กรมควบคุมโรค โดย นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ร่วมกับ กองทัพบก นำหน่วยรถพระราชทานออกตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกให้กับประชาชนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ พร้อมรับมอบกล่องรอดตายจำนวน 1,000 กล่องจากนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) โดย สนจ. ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายร่วมภารกิจดูแลผู้ป่วย Home Isolation (HI) ด้วยระบบติดตามอาการออนไลน์บนหอผู้ป่วยเสมือน (Virtual Ward) ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สามารถรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้นับหมื่นราย เมื่อวันอังคารที่ 18 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลสนามศูนย์คัดกรอง กรมแพทย์ทหารบก
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) กล่าวว่า “โครงการ “กล่องรอดตาย” เป็นความภาคภูมิใจของชาวจุฬาฯ ที่ได้จัดทำขึ้น ภายในกล่องบรรจุอุปกรณ์ที่จำเป็น และพัฒนาแอปพลิเคชันกลางที่สื่อสารระหว่างผู้ติดเชื้อกับทีมอาสาสมัครที่ทำหน้าที่จิตอาสารวมกว่า 400 คน ระบบกล่องรอดตายที่ สนจ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการช่วยให้คำแนะนำปรึกษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน รวมทั้งมีส่วนช่วยสนับสนุนภารกิจดูแลผู้ป่วยของกรมควบคุมโรคในภาวะวิกฤตโควิด-19 ระลอกนี้
ได้มีการเตรียมอาสาสมัครและทีมที่ปรึกษาทางการแพทย์ให้พร้อมติดตามอาการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทางออนไลน์ ซึ่งจะเข้าสู่ระบบหอผู้ป่วยเสมือน (Virtual Ward) ของกล่องรอดตายได้ทันทีหลังจากที่ตรวจพบว่าติดเชื้อและได้รับกล่องรอดตาย โดยแต่ละ Ward จะรองรับผู้ป่วย Home Isolation ได้มากถึง 1,300 ราย ปัจจุบัน สนจ. มี Virtual Ward ทั้งสิ้น 9 Wards พร้อมดูแลคนไข้ Home Isolation ในระบบได้มากกว่าหมื่นราย พร้อมดูแลผู้ป่วย 24 ชั่วโมง”
นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า “แนวทางการรับมือกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่กรมควบคุมโรคดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ “ตรวจเร็ว-รู้เร็ว-รักษาเร็ว” เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถทำ Home Isolation ที่บ้านได้ ประกอบกับมีการนำร่องใช้ระบบติดตามอาการออนไลน์ต้นแบบในระบบ Virtual Ward โดยกล่องรอดตายของ สนจ. ที่ให้การดูแลพี่น้องประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมและตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินโรคโควิด-19 (Preparedness and Response Plan) ที่ลดระดับให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ต่อไป”
พ.อ.สุขไชย สาทถาพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามศูนย์คัดกรอง กรมแพทย์ทหารบก กล่าวว่า การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในรูปแบบ One Stop Service เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อก็จะได้รับการเอกซเรย์ปอดและจ่ายยา กล่องรอดตายจะมีส่วนช่วยผู้ป่วยทั้งในด้านการติดตามอาการ การรักษาพยาบาล ยาที่จำเป็นต้องใช้ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจมากขึ้นในเรื่องการรักษาพยาบาลที่เป็นไปตามมาตรฐาน และมีการตรวจติดตามคนไข้เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มาก ทีมงานที่ทำหน้าที่อาสาสมัครในระบบหอผู้ป่วยเสมือน (Virtual Ward) ช่วยให้การดูแลคนไข้เป็นไปอย่างครบวงจร
สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้ส่ง “กล่องรอดตาย” ให้ผู้ป่วย Home Isolation ทั่วประเทศไปแล้วมากกว่า 2 หมื่นกล่อง มีสมาชิกใน LINE Official “กล่องรอดตาย” ราว 8.3 หมื่นราย และยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนภารกิจดูแลพี่น้องประชาชนสู้ภัยโควิด-19 ต่อไป
ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนจัดทำกล่องรอดตาย กล่องละ 500 บาท ในแคมเปญ “Less is More” โดยบริจาคเงินผ่านมูลนิธิส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปไทย บัญชี ธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชี 017-2-88191-2 ส่งหลักฐานการบริจาคเพื่อขอลดหย่อนภาษีมาที่ LINE ID : @donatesurvivalbox
ร่วมบริจาคยาและเวชภัณฑ์ในกล่องรอดตายได้ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณแมค โทร.09-6991-6363 และคุณโอม 09-3698-9336