ผักกาดหอม
พูดเป็นต่อยหอย
นานๆ ทีจะเห็น “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ไลฟ์สดตอบคำถามแฟนคลับเรื่องการบ้านการเมือง
เทียบกับสมัยเป็นนายกฯ ก็ถือว่าพูดเก่งกว่าเดิมเยอะพอควร
แต่ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ความรับผิดชอบมันกว้างมาก มากเกินกว่าที่ “ยิ่งลักษณ์” จะรับผิดชอบได้
ฉะนั้น การพูดผิดๆ ถูกๆ เมื่อคราวเป็นนายกฯ จึงเป็นเรื่องไม่เกินวิสัย
การไลฟ์สดของ “ยิ่งลักษณ์” มีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่องครับ
เรื่องแรก “ยิ่งลักษณ์” พูดถึงเสียงเชียร์ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย
คำตอบก็ตามนี้ครับ….
“…ตอนนี้หมดยุคแล้วหรือไม่ ตอนนี้เป็นรุ่นของคนรุ่นใหม่และสมัยใหม่แล้ว เด็กรุ่นใหม่มีความสามารถเยอะ ตอนนี้ก็อายุ ๕๐ กว่าแล้ว ใกล้จะปลดระวางแล้ว
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีจะต้องอยู่ที่พี่น้องประชาชน จะบอกว่าเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้หรอก ต้องฟังเสียงประชาชนว่า อยากให้ใครมาบริหารประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
ประเทศไทยมีคนที่มีความรู้ความสามารถมาก ส่วนตัวไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็อยากจะช่วยเหลือประชาชน ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศบ้านเกิด เรามีความรักมีความผูกพัน แม้ว่าตัวจะมาอยู่ที่นี่แต่ใจยังอยู่ที่ประเทศไทยตลอดเวลา…”
คิดเหมือนกันหรือเปล่าครับ?
“ยิ่งลักษณ์” กำลังเฉลยข้อสอบ
ถ้าเอาตามสเปกนี้ นายกฯ คนต่อไปของพรรคเพื่อไทยคือ “แพทองธาร ชินวัตร” คนเดียวเท่านั้น
ขณะที่ หมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะแซยิดอยู่ไม่กี่วันนี้
ครับ…ก็น่าจะมีการพูดคุยกันในพี่น้องตระกูลชินวัตรพอควรว่า หมากที่วางไว้จะเป็นเช่นไร ใครจะเป็นผู้สืบทอดคนต่อไป
และหากดูความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “อุ๊งอิ๊ง” มีตำแหน่งเป็น ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมประชุม ส.ส.ของพรรคประจำสัปดาห์ด้วย ก็น่าจะเป็นในทิศทางดังกล่าว
ความเคลื่อนไหวลักษณะนี้ ก็เป็นที่รู้กันว่า เหมือน “ทักษิณ” เข้าประชุม ส.ส.พรรคด้วย
เพราะเมื่อประเมินจากที่พรรคเพื่อไทยเล่มเกม “ล่มสภา” นับครั้งไม่ถ้วนตลอด ๑-๒ เดือนที่ผ่านมา เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลให้ได้ การปรากฏตัวของ “อุ๊งอิ๊ง” ในที่้ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย จึงเป็นการส่งสัญญาณว่า งานนี้ “นายใหญ่” เอาจริง!
เพื่อไทยจะเล่นเกม “ล่มสภา” จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
การเล่นเกม “ล่มสภา” เป็นยุทธวิธีที่จำเป็น เพราะพรรคเพื่อไทยไม่มีทางเลือกอื่น เนื่องจากศักยภาพการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะการตรวจสอบรัฐบาลถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถือเป็นมาตรการที่รุนแรงที่สุดในการตรวจสอบรัฐบาล
แต่ซักฟอกกี่ครั้งก็ล้มเหลว รัฐบาลไม่สะเทือน
ต่างจากการตรวจสอบเมื่อครั้งเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ที่ถูกแฉกลางสภา รัฐมนตรีติดคุก นายกฯ หนีไปต่างประเทศ
ฉะนั้นนาทีนี้แผนของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ต้องการให้ “ลุงตู่” ลาออกอีกแล้ว
แต่อยากให้ยุบสภามากกว่า
เพราะการเลือกตั้งกลางปีนี้ กับต้นปีหน้า ในแง่ของเงื่อนเวลาแทบไม่ต่างกันมากนัก
และเหตุผลจริงๆ หากจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาล “ทักษิณ” น่าจะประเมินว่า เปลี่ยนตัวนายกฯ หลังเลือกตั้ง ดีกว่าหลัง “ลุงตู่ “ลาออก
เงื่อนไข “ลุงตู่” ลาออกในช่วงเวลาเช่นนี้ ไม่ส่งผลดีกับพรรคเพื่อไทยเท่าไหร่นัก เพราะการเลือกนายกฯ ใหม่ในสภา พรรคเพื่อไทยเหลือแคนดิเดตอยู่แค่คนเดียวคือ “ชัยเกษม นิติสิริ”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กำลังคั่วเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.
