ผักกาดหอม
ใกล้ตัวมาอีกก้าว
โอมิครอนเริ่มแทรกซึมออกจากพื้นที่กักตัว
กรณีนักท่องเที่ยวอิสราเอล เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความเข้มงวด
ระหว่างทางที่หลบหนีออกมา ถ้าไม่เอาโอมิครอนไปติดใคร ก็ถือว่าโชคดี
แต่หากติดเป็นรายทาง ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของ โอมิครอน ภายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีข้อดีอยู่บ้างตรงที่ กรณีนี้จะทำให้สถานกักตัวทุกแห่ง โดยเฉพาะโรงแรม มีความเข้มงวดกับผู้ที่ต้องกักตัวทุกคนมากขึ้น
ปล่อยให้หลุดออกมาอีกไม่ได้เด็ดขาด
แม้จะหนีไม่พ้น สุดท้าย โอมิครอน ต้องระบาดในไทยแน่ๆ แต่ถ้ายื้อได้ควรจะยื้อให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
ให้ระบบสาธารณสุขได้พัก และฟื้นตัวจาก เดลตา ที่อยู่ในช่วงขาลงบ้าง สัก ๒ ถึง ๓ เดือน ก็ยังดี
ให้องค์ความรู้เกี่ยวกับ โอมิครอน มีมากขึ้น เพื่อการรับมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ให้มีวัคซีน หรือยา ที่สามารถจัดการกับ โอมิครอน ได้
ให้เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้น สามารถที่จะพยุงตัวไปได้อีกสักระยะ
ถือเป็นเรื่องดีที่ กทม. สั่งยกเลิกจัดงานปีใหม่กรุงเทพมหานครและการสวดมนต์ข้ามปี ประจำปี ๒๕๖๕ ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร รวมถึงหน่วยงานในสังกัดทั้งหมด
การรวมตัวกันของคนจำนวนมากในห้วงเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน
ท่องให้ขึ้นใจ คลัสเตอร์ใหม่ พร้อมจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับ โอมิครอน จากซีกโลกตะวันตกมีเข้ามาเรื่อยๆ
“เดวิด พาวเวล” แพทย์และที่ปรึกษาด้านการแพทย์ ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ออกมาเปิดเผยว่า ผู้โดยสารเครื่องบินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ๒-๓ เท่า ที่จะติดเชื้อ โอมิครอน ระหว่างเดินทางด้วยเที่ยวบิน
เที่ยวบินชั้นธุรกิจมีแนวโน้มปลอดภัยกว่าชั้นประหยัดที่มีคนใช้บริการหนาแน่นกว่า
มีคำแนะนำให้ผู้โดยสารหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกัน หรือสัมผัสบนพื้นผิวที่มีการจับต้องบ่อย เช่น ช่องเก็บสัมภาระ ประตูห้องนํ้า พนักเก้าอี้โดยสาร ผ้าม่าน เป็นต้น
แต่อย่าเพิ่งกลัวจนไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน
เพราะการเดินทางด้วยเครื่องบิน แม้จะมีความเสี่ยง แต่การอยู่ในสถานที่ที่มีคนหนาแน่นมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ยังคงมีความเสี่ยงสูงกว่ามาก
เครื่องบินสมัยใหม่มีระบบกรองอากาศระดับเดียวกับในโรงพยาบาล จึงสบายใจได้ระดับหนึ่ง
แต่ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในการอยู่บนเครื่องบินโดยสาร โดยเฉพาะเที่ยวบินข้ามทวีปที่ใช้เวลาเกิน ๑๐ ชั่วโมง
คำเตือนนี้จึงมีผลกับการเดินทางข้ามประเทศเป็นส่วนใหญ่
ฝั่งอเมริกาตอนนี้ดูจะหนักหนาสาหัสหน่อย ไม่ใช่เพราะ ลุงโจ ไบเดน บริหารประเทศสู้ “ลุงตู่” ไม่ได้
สถานการณ์แบบนี้ไม่ว่า “ลุง” ไหนก็สู้ โอมิครอน ลำบาก
มหาเศรษฐีอย่าง บิล เกตส์ ออกมาฟันเฟิร์มแล้ว โอมิครอน กำลังแพร่เร็วกว่าไวรัสทุกชนิดที่เคยมีมาในโลกใบนี้
และปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือ ยังไม่รู้ว่า โอมิครอน ทำให้ป่วยมากน้อยเพียงใด จึงต้องให้ความสำคัญจนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติม
แม้ โอมิครอน จะรุนแรงเพียงครึ่งหนึ่งของ เดลตา แต่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะ โอมิครอน เชื้อแพร่ได้ง่ายมาก
บิล เกตส์ เชื่อว่า การระบาดระลอกปัจจุบันในอเมริกาจะกินเวลานาน ๓ เดือน
