ฝ่ายค้านที่ไม่ได้เรื่อง-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

อย่าเข้าใจผิด….

เห็นฝ่ายค้านเคาะกะลา วันที่ ๑๗-๑๘ กุมภาพันธ์นี้ เปิดซักฟอกรัฐบาล คุยว่าจะชี้ให้เห็น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไปต่อไม่ไหวแล้ว

สัปดาห์น้าจะเป็นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๒ ครับ

แน่ใจหรือว่าทำให้รัฐบาลพังพาบได้

เพราะฝ่ายค้านชุดเดียวกันนี้ อภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๑ คือซักฟอกกันเสร็จให้ไปนอนคิด ๑ คืน วันรุ่งขึ้นก็โหวตมาแล้ว ๓ รอบ

ทั้ง ๓ รอบ ล้มรัฐบาลไม่ได้

ไม่มียุบสภา-ลาออก

แถมยังเกิดปรากฏการณ์แปลกๆ บางอย่าง ซึ่งน้อยครั้งที่จะเกิดขึ้น

คือ…ฝ่ายค้านเสียงหาย ฝ่ายรัฐบาลได้ ส.ส.เพิ่ม

อภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ พรรคก้าวไกลหนึ่งในแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน สูญเสีย ส.ส.ไป ๑๑ คน

ทั้ง ๑๑ คน เข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่  ๑๖-๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ มี ส.ส.ก้าวไกล ย้ายไปร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทยอีก ๔ คน

และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่  ๓๑ สิงหาคม – ๓ กันยายน มี ส.ส.ก้าวไกล ร่วมงดออกเสียง ๑ คน และ ส.ส.เพื่อไทย ๖ คน

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ซักฟอก ๓ ครั้งฝ่ายค้านขาดทุน

แต่รัฐบาลได้อยู่ต่อจนถึงวันนี้

ฉะนั้น การซักฟอกแบบไม่ลงมติในวันที่ ๑๗-๑๘  กุมภาพันธ์ นี้ ยากมากที่ฝ่ายค้านจะทำให้ นายกฯ ยุบสภา-ลาออกได้

มี ๔ เรื่องหลักที่ฝ่ายค้านจะนำมาอภิปราย

๑.เศรษฐกิจที่เกี่ยวกับปากท้องประชาชน

๒.โรคระบาด ทั้งเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โรคลัมปีสกินในโคกระบือ

๓.การทุจริตคอร์รัปชัน

และ ๔.การบริหารราชการแผ่นดิน และการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ล้มเหลวทุกเรื่อง

ผลที่จะออกมาคงไม่ต่างจากฉายหนังเก่า เพราะเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านเคยนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติแล้วทั้งสิ้น

ไม่มีอะไรใหม่

และดูเหมือน “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็รู้ว่า ทำอะไรรัฐบาลไม่ได้

เมื่อเปิดไทม์ไลน์การเมืองของพรรคเพื่อไทย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” กำหนดเอาไว้น่าสนใจทีเดียว

“คาดว่าเดือนพฤษภาคมนี้ จะถึงในช่วงจุดอิ่มตัวของรัฐบาลนี้

หมายถึงเมื่อกฎหมายลูกแล้วเสร็จ ก่อนช่วงที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๑ เป็นอีกช่วงที่ต้องจับตาดู เพราะอะไรต่างๆ จะมีความชัดเจนขึ้น

เนื่องจากหากยื่นญัตติดังกล่าวไปแล้ว นายกฯ ไม่สามารถยุบสภาฯ ได้ นายกฯ ต้องลาออกอย่างเดียว”

ก็แสดงว่าเพื่อไทยยังให้รัฐบาลอยู่ถึงเดือนพฤษภาคมเป็นอย่างต่ำ

สมัยประชุมนี้สิ้นสุดลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

ฝ่ายค้านต้องรอสมัยประชุมถัดไป เพื่อเปิดซักฟอกรัฐบาลแบบลงมติ

ซึ่งต้องเกิดขึ้นหลังเดือนพฤษภาคม

ก็หมายความว่าเพื่อไทยจะให้รัฐบาลอยู่ต่อตั้งแต่กลางปีจนถึงปลายปีนี้

เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นปลายสมัยประชุม

ฉะนั้นที่ทำท่าทีขึงขัง จะให้ยุบสภา-ลาออกในวันสองวันนี้ แค่แสดงละครครับ เพราะฝ่ายค้านเองก็รู้ว่า ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะล้มรัฐบาล

ทำได้เพียง หลบใต้ถุนสภาเพื่อให้สภาล่ม แล้วจินตนาการต่อว่า นายกฯ ต้องยุบสภา-ลาออกเข้าสักวัน

ระวังกระแสตีกลับ

มี ส.ส.ไว้ทำไม

เพราะถ้ามีแล้วเอาแต่ล่มสภา ถ่วงงานนิติบัญญัติ  แล้วจะมีประโยชน์อะไร

เมื่อไหร่ที่ประชาชนตั้งคำถามนี้หนาหูขึ้นก็ระวัง!

ในแง่การตรวจสอบรัฐบาลเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน แต่ตลอด ๓ ปีที่ผ่านมา แทบจะเรียกได้ว่าล้มเหลว เพราะไม่สามารถขุดคุ้ยนำไปสู่การลงโทษรัฐบาลได้เลย

ลองเปรียบเทียบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีประชาธิปัตย์นำทีมเป็นฝ่ายค้าน

ติดคุกกันระนาว!

ผลพวงทำให้คนเป็นนายกฯ ต้องหนีคดีไปต่างประเทศ

อีกมุมหนึ่งการมีฝ่ายค้านที่ไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลเสียต่อระบอบรัฐสภา รวมถึงประชาธิปไตยของประเทศเช่นกัน

เพราะหากมีรัฐบาลฉ้อฉล คอร์รัปชัน แต่ฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากเอาแต่ขอร้องให้นายกฯ ยุบสภา-ลาออก เพื่อให้ตัวเองได้เป็นรัฐบาลบ้าง

แล้วเราจะมีฝ่ายค้านแบบนี้ไปเพื่ออะไร

เพื่อไทยต้องกลับมาคิดอย่างจริงจังว่า ทำงานการเมืองเพื่อใครกันแน่

ถ้าเห็นแก่ประชาชน ต้องกระชากหน้ากากรัฐบาลคอร์รัปชันให้ได้ เพราะทุกครั้งที่อภิปรายไม่ไว้วางใจมีการพูดเรื่องรัฐบาลคอร์รัปชันทุกครั้ง

แต่ก็ล้มเหลวในข้อมูลที่นำมาอภิปรายทุกครั้ง

ถ้าเพื่อไทยต้องการการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น อย่างแรกที่ต้องทำคือ อยู่ให้ห่าง ทักษิณ และคนในตระกูลชินวัตร

แต่เปล่าเลยครับ

วันสองวันมานี้ เพื่อไทย ยังเอา “ทักษิณ” มาหากิน

คิดอะไรไม่ออกก็ชู “ทักษิณ”

ทั้งๆ ที่ “ทักษิณ” คือหนึ่งในต้นเหตุความขัดแย้งของคนในประเทศ

วานซืน (๑๐ กุมภาพันธ์) เฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย  โพสต์รูปภาพ “ทักษิณ” ครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นั่งพื้นร่วมกินข้าวกับกลุ่มผู้ชุมนุม “สมัชชาคนจน” ที่ปักหลักชุมนุมเรียกร้องกรณีเขื่อนปากมูล บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี ๒๕๔๔

เจตนาคือบลัฟ “ลุงตู่”

#ณวันนั้น ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เตรียมสำรับอาหารมารับประทานร่วมกัน โดยฝั่งนายกฯ ทักษิณ ได้เตรียมข้าวเหนียว ไก่ย่าง และส้มตำ  ขณะที่ฝั่งสมัชชาคนจน ได้ทำอาหารรอต้อนรับ ทั้งแจ่วบอง  ปลาป่น แกงอ่อม ปลาทอด ปลาร้าสับ และไข่พะโล้

การตั้งวงรับประทานอาหารเป็นไปอย่างเรียบง่าย ทั้งสองฝ่ายต่างพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย โดยหนังสือพิมพ์มติชนรายงานเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “บรรยากาศเป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ก็ดูอบอุ่นไม่เบา”…

สวยหรู…

ถามหน่อย จะเขียนไว้หลอกใคร?

วันนี้ปัญหาเขื่อนปากมูลจบเพราะ “ทักษิณ” แก้ได้แล้วอย่างนั้นหรือ

ทำไมไม่เอาภาพ สมัคร สุนทรเวช ขณะเป็นผู้ว่าฯ กทม. สั่งเจ้าหน้าที่เทศกิจพันนาย รื้อย้ายเพิงพักและข้าวของของผู้ชุมนุมปากมูล เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๖ ยุครัฐบาลทักษิณด้วย

และสมัครเองก็มาเป็นนายกฯ นอมินีให้ทักษิณในภายหลัง

ครับ…ลองดูในมุมกลับบ้างนะครับ

รัฐบาลลุงตู่ไม่ใช่รัฐบาลที่เก่งอะไรสักเท่าไหร่

เพียงแต่เรามีฝ่ายค้านที่ไม่ได้เรื่องต่างหาก

และน่าจะเป็นฝ่ายค้านชุดแรกในประวัติศาสตร์ ที่เอาแต่อ้อนวอนให้นายกฯ ยุบสภา-ลาออก แทบทุกวันมาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

ภาพ:เพจเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย

บทความจากไทยโพสต์ www.thaipost.net



Written By
More from pp
มท.1 ห่วงใยพี่น้องประชาชน กำชับ ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมป้องกันอันตรายจากอัคคีภัย ช่วงเทศกาลตรุษจีน 2567
1 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ในช่วงเทศกาลตรุษจีน...
Read More
0 replies on “ฝ่ายค้านที่ไม่ได้เรื่อง-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i < len; i++ ) { var circle = indicator[i].querySelector('.progress-ring__circle'); var radius = circle.r.baseVal.value; var circumference = radius * 2 * Math.PI; circle.style.strokeDasharray = `${circumference} ${circumference}`; circle.style.strokeDashoffset = `${circumference}`; function setProgress(percent) { const offset = circumference - percent / 100 * circumference; circle.style.strokeDashoffset = offset; } var dataCircle = indicator[i].getAttribute('data-circle'); setProgress(dataCircle); } }; ratingTotalIndicator(); var slideDock = function() { var slide_dock = document.querySelector('.slide-dock'); if (typeof slide_dock === 'undefined' || slide_dock === null) { return; } function isVisible (elem) { var { top, bottom } = elem.getBoundingClientRect(); var vHeight = (window.innerHeight || document.documentElement.clientHeight); return ( (top > 0 || bottom > 0) && top < vHeight ); } viewport = document.querySelector('#footer'); window.addEventListener('scroll', function() { if ( isVisible(viewport) ) { slide_dock.classList.add('slide-dock-on'); } else { slide_dock.classList.remove('slide-dock-on'); } }, false); var close = document.querySelector('.close-dock'); close.addEventListener('click', function(e) { e.preventDefault(); slide_dock.classList.add('slide-dock-off'); }); }; slideDock();