วันนี้ไม่คุย……
อ่านรื่องที่ “เจ้าหญิง ราพันเซล” นำจากห้องสมุดฟลิ้นท์ ปี 2018 มาโพสต์ เรื่อง #การสอนลูกแบบยิวให้เป็นเศรษฐี
ต้องอ่าน เพื่ออยู่ในรอยต่อศตวรรษอย่างผู้ชนะ
#การสอนลูกแบบยิวให้เป็นเศรษฐี
เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงของหญิงชาวจีนเชื้อสายยิวท่านหนึ่ง
ในปี 1992 ตอนที่ฉันตัดสินใจย้ายจากเมืองจีนไปปักฐานใหม่ยังอิสราเอล ลูกชายคนโตอายุ 13 ลูกชายคนที่สองอายุ 12 ส่วนลูกสาว คนเล็ก 10 ขวบ
ฉันให้ลูกๆ อยู่เมืองจีนไปก่อน ที่ตัดสินใจย้ายไปอิสราเอลตอนนั้น ก็เพราะทนอยู่สภาพเดิมๆ ไม่ได้แล้ว
พ่อของฉันเป็นชาวยิวขนานแท้…….ย้ายหนีสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอยู่เมืองจีน แต่งงานกับแม่ฉันซึ่งเป็นหญิงจีน
หลังฉันเกิดไม่นาน แม่ก็ทิ้งพวกเราสองพ่อลูกไป พ่อฉันเสียตอนฉันอายุ 12 ฉันกลายเป็นเด็กกำพร้าเต็มตัว
พอโตขึ้น ฉันได้ทำงานในโรงงานถลุงเหล็ก หลังแต่งงานก็มีลูก 3 คน แต่แล้ว สามีก็ทิ้งพวกเราไป
มันเป็นความทรงจำที่เต็มไปด้วยความขมขื่น พอดีเป็นช่วงเวลาที่จีนกับอิสราเอลเปิดสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศขึ้นมา
ด้วยจิตใจที่อยากหนีให้พ้นๆ จากดินแดนแห่งความทุกข์ใจ ฉันเลยกลายเป็นพวกอพยพกลุ่มแรกที่ขอย้ายจากจีนไปอยู่อิสราเอล
ตอนถึงอิสราเอลใหม่ๆ ความเป็นอยู่ยากลำบากกว่าอยู่ในเมืองจีนเสียอีก ฉันเข้าใจภาษาอิสราเอลเพียงเล็กน้อย ฉันไม่รู้จักใคร บ้านเมืองก็ไม่คุ้นเคย เลยไม่ทราบว่าจะเริ่มทำมาหากินอะไร เงินที่พกติดตัวไปจากเซี่ยงไฮ้คงพอยาไส้ได้สักสามเดือน
แต่ฉันมุ่งมั่นว่าต้องหาวิธีอยู่ให้รอด และจะต้องรับลูกๆ มาอยู่กับฉันให้ได้ ฉันเริ่มเรียนภาษาเพื่อสื่อสารให้รู้เรื่อง
แล้วฉันก็ตัดสินใจตั้งแผงริมถนนขายเปาะเปี๊ยะทอดยึดเป็นอาชีพไว้ก่อน วันๆ จะมีกำไรสิบกว่าซิเกิล (หนึ่งซิเกิลเท่ากับเก้าบาทไทยโดยประมาณ)
พอการค้าเล็กๆ น้อยๆ ของฉันพอจะพึ่งพาได้ เดือนพฤษภาคมปี 1993 ฉันรับลูกทั้งสามคนมาอยู่ด้วยกันที่อิสราเอล
ตอนอยู่ที่เมืองจีน แม้จะลำบากแค่ไหนก็ตาม แต่ฉันไม่เคยให้ลูกๆต้องลำบากด้วย พอมาอยู่ที่นี่ ฉันก็ยังคงเลี้ยงลูกในแบบเดิมๆ ซึ่งมันก็คงไม่ต่างจากคนจีนทั่วไป
พอวันหลังๆ จากลูกๆ ไปโรงเรียน ฉันก็จะขายเปาะเปี๊ยะทอดของฉันไป พอตกบ่ายเลิกเรียน พวกเขาก็จะมาหาฉันที่แผง ฉันก็จะเก็บร้านเลิกขาย แล้วเริ่มหุงหาอาหารมื้อเย็นให้ลูกๆ ได้กินกัน
มีอยู่วันหนึ่ง ตอนที่กำลังเตรียมปรุงบะหมี่ให้ลูกๆ เพื่อนบ้านคนหนึ่งเดินมาหาพวกเรา แล้วก็ชี้หน้าลูกชายคนโตพร้อมตำหนิว่า
