่านอักษรและภาษาไทใหญ่ สอนประวัติศาสตร์ชนชาติไทใหญ่ควบคู่ไปด้วย และสอนวิชาชีพต่างๆ ให้เด็กเท่าที่จะสอนได้ อย่างครูแลงวัน มีความรู้เรื่องการตัดผม ก็จะเอานักเรียนโตหน่อยสักชั้นป.๕–ป.๖ ไปหัดตัดผมกัน
“แรกๆ ตัดออกมา เป็นหัวลาย…ทั้งนั้นเลย”
          ครูเห็นหัวเราะหึๆ โรงเรียนบ้านเปียงหลวงมีเด็กๆแน่นศาลาวัด ยามพักเที่ยงเด็กไทใหญ่หน้าตาอ่อนเยาว์สดใส วิ่งเล่นไล่จับ กระโดดยางกันสนุกสนาน หัวเราะเบิกบาน-เหมือนเด็กคนอื่นที่ดิฉันและทุกคนได้พบเห็นอยู่ทั่วไ
          “โรงเรียนที่นี่จะหยุดวันเสาร์อาทิตย์ วันเข้าพรรษา แล้วก็หยุดวันโกน วันพระ เพราะคนแก่จะมาถือศีลกันที่วัด ถ้าโรงเรียนเปิดเด็กมันเล่นหนวกหู รบกวนคนมาทำสมาธิ เราเลยต้องหยุดเรียนตามวันสำคัญทางศาสนาไปด้วย”
          ครูเห็นเล่าเพิ่มเติม เราคุยกันอยู่พักใหญ่ ขณะที่เข็มนาฬิกาเคลื่อนผ่านไปรวดเร็วและเวลาที่เหลือในหมู่บ้านเปียงหลวงก็เหลือน้อยลงทุกที
          ดิฉันและเพื่อนหญิงแวะไปกราบลาลุงสายคำ กับนักรบหญิงไทใหญ่อีกหลายคนที่นั่งพูดคุยให้ความรู้กับเราอย่างเต็มที่ จากนั้นก็เร่งรีบบึ่งรถลงจากภูเขากลับเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อที่จะไม่ไปมืดกลางทาง บนเส้นทางสายเปลี่ยวสายเดิมที่วันเดินทางเข้ามาเวียงแหง ผู้หญิงเขียนหนังสืออายุสามสิบกว่าปีทั้งสามคนนี้ได้ตื่นเต้น ปลาบปลื้มสุดแสนมาแล้วกับถนนสวย ปุยเมฆขาวลอยต่ำเรี่ยขอบฟ้าสีน้ำเงินจัด และดอกบัวตองสะพรั่งบานแต้มสีเหลืองทองอยู่ทั่วบริเวณ
          แต่ขากลับออกจากเวียงแหงคราวนี้ การต่อสู้ของนักรบไทใหญ่ที่รับรู้มาจากหมู่บ้านเปียงหลวง ทำให้เรา “อึ้ง” และระงับยับยั้งความเริงร่าอันดูเหมือนเด็กแรกรุ่นที่ยังไร้เดียงสาต่อชีวิต…ลงไปมาก
          และทำให้ดิฉันได้ประจักษ์กับตระหนักว่า หากกวีฝรั่งจะให้นิยามถึงผู้หญิงในช่วงวัยสามสิบว่ามีลักษณะอัน warm, mature, and mysterious แล้วล่ะก็
          ความmature หรือ “วุฒิภาวะ” ของชีวิต คงมิได้หมายถึงตัวเลขอายุที่ล่วงผ่าน มิได้หมายถึงกระทั่งประสบการณ์ทั้งหมดที่เผชิญ หากหมายลึกลงไปถึงการรู้จัก “ทำใจ” ให้ปลดปลงและยอมรับความจริงที่เป็นอยู่อย่างหนักแน่น ยอมรับสิ่งเลวร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นและได้รับรู้ โดยไม่หม่นหมองสิ้นหวัง แต่พร้อมจะหาหนทางเดินตรงไปสู่สิ่งที่มุ่งหมายศรัทธาอย่างไม่ท้อถอย และพร้อมจะสร้างกำลังใจให้กับคนที่กำลังล้มลุกคลุกคลานอยู่บนหนทางเดียวกัน หรือกำลังจะเดินมาสู่วิบากกรรมเดียวกัน เดินตรงเข้ามาอย่างไม่หลีกหนี ทั้งที่มองเห็นแล้วว่า ระหว่างเส้นทาง หรือ “สุดปลายทาง” เส้นนี้…มีอะไรรออยู่ข้างหน้า
          หลายร้อยกิโลเมตรจากกรุงเทพฯ จากต่างวิถีชีวิต ต่างการงานอาชีพ และต่างวัฒนธรรม กว่าจะมาถึงหมู่บ้านเปียงหลวงดิฉันเดินทางทางมาแสนไกล เพื่อเรียนรู้บางสิ่ง…จากจิตใจตัวเอง
          นั่นคือการรู้จักทำใจให้ยอมรับความจริงอันเหี้ยมโหดที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างหนักแน่น ไม่ปล่อยให้ความหม่นหมองหดหู่ครอบงำ แต่แปรเปลี่ยนความเป็นจริงตรงหน้าให้เป็นเรี่ยวแรงเพื่อทำงานในหน้าที่ของคนเขียนหนังสือ บอกเล่าสิ่งที่ประสบอย่างเต็มสามารถ
          นี่คือ “หน้าที่” ของเรา ทดแทนให้กับ “เวลา” และ “เรื่องเล่า” ของแต่ละพื้นที่ที่ดิฉันได้ผ่านและได้พบ
          เช่นเดียวกับ “หน้าที่” ของลุงหมอสายคำกับนักรบไทใหญ่อีกหลายคนในหมู่บ้านเปียงหลวง แม้จะสุดทางจนมืดตันแล้ว เห็นความอับจนมารออยู่แล้ว แต่พวกเขาก็ไม่เคยสิ้นหวัง
การต่อสู้ของคนไทใหญ่…ยังไม่จบสิ้น
ภาพประกอบ วัดแลงหาญไตย ดอยไตแลง รัฐฉาน
พ.ศ.๒๕๕๕ และ พ.ศ.๒๕๖๓


Written By
More from pp
ไทยเบฟ มอบเงินสนับสนุน ศิริราชมูลนิธิ โรงพยาบาลศิริราช  
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำโดย ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในฐานะเหรัญญิกมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ พร้อมด้วย คุณกมลนัย ชัยเฉนียน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ คุณประวิช สุขุม ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร
Read More
0 replies on “สุดทางที่เปียงหลวง ๒ (จบ) -นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว”