ผักกาดหอม
ก็…ธรรมดานะ
เวลานี้เพื่อไทยเอาแต่ตะโกนโหวกเหวก ยุบสภาซะ
ไม่รู้ว่า “สุรชาติ เทียนทอง” ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งไปหยกๆ กำลังตัดชุด เตรียมแต่งตัวเข้าสภา จะเอากับพรรคพวกหรือเปล่า
เพื่อไทยจำได้หรือเปล่า ช่วงที่มวลมหาประชาชนเรือนล้าน ลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ตั้งหน้าตั้งตาจะเข็น พ.ร.บ.นิรโทษโกงให้พี่ชาย
วันนั้น “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ตอบสนองประชาชนในทันทีหรือเปล่า
อันนั้นประชาชนเรือนล้านเป็นฝ่ายเรียกร้องนะครับ
ไม่ใช่พรรคการเมืองกระหายอำนาจ
แม้วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ ยิ่งลักษณ์ จะประกาศยุบสภา แต่ก็เป็นที่รับรู้ว่า นั่นคือเกมในการรักษาอำนาจต่อไป
ในวันที่ “ยิ่งลักษณ์” ยุบสภา คือวันที่ “กำนันสุเทพ” ถือฤกษ์ ๙ ธันวาคม เวลา ๐๙.๓๙ น. นัดเคลื่อนทัพใหญ่ทั่วกรุงไปบุกยึดทำเนียบรัฐบาล
แต่ “ยิ่งลักษณ์” ชิงยุบสภา ในเวลา ๐๘.๔๐ น.
การยุบสภาของ “ยิ่งลักษณ์” มองเผินๆ ควรยกย่องในสปิริตทางการเมือง แต่เปล่าเลย สาเหตุหลักไม่ได้ชิงยุบสภา เพื่อยุติการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส.
แต่เป็นการยุบสภา เพื่อกุมอำนาจต่อ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
ในวันที่ “ยิ่งลักษณ์” ยุบสภา ให้เหตุผลว่า
๑.การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังที่ปรากฏอยู่ในหลายประเทศที่ใช้ระบอบนี้ ซึ่งประเทศไทยได้ยึดถือธรรมเนียมการปฏิบัติดังกล่าวมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ บัญญัติรองรับการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ และได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วหลายครั้งเช่น เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ พ.ศ.๒๕๔๓ พ.ศ.๒๕๔๙ และ พ.ศ.๒๕๕๔
๒.ตามที่รัฐบาลเข้ารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน โดยมีภารกิจสำคัญในการแก้ไขวิกฤตการณ์ภายในประเทศหลายประการ ทั้งในเรื่องของมหาอุทกภัย ผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน รวมทั้งการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศ การพยายามสร้างความปรองดอง ตลอดจนฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐบาลดำเนินการอย่างสุดความสามารถ แก้ปัญหาจนลุล่วงด้วยดี
อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้รัฐบาลพยายามที่จะสร้างความเข้าใจอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปิดเวทีปฏิรูปการเมือง หรือการทำประชามติ ก็ยังมีผู้ที่เห็นต่างและคัดค้าน ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะรับฟัง หากการคัดค้านนั้นเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
แต่ปรากฏว่ามีผู้คัดค้านจำนวนหนึ่งรวมทั้งสมาชิกพรรคฝ่ายค้านกลับเลือกใช้วิถีทางการชุมนุมต่อต้านนอกเวทีรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลได้บริหารการชุมนุมอย่างละมุนละม่อมและประนีประนอม อันเป็นการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น และเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศและคนไทยต้องมีการสูญเสียอีก ด้วยประเทศไทยเจ็บปวดมามากพอแล้ว แต่สถานการณ์ในวันนี้รัฐบาลคำนึงถึงแนวคิดที่แตกต่าง และต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนจำนวนมาก
เมื่อถึงจุดที่ความคิดขัดแย้งอาจนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติและมีความรุนแรงจนอาจเกิดความสูญเสียขึ้น รัฐบาลจึงเห็นว่าการคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นวิถีทางที่เป็นไปตามหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าคนส่วนใหญ่ต้องการแนวทางใด จะให้ใครมาบริหารประเทศตามแนวทางนั้น รัฐบาลใคร่ขอเชิญชวนทุกกลุ่มทุกพรรคการเมืองที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ใช้เวทีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นที่นำเสนอทางเลือกต่างๆ ให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