“แกเป็นเด็กโตแล้ว ทำไมไม่ช่วยแม่ทำงานทำการบ้าง อย่าทำตัวเหมือนขยะไร้ค่า” แล้วเธอก็หันมาต่อว่าฉัน
“อย่าเอารูปแบบผิดๆ ที่พกพาจากเมืองจีนมาเผยแพร่ที่นี่ อย่าคิดว่าสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่เป็นความรักที่ถูกต้อง”
คำพูดของเธอทำพวกเราตกใจมาก เป็นการทำร้ายจิตใจที่ดูโหดร้าย พวกเรารู้สึกแย่เอามากๆ
เมื่อกลับถึงบ้าน ฉันได้แต่ปลอบลูกชายคนโตว่า
“ไม่เป็นไรนะลูก แม่ทนได้ แม่รับไหว แม่มีความสุขที่ได้ดูแลลูกๆ ทุกคน ขอให้ตั้งใจเรียนหนังสือให้ดีที่สุดก็พอแล้ว”
“แต่ว่า….” ลูกชายคนโตพูดอย่างครุ่นคิด
“คุณน้าคนนั้นอาจจะพูดถูก ผมคิดว่า ผมน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระให้แม่ได้บ้าง”
วันถัดมาเป็นวันที่ชาวบ้านไปโบสถ์กัน โรงเรียนเลิกเรียนตอนเที่ยง พอพวกเขามาถึงแผงขายของ ลูกชายคนโตมายืนข้างฉัน แล้วหยิบเอาแผ่นแป้งห่อเปาะเปี๊ยะใส่ไส้แล้วม้วนให้เรียบร้อย นำลงทอดในกระทะจนสุก แม้จะยังดูไม่คล่องแคล่วนัก แต่ความชำนาญก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในชิ้นต่อๆ ไป
การเปลี่ยนแปลงของลูกชายคนโตเป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยคาดคิดมาก่อน นอกจากจะช่วยงานที่แผงขายของแล้ว เขายังเสนอว่าให้พวกเขาเอาเปาะเปี๊ยะทอดไปขายให้เพื่อนๆที่โรงเรียน พวกเขาเอาไปคนละ 20 ชิ้น พอเลิกเรียนกลับมา ทุกคนเอาเงิน 10 ซิเกิลมาให้ฉัน
บอกตรงๆ ฉันรู้สึกสะเทือนใจมาก ปล่อยให้ลูกๆ ที่อายุยังน้อยต้องมาช่วยแบกภาระเรื่องทำมาหากิน
แต่ว่าการแสดงออกของพวกเขาไม่ได้บ่งบอกถึงความน้อยเนื้อต่ำใจเลย พวกเขากลับบอกว่ารู้สึกมีความสุขและความภูมิใจกับการรู้จักหาเงินหาทองได้ตั้งแต่ตอนนี้
เพื่อนบ้านมักจะแวะมาคุยกับฉันบ่อยๆ บอกเล่าถึงวิธีที่ #ชาวยิวเลี้ยงลูกหลานกันอย่างไร ต้องให้การศึกษาแก่พวกเขาอย่างไร
ชาวยิวจะคิดว่า การหาเงินไม่จำเป็นต้องรอตอนอายุโตแล้ว
มันช่างแตกต่างจากคนจีนที่มักคิดว่า “ตอนเป็นเด็กมีหน้าที่ศึกษาหาความรู้อย่างเดียว”
แต่ชาวยิวคิดว่า “ตอนเป็นเด็กก็ต้องเริ่มศึกษาวิธีหาเงินหาทองกันแล้ว”
เพื่อนบ้านบอกฉันว่า ในครอบครัวชาวยิว ไม่มีอาหารฟรี ไม่มีบริการฟรี ทุกอย่างต้องตีค่าเป็นเงิน เด็กทุกคนต้องศึกษาวิธีการหาเงิน เพื่อจะให้ได้มาในสิ่งที่ตนอยากได้
ฉันรู้สึกว่าวิธีการนี้ดูโหดร้ายเกินไป ยอมรับไม่ค่อยได้ แต่ว่า จากสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวพวกเรา เด็กๆถูกซึมซาบให้ยอมรับความคิดแบบนี้ได้ง่ายกว่าฉันมากมาย
ในที่สุด ฉันตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่ฉันเคยดูแลพวกเขา ลองให้พวกเขาปรับเปลี่ยนไปในลักษณะชาวยิวเต็มตัว