ขณะที่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกไปสร้างดาวคนละดวง
การใช้ “ชัยเกษม นิติสิริ” มาเป็นนายกฯ ก่อนเลือกตั้ง อาจส่งผลเสียกับพรรคเพื่อไทยมากกว่า กรณีที่บริหารประเทศผิดพลาด
เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฟื้นประเทศ
และ “ชัยเกษม นิติสิริ” ไม่น่าจะมีศักยภาพพอ
หนำซ้ำ เป็นการถ่มน้ำลายรดหน้าตัวเองที่เคยโจมตี “ลุงตู่” เป็นข้าราชการมาชั่วชีวิต ไม่มีความรู้ที่จะกอบกู้เศรษฐกิจชาติได้
“ชัยเกษม นิติสิริ” ก็รับราชการมาชั่วชีวิตเหมือนกัน
หากบริหารประเทศผิดพลาดแล้วต้องเลือกตั้งต้นปีหน้า ก็ไม่ง่ายที่เพื่อไทยจะกลับมา
ฉะนั้นหมากที่ “ทักษิณ” วาง น่าจะเร่งให้ “ลุงตู่” ยุบสภามากกว่าลาออก
เพราะการวางตัว “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกฯ และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ถือว่ามีความสำคัญสำหรับ “ทักษิณ”
การที่ “อุ๊งอิ๊ง” ได้กระทบไหล่ผู้นำชาติเอเปกที่เต็มไปด้วยมหาอำนาจ มีทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น จะส่งผลต่อดี “ทักษิณ” มหาศาล
แต้มต่อการเมืองโลก อาจทำให้การกลับไทยมีความเป็นไปได้มากขึ้น
แต่ก็เป็นดาบสองคมเช่นกัน
เพราะชะตากรรมของ “อุ๊งอิ๊ง” อาจซ้ำรอยเดิม “ยิ่งลักษณ์” จากความพยายามเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษโกง
เรื่องถัดมา เป็นประเด็นยอดฮิต “ยิ่งลักษณ์” ห่วงเรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชน
“…แม้เราจะมาอยู่นี่เกือบ ๔ ปี แต่ใจยังห่วงพี่น้องประชาชน ยังคงอ่านข่าวสารอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ราคาข้าวของสินค้าที่แพงขึ้น แต่เงินในกระเป๋าหรือรายได้ของประชาชนไม่ขึ้น รวมถึงค่าแรงงาน และช่วงลำบากยังเจอสภาวะโรคระบาดโควิด-๑๙ เป็นเหมือนการซ้ำเติม
รู้ว่าประชาชนไม่มีทางออก ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เพราะอยู่ไกลและไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว จึงได้แต่ส่งกำลังใจและติดตามตลอด หวังว่าอยากให้ทุกคนช่วยกัน เข้มแข็ง และขอร้องรัฐบาลว่าให้ช่วยประชาชน เพราะทุกคนลำบากจริงๆ…”
ถ้ายุค “ยิ่งลักษณ์” เป็นนายกฯ เศรษฐกิจเฟื่องฟู ประชาชนอิ่มท้อง การพูดแบบนี้ก็ควรถวิลหาให้ “ยิ่งลักษณ์” มาเป็นนายกฯ อีกรอบ
แต่…ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น
ปี ๒๕๕๕ ผลสำรวจของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เรื่อง “ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในรอบ ๙ เดือน” พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลได้แค่ ๓.๘๓ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๑๐
“ยิ่งลักษณ์” มีปัญหาการสื่อสารกับประชาชนผิดพลาดซ้ำซาก
ตั้งแต่ วิกฤตมหาอุทกภัย มาจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจ
“ยิ่งลักษณ์” ประกาศเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ ราชมังคลากีฬาสถาน ในโค้งสุดท้ายของการหาเสียง
“…หากได้เป็นรัฐบาลจะไม่ทำให้ผิดหวัง และสิ่งแรกที่จะทำคือ กระชากค่าครองชีพคืนมา ทำให้ราคาน้ำมันลดลง เบนซิน ๙๕ ลดลง ๗.๕ บาทต่อลิตร เบนซิน ๙๑ ลดลง ๖.๗ บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลลดลง ๒.๒ บาทต่อลิตร…”
วรรคทอง กลายเป็นวรรคเท็จ
งดจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้แค่ช่วงสั้นๆ ให้เห็นแบบขอไปที สุดท้ายต้องยอมรับความจริง เพราะราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหมือนเดิม
เรื่องเดียวกันนี้ พรรคเพื่อไทยเอามาโจมตี รัฐบาลลุงตู่ บีบให้งดจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เอาใจประชาชน ทั้งๆ ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เคยทำแล้วมีปัญหา สะท้อนให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยมุ่งแก้ปัญหาให้ตัวเองมากกว่าแก้ให้ประชาชน
ครับ…ความพยายามของ “ทักษิณ” จะเป็นเพียงฝันค้าง เพราะจนถึงวินาทีนี้ ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
เว้นเสียแต่ว่า “ลุงตู่” ตกม้าประเด็นนายกฯ ๘ ปี
หลังเดือนสิงหาคมนี้รู้กัน