3 มีนาคม 2565-รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟอะราบิกา สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านปางขอน ต.ห้วยชมพู อ.เมือง จ.เชียงราย ว่า สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านปางขอน ก่อตั้งเมื่อปี 2545 เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่โดยรอบสถานี และพื้นที่ใกล้เคียงให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามแนวทางพระราชดำริ “แหล่งผลิตและสำรองอาหาร” บริเวณที่ตั้งของสถานีอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย กรมวิชาการเกษตร ได้วิเคราะห์วางแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟอะราบิกา โดยจัดทำแปลงต้นแบบการฟื้นฟูสภาพต้นกาแฟอะราบิกาที่มีอายุมาก จำนวน 2 ไร่ จัดทำแปลงขยายพันธุ์มะคาเดเมีย จำนวน 5 ไร่ ใช้เป็นพืชร่มเงา การฝึกอบรมการผลิตกาแฟอะราบิกาที่ถูกต้องและเหมาะสม ดำเนินกิจกรรมผลิตต้นพันธุ์กาแฟอะราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 จำนวน 4,000 ต้นต่อปี และผลิตต้นพันธุ์มะคาเดเมีย จำนวน 2,000 ต้นต่อปี ใช้เป็นพืชร่มเงากาแฟ สนับสนุนให้กับเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับผลการดำเนินงาน การปลูกกาแฟอะราบิก้าพันธุ์เชียงใหม่ 80 พบว่า มีผลผลิตตั้งแต่ปี 2554 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 จำนวน 132,100 กิโลกรัม และในปี 2564 และเพิ่มเป็น 380,107 กิโลกรัม เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 380,107 บาท เมื่อเทียบในปี 2545 ก่อนเริ่มโครงการเกษตรกรมีรายได้ครัวเรือนเพียง 50,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
รมช.มนัญญา กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการฯ ว่า บ้านปางขอนเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของ จ.เชียงราย ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นต้นแบบขยายผลสู่พื้นที่อื่นของภาคเหนือตอนบน โดยในปี 2565 เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ดำเนินงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ ได้รับการรับรองแหล่งผลิตดีที่เหมาะสม (GAP) ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9001-2556 จำนวน 95 ราย 95 แปลง พื้นที่ได้รับการรับรอง 1,170 ไร่
สำหรับแผนการดำเนินงานต่อไป ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย มีแผนสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาการผลิตกาแฟสู่ระดับพรีเมี่ยม โดยใช้ชุดเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ครอบคลุมตั้งแต่ การดูแลแปลง การใช้ดัชนีการเก็บเกี่ยวกาแฟ การหมักกาแฟ เทคโนโลยีการหมักกาแฟ เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เก็บรักษากาแฟ เทคโนโลยีการคั่วกาแฟลดสารพิษ เทคนิคการคัดเกรดกาแฟ รวมทั้งการประเมินคุณภาพกาแฟเพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์กาแฟของเกษตรกรต่อไปในอนาคต