ผักกาดหอม
ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ดีมั้ย?
ครับ…เสียงยุบสภามาแรง เพราะ ส.ส.ฝ่ายค้านอยากให้อำนาจเปลี่ยนมือ
เช่นเดียวกับชมรมคนเกลียด “ลุงตู่” อยากให้ยุบสภาไวๆ เบื่อแล้วอยู่มาตั้ง ๗ ปีกว่า
ยุบสภาจากสาเหตุ ส.ส.พรรคหลักในรัฐบาลย้ายพรรคนั้น ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีการยุบสภามาแล้วทั้งสิ้น ๑๓ ครั้ง
๑.วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๑ สาเหตุจาก รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนามีความขัดแย้งกับสภา
๒.วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ยุบสภาเนื่องจาก สภาผู้แทนฯ ได้ยืดอายุมานานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนสมควรแก่เวลา
๓.วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๙ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยุบสภาเพราะความขัดแย้งภายในรัฐบาล
๔.วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๖ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยุบสภาเพราะสภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ
๕.วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๙ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบาลขัดแย้งกับสภา กรณีการตราพระราชกำหนด
๖.วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
๗.วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ อานันท์ ปันยารชุน เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อยุบสภาหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง
๘.วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ชวน หลีกภัย ยุบสภาเพราะความขัดแย้งภายในรัฐบาล พรรคพลังธรรมลาออก จากกรณี ส.ป.ก.๔-๑๐
๙.วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙ บรรหาร ศิลปอาชา ยุบสภาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และหลังพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน บีบให้ลาออก
๑๐.วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นการยุบสภาที่ให้เหตุผลแตกต่างไปจากทุกครั้ง โดย ชวน หลีกภัย ระบุว่า คณะรัฐมนตรีได้บรรลุภารกิจสำคัญ คือ การเร่งดำเนินการทั้งหลายให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเร่งแก้ไขปัญหาภาวะวิกฤตของประเทศ และรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๔ แล้ว
๑๑.วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙ ทักษิณ ชินวัตร ยุบสภาเพราะเกิดวิกฤตการณ์การเมืองจากการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี ต่อมาเกิดรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
๑๒.วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบตามสัญญาหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองเผาบ้านเผาเมือง
และ ๑๓.วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อ้างปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ ยุบสภา ขณะที่ยิ่งลักษณ์ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ต่อมาเกิดรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
นั่นคือการยุบสภาจากหลายสาเหตุแตกต่างกันไป
ถ้าสง่างามที่สุดคือการยุบสภา วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๓ ของ ชวน หลีกภัย
และหาก “ลุงตู่” ยุบสภาในเร็วๆ นี้ ก็จะเป็นเหตุผลใหม่ มาจากสาเหตุพรรคอันดับ ๑ ในพรรคร่วมรัฐบาล แตกคอกันเอง
อ่านเบื้องลึกเบื้องหลัง พลังประชารัฐ ขับ ๒๑ ส.ส. มันจั๊กจี้หัวใจ
ข่าวบอกว่า “ลุงป้อม” ลงทุนทุบโต๊ะ! “มันจะออกก็ออกๆ ไป พรรคจะได้สงบ”
พาลคิดว่า “ลุงป้อม” ตัดสัมพันธ์กับ ลูกเลิฟ “ธรรมนัส” แล้วอย่างนั้นหรือ
แต่พอไปดูพรรคใหม่ที่ “ธรรมนัส” จะขน ส.ส.ไปสังกัด คือพรรค “เศรษฐกิจไทย” ถึงกับร้องจ๊าก นี่มันแค่ย้ายเด็กๆ ไปอยู่อีกบ้าน ไม่ให้ลูกเมียหลวงเมียน้อยตีกันนี่หว่า!
พรรคเศรษฐกิจไทยจะมี “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ไปเป็นหัวหน้าพรรค
“บิ๊กน้อย” คือมือขวา “ลุงป้อม”
แถมยังมีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ หรือ บิ๊กป๊อด น้องชาย “ลุงป้อม” เป็นที่ปรึกษาพรรคอีก
แฟรนไชส์ธุรกิจการเมืองหรือไรกัน?
ขอฉลาดหลังหวยออกหน่อย!
