เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย หารือต่อที่ประชุมว่า ก่อนอื่นตนเองต้องขอขอบคุณทางรัฐบาล โดยหลังจากที่ตนได้หารือถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่ยังไม่มีการดำเนินการไปนั้น
ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ดังกล่าว จำนวน 7 คน จึงถือว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้มีความสมบูรณ์พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยตนจะได้ติดตามการปฏิบัติงานต่อไป
สำหรับประเด็นสำคัญที่ตนจะได้หารือวันนี้ คือเรื่องกิจการอวกาศยุคใหม่ (New Space) ซึ่งในอดีตที่ผ่านมากิจการอวกาศถูกผูกขาดไว้สำหรับภาครัฐเท่านั้น โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา เมื่อพูดถึงอวกาศทุกคนจะนึกถึงชื่อ NASA เป็นอันดับแรก แต่ในปัจจุบันเป้าหมายในการดำเนินกิจการอวกาศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทำให้หน่วยงานรัฐอาจไม่สามารถทำเรื่องต่างๆ ให้สำเร็จได้โดยลำพัง
จึงมีการเปิดโอกาสในการสร้างกิจการอวกาศเชิงพาณิชย์ (Commercial Space) ซึ่งเป็นช่องทางให้เจ้าของธุรกิจด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ความสนใจ จึงมีธุรกิจด้านอวกาศเกิดขึ้นมากมาย เช่น Human Spacecraft, Space Mining, Space Tourism และด้านดาวเทียม ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้มีเฉพาะกิจการด้านดาวเทียมสื่อสารเท่านั้น แต่ยังมีการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆจากดาวเทียมนำทางด้วย
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์จากสำนักวิจัยระดับนานาชาติหลายสำนักได้คาดการณ์ว่า Space Economy จะมีมูลค่าหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระดับล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 20 ปีนี้ จึงทำให้หลายประเทศตื่นตัว ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แม้กระทั้งมาเลเซีย ที่มีการประกาศนโยบายและแผนอวกาศ 2030 ส่วนสิงคโปร์ก็มีนโยบายสนับสนุนการลงทุน Startup ในกิจการอวกาศ เช่น Low cost Rocket ที่ชัดเจนคือมีการตั้งหน่วยงานสนับสนุนการลงทุนด้านกิจการอวกาศยุคใหม่อีกด้วย
“ผมจึงอยากฝากไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนกิจการด้านอวกาศของไทย ต้องให้ความสำคัญในการทำแผนระดับชาติที่ชัดเจน เกี่ยวกับกิจการอวกาศยุคใหม่ ซึ่งจะต้องสร้างความเข้าใจใหม่ว่ากิจการอวกาศไม่ได้จํากัดอยู่แค่เรื่องดาวเทียมที่ใช้ในการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ โดยใช้ดาวเทียมไม่กี่ดวงเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องมีการตั้งหน่วยงาน Space Agency ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการอวกาศทั้งหลายของประเทศ ซึ่งการเปิดเสรีกิจการอวกาศ โดยการสร้างระบบใบอนุญาต เพื่อให้มีการระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนากิจการอวกาศ ต้องสร้างความชัดเจนในเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบ และความสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐต่างๆ เช่น กระทรวงดีอีเอส, GISTDA, กสทช. รวมทั้งคณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติ จึงขอให้หน่วยงานดังกล่าวได้บูรณาการการทำงาน และกรุณาชี้แจงถึงนโยบายและแผนในเรื่องนี้มายังสภาฯแห่งนี้โดยเร็ว” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว