นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ ศบค. ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานในรูปแบบ New Normal

29 มิ.ย.63 เวลา 12.20 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงผลการประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธานการประชุม  สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษก ศบค. เผยนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ย้ำ ศบค. ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานในรูปแบบ New Normal หรือการทำงานในชีวิตวิถีใหม่  รับฟังผู้ที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นนวดแผนโบราณ ศิลปินนักร้อง ห้างสรรพสินค้า ร้านเกม เพื่อนำสู่กระบวนการการพิจารณาตัดสินใจแนวทางต่างๆ
โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 ที่เชื่อมโยงกับโควิด-19  นายกรัฐมนตรี ได้ผลักดัน 3 แนวทาง ได้แก่ 1. ส่งเสริมอาเซียนให้เชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง 2. สร้างความเข้มแข็งจากภายใน 3. สร้างภูมิคุ้มกันอาเซียนในระยะยาว ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นแก้ไขปัญหาในกลุ่มเปราะบาง นโยบายในการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการทำวิจัยพัฒนาวัคซีน การทำงานที่บ้าน (Work from Home) การใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ  เร่งกลั่นกรองแผนงานและเสริมโอกาส และศักยภาพไทยหลังภาวะวิกฤติโควิด-19  อันได้แก่ Medical Hub การเป็นแหล่งอาหารของโรค และการท่องเที่ยวแบบเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ
โฆษก ศบค. เผยรายละเอียดร่างมาตรการการผ่อนคลายในระยะที่ 5 ดังนี้
1. การใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา ให้เปิดดำเนินการได้โดยได้รับอนุญาตจากต้นสังกัด โดยลงทะเบียน ยืนยันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดไว้ และให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ออกคู่มือเกณฑ์การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมถึงให้ส่วนราชการหน่วยงานต้นสังกัด/หน่วยงานที่รับผิดชอบประเมินความพร้อมของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา ก่อนเปิดการศึกษา/ดำเนินการ
2. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ให้เวลาเปิด/ปิดการดำเนินกิจการได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยที่ประชุมมีความคิดเห็นว่า ศูนย์การค้าควรปิดเวลา 22.00 น. และร้านสะดวกซื้อสามารถเปิดได้ 24 ชั่วโมง
3. สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ เช่น โรงเบียร์ โรงเหล้า ลานเบียร์ Pub & Restaurant ให้บริการได้ถึง 24.00 น. ทุกกรณี โดยให้มีระยะนั่ง/ยืน 1 ม. จำกัดผู้ใช้บริการตามขนาดพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 4 ตร.ม./คน และห้ามร่วมโต๊ะกับกลุ่มอื่น ระยะห่างโต๊ะไม่ต่ำกว่า 2 ม. หรือมีฉากกั้นสูงไม่ต่ำกว่า 1.5 ม. โดยให้มีระบบระบายอากาศ และระบบหมุนเวียนอากาศที่ดี มีพื้นที่สูบบุหรี่เฉพาะส่วนบุคคล รวมถึงให้ทุกคนลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ ด้วยแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” โดยมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณารายละเอียดบทลงโทษ สำหรับกรณีพบสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดการติดเชื้อ
4. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต สำหรับเด็กอายุ ต่ำกว่า 15 ปี สามารถใช้บริการได้วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 14.00 – 20.00 น. และวันหยุด เวลา 10.00 น. – 20.00 น. อายุ 15-18 ปี สามารถใช้บริการได้วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.00 – 22.00 น. และวันหยุด 10.00 – 22.00 น. และอายุ มากกว่า 18 ปี สามารถใช้ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ในเกณฑ์ ไม่ต่ำกว่า 4 ตร.ม./คน และให้เว้นระยะห่าง นั่ง/ยืน/ทางเดิน ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร รวมถึงจำกัดเวลาให้บริการในระบบ 2 ชม./รอบ เพื่อพักทำความสะอาด 15 นาที
5. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด โรงน้ำชา จะต้องมีใบอนุญาตสถานบริการถูกกฎหมาย โดยทุกคนจะต้องลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ด้วยแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” หรือจดบันทึกรายงานแทนได้ และต้องสวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย/Face Shield ตลอดเวลา ยกเว้นขณะอาบน้ำ ให้ทำความสะอาดห้อง/อ่างอาบน้ำ ห้องสุขา พื้นผิวสัมผัสร่วมบ่อยๆ ก่อน-หลังบริการแต่ละครั้ง โดยให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มพนักงานเป็นระยะ พร้อมทั้งเฝ้าระวังโรคอื่นด้วย โดยอาจพิจารณาให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ส่วนรวมของร้าน
โดยต้องดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้มีการลงทะเบียนกิจการและกิจกรรม โดยแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ก่อนผ่อนคลายกิจการและกิจกรรม เพื่อวางแผน กำกับ ติดตามของหน่วยงานภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ 2. ทุกกิจการและกิจกรรม จัดลงทะเบียนก่อนเข้า-ออกสถานที่ และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชัน “ผู้พิทักษ์ไทยชนะ” สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการตรวจประเมิน 3. มาตรการคัดกรองไข้ และอาการไอ หอบเหนื่อย จาม หรือเป็นหวัด สำหรับพนักงานบริการ และผู้ใช้บริการ