เราเริ่มจากทุกอย่างในบ้านก่อน ของทุกอย่างในบ้านตีเป็นมูลค่าหมด รวมค่าอาหารและบริการต่างๆ ที่แม่คนนี้ทำให้ลูกๆ ทุกคนต้องจ่ายค่าอาหาร 100 อาโกรอทต่อมื้อ (100 อาโกรอทเท่ากับ 1 ซิเกิล) ซักเสื้อผ้าครั้งละ 50 อาโกรอท
….แต่ฉันก็หาโอกาสให้พวกเขามีทางทำมาหากิน ฉันขายเปาะเปี๊ยะทอดให้พวกเขาในราคาขายส่ง ชิ้นละ 30 อาโกรอท แล้วให้พวกเขาไปตั้งราคาขายกันเอง กำไรเป็นของพวกเขา
วันแรกที่กลับจากโรงเรียน ถึงได้รู้ว่าทั้งสามคนล้วนมีวิธีการขายที่ไม่เหมือนกันเลย
ลูกสาวคนเล็กซื่อหน่อย ขายให้เพื่อนๆ ในราคา 50 อาโกรอทต่อชิ้น ได้กำไรมาทั้งสิ้น 400 อาโกรอท
คนที่สองใช้วิธีขายส่ง เขาขายทั้งหมดให้โรงอาหารของโรงเรียน ราคา 40 อาโกรอทต่อชิ้น ได้กำไรมาแค่ 200 อาโกรอท แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ โรงอาหารสั่งให้เขาไปส่งทุกวัน วันละ 100 ชิ้น
ส่วนลูกคนโตคิดนอกกรอบกว่าคนอื่น เขาจัดรายการสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “มารู้จักประเทศจีนกันหน่อย” เขาเป็นผู้ดำเนินรายการเอง
จุดดึงดูดอีกอย่างของงานก็คือ ทุกๆคนที่เข้าร่วมจะได้ลิ้มรสเปาะเปี๊ยะทอดแบบจีน โดยเขาเก็บค่าผ่านประตูคนละ 10 อาโกรอท เปาะเปี๊ยะทอดทุกชิ้นถูกหั่นเป็นสิบชิ้นเล็ก มีผู้เข้าร่วม 200 คนเต็มความจุ เก็บค่าผ่านประตูได้ 2000 อาโกรอท
หลังหักค่าสถานที่ให้โรงเรียนไป 500 อาโกรอท เขายังเหลือกำไรสุทธิ 1500 อาโกรอท
นอกจากวิธีการของลูกสาวที่อยู่ในความคาดคะเนของฉันแล้ว ต้องยอมรับว่าลีลาของลูกชายทั้งสองอยู่เหนือจินตนาการของฉันจริงๆ
ฉันไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า ในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น พวกเขาเปลี่ยนแปลงจากเด็กที่ทำอะไรไม่เป็น กลายเป็นเด็กที่มีความคิดในลักษณะพ่อค้าเต็มตัว รู้คุณค่าของเงิน และมุ่งมั่นจะหาเงินให้มากยิ่งขึ้นในรูปแบบที่ถูกต้อง
แต่การเรียนของพวกเขาก็ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนเลย
ลูกชายคนโตได้มีโอกาสเรียนเกี่ยวกับกฏหมายของพวกผู้อพยพเข้าเมือง เขาบอกฉันว่า ครอบครัวที่อพยพเข้ามาในอิสราเอลอย่างบ้านเรา มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล
ฉันไม่แน่ใจว่ามันจะเท็จหรือมันจะจริง แต่ก็ลองไปติดต่อทางการดู สุดท้ายก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นเงิน 6000 ซิเกิล
นี่เป็นเงินจำนวนไม่น้อยสำหรับครอบครัวเรา ลูกชายคนโตบอกฉันว่า เงินจำนวนนี้ได้มาเพราะคำแนะนำของเขาแท้ๆ เขาควรได้รับส่วนแบ่ง 10%