เมื่อไปดูตัวเลขสัปดาห์ที่ผ่านมา อเมริกามีผู้ติดโควิดรายใหม่เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า ๑๔๘,๐๐๐ คน
เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๓ จากสัปดาห์ก่อนหน้า
เป็นการติดเชื้อกลับมาใกล้เคียงกับช่วงที่มีการระบาดหนักของ เดลตา เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ส่วนยอดผู้เสียชีวิตรายวันเมื่อสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ ๑,๓๒๔ คน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๑ จากสัปดาห์ก่อนหน้านั้น
นักวิเคราะห์จึงพากันสรุปว่า โอมิครอน จะแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงทั่วอเมริกา จนทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากมาย
แต่ในเรื่องร้ายก็อาจมีเรื่องดีอยู่บ้าง
เพราะไวรัสสายพันธุ์เดียวกันนี้ก็อาจทำให้วิกฤตโควิด-๑๙ สิ้นสุดลงเร็วขึ้น
สิ้นสุดยังไง?
โอมิครอน อาจทำให้การระบาดหนักทั่วโลกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น แม้อาจจะมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ โอมิครอน ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น
เป็นภัยต่อผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หรือไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น จะทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก
แม้จะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ก็มีผู้ที่รักษาจนหายเป็นจำนวนมากกว่า คนที่หายดีแล้วจะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เพื่อปกป้องไม่ให้ตัวเองติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคต
แต่แนวคิดนี้ เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น!
โดยประเมินจากลักษณะทั่วไปของไวรัสส่วนใหญ่
ขณะที่ไวรัสโควิด-๑๙ เองก็กลายพันธุ์อย่างไม่คาดคิดมาแล้วหลายครั้ง ตลอดช่วงการแพร่ระบาดตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา
วันนี้ โอมิครอน กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในอเมริกาแล้ว
ขณะที่ผลการวิจัยล่าสุดจากหลายสถาบันบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยติดเชื้อ โอมิครอน จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น มีน้อยกว่าผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ เดลตา
ในภาพรวมขณะนี้ ข้อมูลเท่าที่มี บางทีก็ดูน่ากลัว บางทีเหมือนมีความหวังว่า น่าจะจบลงได้ในอีกไม่ช้านี้
แต่…ระวัง สุดท้ายการระบาดอาจวนเข้าลูปเดิม เหมือนที่เป็นเหตุให้เกิด โอมิครอน
มีคำเตือนจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าการปูพรมฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์เพื่อป้องกันโควิด-๑๙ ขณะที่ประเทศยากจนยังคงไม่ได้รับแม้วัคซีนเข็มแรก อาจทำให้เชื้อโควิดกลายพันธุ์มากขึ้น
มันคือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน
ปัญหาเดิม ปัญหาใหญ่ ที่มีมาก่อนหน้านี้
ในขณะที่ประเทศร่ำรวยปูพรมฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ ป้องกันโควิด-๑๙ แต่อีกมุมหนึ่งของโลก คือประเทศยากจนยังคงไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว
คุ้นๆ นะครับ
เคยมีการถกเถียงเรื่องนี้มาก่อนที่โควิดจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ เดลตา
ประชาชนส่วนใหญ่หลายประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ทำให้ไวรัสมีเวลาในการกลายพันธุ์ มาเป็น โอมิครอน
วันนี้มี โอมิครอน แล้ว แต่การกระจายวัคซีนยังวนในรูปแบบเดิม
ฉะนั้นคำถามที่ว่า เมื่อไหร่จะจบซะที
คำตอบก็อยู่ที่มนุษย์เอง
อยากให้จบเมื่อไหร่