๓.เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐมนตรีทั้งคณะย่อมพ้นจากตำแหน่งไปด้วยตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘๐ (๒) แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๑ ซึ่งกำหนดไว้ว่าคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในมาตราดังกล่าว
๔.ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งจะได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงการกำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ รัฐบาลขอให้ประชาชนทำหน้าที่และใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยความพร้อมเพรียง ใส่ใจ และรอบคอบ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมที่สุด จะเป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองโดยสันติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
หลัง “ยิ่งลักษณ์” ยุบสภา ได้ประกาศวันเลือกตั้งใหม่เป็นวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
เงื่อนเวลานี้ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ดังเช่นเหตุผลในข้อ ๓ ที่ “ยิ่งลักษณ์” นำมากล่าวอ้าง
เงื่อนเวลานี้สัมพันธ์กับความเป็นความตายของพรรคเพื่อไทย และตัว “ยิ่งลักษณ์” เอง
นั่นคือแผนที่วางไว้ เพื่อเผชิญกับคดีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยมิชอบ
“เพื่อไทย และ ยิ่งลักษณ์” รู้อยู่แล้วว่า คดีนี้รอดยาก!
เพราะคดีนี้มีแววเช่นนั้นมาตั้งแต่ต้น
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ใช้อำนาจโดยมิชอบ
ในทางการเมืองการยุบสภาคือการลดอุณหภูมิทางการเมือง
แต่การชิงยุบสภาในครั้งนั้น เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนที่ ศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินคดีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี”
ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๗
หมายความว่าเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ครม.ยิ่งลักษณ์ยังมีสถานะ ครม.รักษาการ ย่อมมีความได้เปรียบในการเลือกตั้ง
แต่ผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดคิดเอาไว้
นอกจากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้ว ศาลปกครองสูงสุดยังชี้ว่า “ยิ่งลักษณ์” ออกคำสั่ง โยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมา ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ให้ “ยิ่งลักษณ์” สิ้นสภาพนายกฯ เป็นความผิดเฉพาะตัว
และรายชื่อ ครม. ๙ คนที่ต้องสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีไปด้วย คือ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล, เฉลิม อยู่บำรุง, กิตติรัตน์ ณ ระนอง, ประชา, ยุทธศักดิ์, สันติ, อนุดิษฐ์, ศิริวัฒน์ และ ปลอดประสพ สุรัสวดี
ครับ…เมื่อวันนี้เพื่อไทย เรียกร้องให้ “ลุงตู่” ยุบสภา เพื่อไทยก็ต้องทบทวนเช่นกัน
การยุบสภาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ถ้าเห็นว่าไปต่อไม่ได้ควรยุบสภา เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินอีกครั้งว่าจะเลือกใครเป็นรัฐบาล
แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำมากกว่านั้น
พยายามนิรโทษกรรมให้คนโกง ต่ออายุระบอบทักษิณ
การยุบสภาของ “ยิ่งลักษณ์” ไม่มีเจตนาให้ประชาชนได้ตัดสินใจใหม่ เพราะขณะนั้นเพื่อไทยมั่นใจว่า ตัวเองกำหนดผลการเลือกตั้งได้ โดยมี “ทักษิณ” บงการอยู่เบื้องหลัง
และครั้งนี้ เพื่อไทย มั่นใจว่าสามารถชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้อีกครั้ง
ชัยชนะการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ เป็นการสร้างความฮึกเหิม และเพื่อไทยอยากตีเหล็กตอนร้อน
อีกทั้งตัวบงการที่สร้างเรื่องมาตั้งแต่ต้น ก็ยังอยู่
แต่ฝั่ง “ลุงตู่” ยืนยันจะอยู่ยาวจนกว่าจัดการประชุมเอเปกปลายปีนี้เสร็จสิ้น
เลือกตั้งต้นปีหน้า
และความเป็นจริงที่ปรากฏในวันนี้ ยังไม่มีเหตุถึงขั้นต้องยุบสภา
นอกจากคนที่อยากได้อำนาจนั่งบ่นให้ยุบสภารายวัน