ฉันตรึกตรองอยู่นาน สุดท้ายก็ตัดสินใจแบ่งให้เขาไป 600 ซิเกิล หลังได้รับเงิน เขาซื้อของขวัญชิ้นงามให้ฉันและน้องๆ คนละชิ้น เงินที่เหลือ เขาบอกว่าจะเอาไปต่อทุนเพื่อหาเงินให้ได้มากยิ่งๆ ขึ้น
เขาใช้เงินจำนวนนั้นไปสั่งซื้อเครื่องเขียนจากเมืองจีนส่งผ่านมาให้ทางไปรษณีย์ ราคาเครื่องเขียนที่จีนถูกกว่าของอิสราเอลมากมาย
เขานำมาขายให้เพื่อนๆ ในโรงเรียน พอได้กำไร เขาก็ยังเดินหน้าค้าขายต่อไป หนึ่งปีผ่านไป ตัวเลขบัญชีในธนาคารของเขาเพิ่มเป็น 2000 ซิเกิล
ส่วนลูกชายคนที่สอง : มีหัวการค้าแบบชาวยิวไม่แพ้พี่เขา ชาวยิวทั้งหลายมีหลักการง่ายๆว่า “ค้าขายอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องลงทุน จะมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ทำอะไรก็ได้ที่คนอื่นยังไม่ได้เริ่มทำ จะมีโอกาสที่ดีที่สุด”
ในขณะที่ลูกคนโตกำลังทำเงินกับเครื่องเขียนจากจีน
ลูกคนที่สองก็ทำเงินของเขาไปอย่างเงียบๆ เขาใช้หัวคิดจากมันสมองของเขาเขียนบทความต่างๆ เกี่ยวกับเมืองเซี่ยงไฮ้จากมุมมองของเด็กอายุ 14 คนหนึ่ง เขามีคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ เขียนอาทิตย์ละ 2 บท บทละประมาณ 1000 ตัวอักษร รายได้ตกเดือนละ 8000 อาโกรอท
ส่วนลูกสาวคนเล็กนั้น จะเก็บตัวหน่อยตามภาษาเด็กผู้หญิง ไม่ได้แสดงบทบาทเรื่องหาเงินหาทองมากมายนัก แต่จากตัวเธอ ฉันสามารถรับรู้ถึงกลิ่นไอของชาวยิวที่ชอบมองชีวิตความเป็นอยู่แบบสวยงาม
เธอหัดชงชาและทำขนม ทุกๆ เย็น เธอจะเตรียมชาไว้กาหนึ่ง แล้วก็มีขนมจากฝีมือเธอเองไม่ซ้ำแบบ พวกเราจะได้นั่งล้อมวง ดื่มชา ทานขนมและพูดคุยกัน ขนมของเธอก็มักจะมีกลิ่นไอจากจีนปะปนอยู่ด้วย ทุกคนที่บ้านชอบกันทั้งนั้น
แน่นอน มันไม่ใช่ของฟรี พี่ๆ ต้องจ่ายค่าขนมให้เธอ หักค่าวัตถุดิบแล้ว น้องสาวสุดท้องก็มีรายได้ที่น่าพอใจ
ตอนนี้บ้านเราไม่จนแล้ว เรามีเงินเก็บพอประมาณ เลยตกลงกันว่า จะเปิดร้านอาหารจีนขึ้นมาร้านหนึ่ง ฉันถือหุ้น 40% ลูกคนโต 30% คนรอง 20% และคนเล็ก 10%
ร้านของเราประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นที่นิยมของเหล่านักชิมทั้งหลาย ผู้หญิงจากประเทศจีนคนนี้ก็เลยกลายเป็นคนที่ถูกสังคมจับตามองโดยไม่รู้ตัว
จนกระทั่งฉันได้มีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรี “ยิตซัค ราบิน” ของอิสราเอล ฉันกลายเป็นคนโด่งดังในชั่วข้ามคืน
ตอนนี้ฉันสามารถใช้ภาษาอิสราเอลได้อย่างคล่องแคล่ว บวกกับฉันมีภาษาจีนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทำให้ฉันถูกทาบทามโดยบริษัทค้าเพชรของรัฐบาลอิสราเอล ให้ไปเป็นตัวแทนคนแรกของบริษัทประจำประเทศจีน