4. พิจารณาพัฒนานวัตกรรม เช่น ลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ ระบบการเรียนการสอน การจองคิวแบบออนไลน์ เพื่อให้บริการรูปแบบใหม่ในระยะยาว นำไปสู่การป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ 5. รายงานผลการตรวจประเมิน ติดตาม กำกับ ตามมาตรการควบคุมหลัก ให้ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด  ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง รายงานให้ ศบค. ทราบ
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร เพิ่มอีก 1 เดือน โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้  นอกจากนี้ ยังมีการเสนอเพิ่มจุดผ่านแดนเพื่อการขนส่งสินค้าเพิ่มเติม 9 แห่ง ดังนี้  จุดผ่านแดนถาวรท่าเรือหนองคาย จ.หนองคาย  จุดผ่านแดนถาวรบ้านคกไผ่ อ.ปากขม จ.เลย  การผ่อนปรนเปิดช่องทาง/ท่าข้ามธรรมชาติ ตลอดแนวชายแดนไทย – เมียนมา จ.ตาก
จุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน  จุดผ่อนปรนการค้าบ้านแจมป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย  จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี กรณีนำเข้ามันสำปะหลัง  จุดผ่านแดนถาวรปาดังเบซาร์และจุดผ่านแดนถาวรด่านบ้านประกอบ จ.สงขลา  จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร อ.เมือง จ. ประจวบคีรีขันธ์ และจุดผ่านแดนถาวร บ้านพุน้ำร้อน อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี
สำหรับมาตรกรผ่อนคลายสำหรับผู้ที่เข้ามาในราชอาณาจักร ในการขยายกลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าไทย กระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอเพิ่มบุคคล 6 กลุ่ม ดังนี้
1. คู่สมรส และบุตรของผู้มีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานในราชอาณาจักรไทย 2. ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีถิ่นฐานที่อยู่ในราชอาณาจักร 3. คู่สมรสต่างชาติและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสัญชาติไทย 4. ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยและผู้ติดตาม
5. นักเรียน นักศึกษาต่างชาติและผู้ปกครอง 6. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) กับประเทศเป้าหมาย เช่น นักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค โดยกำหนดโควตาที่สอดคล้องกับจำนวน ASQ และการเจรจากับประเทศที่ทำความตกลงพิเศษ (ในขั้นตอนอาจกำหนดจำนวนรวม 200 คนต่อวัน)
ประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง เกณฑ์พิจารณาคือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อไทย ควบคุมการระบาดได้ดีใกล้เคียงกับไทย มีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และมีความพร้อมและความสนใจทำความตกลง  โดยมี 2 รูปแบบในการเข้ามา ได้แก่ Normal Track ได้แก่ ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน ให้เข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด (ASQ) 14 วัน (รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง) บุคคลเข้าข่าย ได้แก่ ชาวต่างชาติภายใต้ข้อ 3 (5) ของข้อกำหนดฯ เดิม และชาวต่างชาติในกลุ่มที่มีการตกลงกับประเทศเป้าหมายตามโควตาที่เห็นชอบร่วมกัน
และ Fast Track ได้แก่นักธุรกิจ/ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย  เดินทางมาจากประเทศที่มีข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) เข้ามาระยะสั้น (ต่ำกว่า 14 วัน) ให้ร่นระยะเวลาการกักตัว และเงื่อนไขบางอย่างเข้มงวดมากกว่าการเข้าประเทศแบบ Normal Track เช่น การตรวจ Double Negative ติดตั้ง Application มีการกำหนดการเดินทางชัดเจน


ทั้งนี้ การเดินทางของชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ได้รับการอนุมัติแล้ว และยังรอการเดินทาง ให้เดินทางพร้อมกับคนไทยในเที่ยวบินที่นำคนไทยกลับจากต่างประเทศ (Repatriation) และกลุ่มที่ 2 ผู้ที่กำลังจะขออนุมัติการเดินทาง ให้ผู้ที่มีใบอนุญาตทำงาน/ตท. 3 จากกระทรวงแรงงาน ใบอนุญาต BOI สามารถขอรับหนังสือรับรองการเดินทางจาก สอท./สกญ. โดยตรง ให้กระทรวงแรงงาน/BOI อนุมัติการออกเอกสารการอนุญาตให้เข้ามาทำงานที่ไทยได้
โดยให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อนุญาตเที่ยวบิน Cargo หรือ Repatriation รับผู้ที่เข้าข่าย 3 (5) เดินทางเข้าไทยได้ และอนุญาตให้คู่สมรสและบุตรของผู้เข้าข่าย 3 (5) เข้าประเทศได้ โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการรองรับการเดินทางของแขกของรัฐบาล ได้แก่
1. เป็นคณะเล็กไม่เกิน 10 คน 2. เป็นการเดินทางระยะสั้น 3. มีการตรวจรับรองการปลอดเชื้อโควิด-19 ที่ประเทศต้นทางและเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย (Double Negative) 4. ให้หน่วยราชการที่เป็นเจ้าภาพเชิญแขกระดับสูง พิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ประจำคณะในลักษณะ Liaison Officer (LO) ติดตาม 5. มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงติดตามประจำคณะด้วย และ 6. ต้องจำกัดการเดินทางเฉพาะกำหนดการที่ได้ตกลงไว้ล่วงหน้าเท่านั้น ห้ามคณะเดินทางไปในที่สวนสาธารณะและห้ามใช้ขนส่งมวลชน
ช่วงท้าย โฆษก ศบค. ยังเผยว่ากระทรวงการคมนาคมขอยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนด การเว้นที่นั่งในบริการขนส่งสาธารณะ โดยให้มีการใส่หน้ากากผ้าหน้า กากอนามัย ตลอดเวลา และให้มีการเว้นระยะห่างในการยืน ซึ่งจะรักษาความหาแน่นสูงสุดที่ร้อยละ 70 ด้วย
Written By
More from pp
“สุพันธ์ุ มงคลสุธี” ทสท ร่วมเวทีดีเบต “เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ” ประกาศแก้ PM2.5 ตั้งสถาบันบอนเครดิตร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 สุพันธ์ุ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย ร่วมดีเบตกับพรรคการเมืองต่างๆ เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ...
Read More
0 replies on “นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ ศบค. ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานในรูปแบบ New Normal”