มีใครสงสัยการปราศรัยของ “ธรรมนัส” ที่ชุมพร และสงขลา บ้างหรือเปล่า
ต้องกลับไปอ่านอีกที
…หนึ่ง ชาติตระกูลต้องดี นั่นคือ ศรีตรัง ใช่รึเปล่าก็ไม่รู้ สอง ต้องมีตังค์ ไม่มีตังค์หรอ เวลาไปช่วยชาวบ้าน สวัสดีครับพี่น้องครับ โบ๊ตไม่มีตังค์ครับ พี่น้องเอาไหม เอาไหม แต่ สวัสดีครับพี่น้อง อ๋อพี่น้องเดือดร้อนหรอครับ เดี๋ยวโบ๊ตเอานี้ไปใช้ก่อน อย่างนี้ชอบไหม เอาไหม เอาไหม ข้างหลังไม่ช่วยทำมาหากินเลยเนี่ย อย่างนี้เอาไหมพี่น้อง…
เลือกตั้งซ่อมหลายสนามก่อนหน้านี้ “ธรรมนัส” ปราศรัยเป็นเรื่องเป็นราว
แต่…ที่ชุมพร สงขลา กลับปราศรัยเป็นคนไม่รู้เหนือรู้ใต้
ตั้งใจหรือเปล่า?
แค่ตั้งข้อสังเกตครับ ไม่เฉพาะผม แกนนำพรรคพลังประชารัฐข้องใจมาก่อนที่การตะเพิด “ธรรมนัส” พ้นพรรคเสียอีก
“เสี่ยเฮ้ง-สุชาติ ชมกลิ่น” ยอมรับว่ากลายเป็นประเด็นหนึ่งที่มีผลให้ฝั่งตรงข้ามหยิบมาเป็นวาทกรรมคนรวย คนจน ในโซเชียล จนแพ้การเลือกตั้ง
การไปของ “ธรรมนัส” มีการวางแผนล่วงหน้า ไปๆ มาๆ มันไม่ใช่การขับพ้นพรรค ไม่งั้น “ลุงป้อม” จะพูดทำไม มันจะออกก็ออกๆ ไป
ทีนี้มาดูว่า “ธรรมนัส” กับอีก ๒๐ ส.ส. ไปแล้ว จะกระทบกับเสถียรภาพรัฐบาลแค่ไหน เสียงในสภาพอหรือเปล่า
เช็กยอด ส.ส.จาก ๒๔ พรรคการเมือง มีทั้งสิ้น ๔๗๕ คน
พรรคร่วมรัฐบาลมี ๒๔๗ คน ประกอบด้วย…
พลังประชารัฐ ๙๗ คน
ภูมิใจไทย ๕๙ คน
ประชาธิปัตย์ ๔๙ คน
ชาติไทยพัฒนา ๑๒ คน
เศรษฐกิจใหม่ ๖ คน
รวมพลังประชาชาติไทย ๕ คน
พลังท้องถิ่นไท ๕ คน
ชาติพัฒนา ๔ คน
รักษ์ผืนป่าประเทศไทย ๒ คน
และพรรคพลังชาติไทย ประชาภิวัฒน์ เพื่อชาติไทย ครูไทยเพื่อประชาชน พลเมืองไทย ประชาธิปไตยใหม่ พลังธรรมใหม่ ไทรักธรรม พรรคละ ๑ คน
พรรคร่วมฝ่ายค้าน ๒๐๘ คน ประกอบด้วย…
เพื่อไทย ๑๓๑
ก้าวไกล ๕๒
เสรีรวมไทย ๑๐
ประชาชาติ ๗
เพื่อชาติ ๖
พลังปวงชนไทย ๑
ไทยศรีวิไลซ์ ๑
ยังไม่สังกัดพรรค ๒๑ คน คือกลุ่มธรรมนัส
หากกลุ่ม “ธรรมนัส” ย้ายขั้ว ฝ่ายค้านจะได้เสียงเพิ่มเป็น ๒๒๙ เสียง
เสียงในสภาของรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ยังห่างกัน ๑๘ เสียง เทียบกับเมื่อครั้งตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ห่างกันเพียง ๗ เสียงเท่านั้น
รอบนี้อีกตัวแปรสำคัญคือมีข่าว ๙ พรรคเล็กจะไปซบ “ธรรมนัส” ถ้าไปจริงเสียงรัฐบาลจะลดลงไปอีก
แต่สถานการณ์ยังไม่นิ่งครับ ธรรมชาติพรรคเล็กรวมกลุ่มเรียกหาผลประโยชน์ทางการเมือง เก้าอี้รัฐมนตรีสัก ๑ ตัว ก็อยู่ต่อ
บวกกับการออกของ “ธรรมนัส” แค่ย้ายบ้าน แต่ยังอยู่ซอยเดิม
ยุบสภายังไม่ใช่ตอนนี้