พอฉันย้ายกลับไปอยู่ประเทศจีนอีกครั้ง ลูกๆ ทั้งสามก็ตามฉันไปด้วย พอเอาลูกๆ ไปเปรียบเทียบกับเด็กทั่วๆ ไปในจีน ฉันรู้สึกว่า ลูกฉันจะดูโดดเด่นกว่าพวกเขาพอสมควร
ก่อนจะกลับไปที่จีนเที่ยวนี้ พวกเขาทั้งสามไปกว้านซื้อสิ่งของต่างๆ จากอิสราเอลไว้มากมาย พอพวกเขาเข้าเรียนได้ไม่นาน ครูของโรงเรียนแวะมาคุยกับฉัน บอกว่าเด็กๆ นำเอาของมากมายจากอิสราเอลไปขายที่โรงเรียน มีตั้งแต่เครื่องประดับ เสื้อผ้า ของเล่น หรือแม้กระทั่งปลอกกระสุนเปล่าก็ไม่เว้น
ครูอยากให้ฉันช่วยดูแลเด็กๆ ให้อยู่ในกรอบหน่อย ฉันบอกครูว่า ฉันไม่สามารถห้ามการกระทำของพวกเขา นี่เป็นวิธีหาเงินเพื่อจ่ายค่าเล่าเรียนของพวกเขาเอง เพราะฉันไม่ได้รับผิดชอบค่าเล่าเรียนของเขานานมาแล้ว
ครูทั้งตกใจและแปลกใจ เขาไม่เข้าใจว่าคนมีเงินเดือนสูงในบริษัทข้ามชาติอย่างฉัน จะไม่รับผิดชอบค่าเล่าเรียนของลูกๆ
ฉันเชิญครูทานขนมที่ลูกสาวคนเล็กทำไว้ขายในบ้าน ชิ้นละ 2 หยวน ฉันบอกครูด้วยรอยยิ้มว่า
“นี่คือผลพลอยได้ของการได้อยู่อิสราเอลในหลายปีนี้ สอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการดำเนินชีวิตของชาวยิว และฉันก็เชื่อว่าพวกเขาทุกคนจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพแน่นอน…….”
ในที่สุด ลูกคนโตตัดสินใจเข้าเรียนวิทยาลัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เขาตั้งใจจะไปเปิดบริษัทบริการท่องเที่ยวที่อิสราเอล เน้นตลาดการเที่ยวประเทศจีน
ลูกชายคนที่สองเข้าเรียนวิทยาลัยเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศ เขาตั้งใจจะเป็นคอลัมน์นิสต์ เขาชอบมีรายได้โดยไม่ต้องลงทุนจากเงินตัวเขาเอง
ส่วนลูกสาวคนเล็กอยากเรียนทำครัวเกี่ยวกับอาหารจีน เพื่อเป็นเชฟระดับแนวหน้าให้ได้ โดยเฉพาะเป็นมือโปรด้านขนม ตั้งใจจะกลับไปเปิดร้านขนมที่อร่อยที่สุดในอิสราเอล
กลับมาประเทศจีนเที่ยวนี้ ฉันรู้สึกว่าพ่อแม่ชาวจีนทั้งหลายมีจิตใจโลเลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรหลานของตน พวกเขาล้วนหวังอยากเห็นลูกร่ำรวยเป็นเศรษฐี
แต่กลับไม่กล้าบอกลูกตรงๆ กลัวลูกจะเป็นพวกบูชาเงินตั้งแต่เด็ก
ลองศึกษาการเลี้ยงลูกแบบยิว แล้วพูดกับลูกตรงๆว่า “ฉันอยากมีลูกเป็นมหาเศรษฐี” คงไม่เสียหายกระมัง
“ขจรศักดิ์” แปลและเรียบเรียง
www.facebook.com/Flintlibrary
ครับ…ของเราก็สอนให้หาเงิน แต่ขายของรวยช้า อาม๊าสอนให้ขายชาติกันเลย.
อุ๊ย ตบท้ายเจ็บมาก “…ของเราก็สอนให้หาเงิน แต่ขายของรวยช้า อาม๊าสอนให้ขายชาติกันเลย.”