21 มกราคม 2565 – ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่พบโอมิครอน ถ้าดูภาพรวมเจอผู้ติดเชื้อโอมิครอน 10,721 ราย
โดยจังหวัดที่พบจำนวนมากที่สุดกรุงเทพมหานคร 4,178 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,176 ราย, ชลบุรี 837 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 451 ราย, ภูเก็ต 434 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 32 ราย, ร้อยเอ็ด 355 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด, สมุทรปราการ 329 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 54 ราย, สุราษฎร์ธานี 319 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 33 ราย, กาฬสินธุ์ 301 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 299 ราย, อุดรธานี 217 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด, เชียงใหม่ 214 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 118 ราย, ขอนแก่น 214 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมขณะนี้พบว่า สัดส่วนเป็นโอมิครอน 86.8 % และเดลตา (อินเดีย) 13.2% เมื่อแยกเป็นกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โอมิครอน 96.9% เดลตา 3.1 % เพราะฉะนั้นจากนี้สันนิษฐานได้ว่าผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วงพบติดเชื้อจะเป็นโอมิครอนทั้งหมด ส่วนกลุ่มอื่นในประเทศ เป็นโอมิครอน 80.4 % และเดลตา 19.6 %
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การติดตามสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ดังกล่าว คัดเลือกตัวอย่างจาก 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเดินทางมาจากต่างประเทศ รวมถึงต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองทุกราย 2.กลุ่มตัวอย่างเพื่อสะท้อนภาพรวมประเทศ 3.กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ 4.กลุ่มที่มีอาการรุนแรงและ/หรือเสียชีวิตทุกราย 5.กลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง 6.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 7.กลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน(ติดเชื้อซ้ำ) 8.คลัสเตอร์ใหม่ และ 9.ลักษณะอื่นๆ ที่สงสัยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยสุ่มเลือกตัวอย่างผู้ติดชั้อจากแต่ละจังหวัดในพื้นที่ รวมทุกกลุ่มไม่เกิน 140 ตัวอย่าง ต่อสัปดาห์ต่อเขตสุขภาพ
โดยเมื่อแยกการพบโอมิครอนรายกลุ่มนี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างเพื่อสะท้อนภาพรวมประเทศ โอมิครอน 83.77% เดลตา 16.2% คลัสเตอร์ใหม่ โอมิครอน 84.86 % เดลตา 15.1% กลุ่มที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตทุกราย โอมิครอน 67.21% เดลตา 32.8 % กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ โอมิครอน 72.35 % เดลตา 27.7% กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ โอมิครอน 74.58% เดลตา 25.4 % ลักษณะอื่นๆ ที่สงสัยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน 75.90 % เดลตา 24.1 % และกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน(ติดเชื้อซ้ำ) 100 %
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า จะเห็นว่าในกลุ่มคนทั่วไป สัดส่วนที่เจอโอมิครอน 85% เดลตา 15 % แต่มีเดลต้าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มติดเชื้ออาการรุนแรง หรือเสียชีวิต พบเดลตาประมาณ 33% หรือ 2 เท่าของกลุ่มแรก อันนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตาแน่นอน ส่วนกลุ่มที่วัคซีนครบถ้วน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฉีด 2 เข็ม พบเชื้อเดลตาพอสมควร กลุ่มบุคลากรการแพทย์ 25% เป็นเดลตา และสุดท้ายที่น่าสนใจ 8 รายที่มีการติดเชื้อซ้ำเป็นโอมิครอน 100% จากเดิมคนที่ติดเชื้อเดลตาจะมีภูมิสูง แต่ยังสามารถติดเชื้อซ้ำป็นโอมิครอนได้ สะท้อนว่าภูมิเดิมที่มีต่อเชื้อเดิมกันเชื้อโอมิครอนไม่ได้
ทั้งนี้ หากแบ่งการติดเชื้อโอมิครอนตามเขตสุขภาพ จะพบว่า เขต 4, 6, 7, และ 13 กทม. พบโอมิครอนสูงสุด ส่วนเขตอื่นๆ ส่วนใหญ่ 60-80% ก็เป็นการติดเชื้อโอมิครอน ที่น่าสนใจคือเขต 12 ชายแดนใต้ มีการติดเชื้อโอมิครอนเพียง 51.46% อีกครึ่งหนึ่งเป็นเดลตา สะท้อนว่าลักษณะของจังหวัดดังกล่าวอาจแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ เช่น ไม่มีสถานบันเทิง หรือไม่มีการรั่วไหลของโอมิครอนที่เข้ามาจากชายแดนต่างประเทศ จึงเป็นเดลตาสายพันธุ์เดิมมากกว่า แต่สุดท้ายโอมิครอนก็จะเข้ามาแทนที่ได้ทั้งหมดในที่สุด นำมาสู่ข้อสรุปสถานการณ์โอมิครอนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ สายพันธุ์นี้มีการแพร่กระจายค่อนข้างเร็ว โดยกลุ่มต่างประเทศเกือบ 100% เป็นโอมิครอน ส่วนในประเทศโอมิครอนเฉลี่ย 80.4% ส่วนกลุ่มรุนแรงและเสียชีวิตพบว่าสัดส่วนเดลตายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มทั่วไป กลุ่มได้รับวัคซีนหรือกลุ่มติดเชื้อซ้ำเป็นโอมิครอนมากกว่า
“คาดว่าภายในปลายเดือนนี้สัดส่วนโอมิครอนในประเทศจะสูงเทียบเท่ากับกลุ่มที่เข้ามาจากต่างประเทศหรือมากกว่า 97-98% และสุดท้ายเดลตาจะหายไปในที่สุด ดังนั้น เราต้องอยู่ร่วมกับโอมิครอน จึงขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็ม 3 ซึ่งไม่ว่าสูตรไหนก็สามารถลดการแพร่ระบาด การติดเชื้อ และยังลดอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ด้วย” นพ.ศุภกิจ ระบุ