23 ก.พ. 2565 เวลา 9.00 น. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เรื่อง “โอกาส ศักยภาพและความท้าทาย” ของจังหวัดชายแดนใต้และของประเทศไทย ภายหลังรัฐบาลเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย โดยสมบูรณ์ สรุปสาระสำคัญดังนี้
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มากล่าวปาฐกถาพิเศษเนื่องในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “โอกาส ศักยภาพและความท้าทาย” ของจังหวัดชายแดนใต้และของประเทศไทย ภายหลังรัฐบาลเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย โดยสมบูรณ์ ซึ่งจากการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เป็นโอกาสรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ เป็นการเปิดศักราชเชื่อมความสัมพันธ์ของราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างสมบูรณ์ ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชนทั้งสองประเทศอย่างแน่นแฟ้นและพร้อมจะเดินไปสู่ความสำเร็จด้วยกัน
ทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงกันในหลายลักษณะ อาทิ การมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่คู่กับประเทศมาจากนานเท่านาน มีการทรงงานผ่านโครงการสำคัญน้อยใหญ่ เพื่อประโยชน์และความสุขให้แก่ราษฎรในประเทศได้อยู่ดี กินดี และมีความสุข ตลอดจนรัฐบาลได้มีการออกแบบภาพอนาคตที่ชัดเจนและการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่จะนำพาประชาชนคนไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ทั้งการสร้างสังคมที่อุดมไปด้วยความสุขและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจจากระดับฐานรากที่เข้มแข็งไปสู่เศรษฐกิจของประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากล และการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติร่วมกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาและชาติพันธุ์ใดก็ตาม และเหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือประเทศไทยมีจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีพี่น้องประชาชนชาวไทยนับถือศาสนาอิสลาม เป็นพี่น้องครอบครัวมุสลิมที่สามารถสร้างโอกาสจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในครั้งนี้อย่างรอบด้าน
ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักฯ ได้กล่าวว่านายกรัฐมนตรีมีความเชื่อมั่นว่า ภายใต้ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียจะเป็นทั้งโอกาสเป็นความหวังและเป็นความท้าทายในการเดินหน้าพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมความพร้อมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาในอนาคต โดยความร่วมมือที่สำคัญที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่
ด้านการท่องเที่ยวโดยให้ความสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ หรือการรีแบรนด์ด้านการท่องเที่ยวภาพลักษณ์ใหม่ในประเทศไทยและในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เป็นบ้านหลังที่สองของนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีอาระเบีย
ด้านพลังงาน ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุดีอาระเบียในมิติทางด้านพลังงาน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ และพลังงานจากขยะ และการเตรียมความพร้อม เช่น ข้อมูลแหล่งพลังงาน ความร่วมมือของชุมชน นักลงทุน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ด้านแรงงาน โดยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนแรงงานตามศักยภาพกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ คนไทยที่เกิดในประเทศซาอุดีอาระเบียแล้วเดินทางกลับมายังประเทศไทย คนไทยที่ไปศึกษาในประเทศซาอุดีอาระเบียและในประเทศแถบตะวันออกกลาง กลุ่มคนที่ต้องการไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย และกลุ่มบัณฑิตที่จบการศึกษาในประเทศไทยในหลักสูตรภาษาอาหรับหรือหลักสูตรที่สามารถสื่อสารภาษาอาหรับหรือภาษาอังกฤษได้ ขอให้มีการพัฒนาทักษะกลุ่มเป้าหมายแต่ละประเภท เพื่อให้ได้แรงงานที่มีศักยภาพ สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวในระยะต่อไป
ด้านอาหาร ให้ความสำคัญในการยกระดับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นครัวฮาลาลโลก รวมทั้งการส่งเสริมเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรแปรรูป ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในรูปแบบประมงเพื่ออุตสาหกรรม และอุตสาหกรรม BCG ตลอดจนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาที่ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่
ด้านสุขภาพ โดยให้ความสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพ ด้านภาษา ด้านวัฒนธรรม เพื่อให้บริการสุขภาพทั้งเชิงรับและเชิงรุก พร้อมกับการพัฒนาสถานบริการสุขภาพ แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชาวอาหรับ การพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์สมุนไพรในพื้นที่เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และการสร้างงานสร้างรายได้ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพร
ด้านการค้าและการลงทุน ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ นำศักยภาพของคนในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปรับแก้กฎหมายที่อำนวยความสะดวก
โดยในตอนท้าย รัฐมนตรีประจำสำนักฯ ได้กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฝากเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการคิดและออกแบบนโยบายออกแบบกลไกและแนวทางการพัฒนาภายใต้การเปิดศักราชเชื่อมความสัมพันธ์ของราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียอย่างสมบูรณ์ ข้อเสนอของทุกทคน รัฐบาลพร้อมจะให้การสนับสนุนและผลักดันไปเป็นวาระสำคัญในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เพื่อจะได้ดำเนินการเสนอและผลักดันกระบวนการทำงานของที่ประชุมไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เกิดประโยชน์และความสุขทั้งต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่และประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เร่งรัดดำเนินการเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามขั้นตอนต่อไป และนายกรัฐมนตรีได้ฝากขอบคุณทุกคนที่ได้ร่วมมาทำความฝันให้เป็นความจริง และร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ที่ดีงามของทั้งสองประเทศและประชาชนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป