ผักกาดหอม
วานนี้ (๙ ธันวาคม) วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล
กติกาเรื่องคอร์รัปชันกับความเป็นจริงในประเทศไทย บางครั้งมันก็ไปด้วยกันไม่ได้
สองสามวันมานี้ มีประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ให้วิพากษ์วิจารณ์กันเยอะพอสมควรทีเดียว
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ วันที่ ๕ ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ และได้รับพระราชทานลดวันต้องโทษอีกกว่า ๑.๓ แสนราย
ในนั้นเป็น นักการเมือง อดีตข้าราชการระดับสูง และนายทุน ที่ถูกศาลพิพากษาคดีคอร์รัปชันรวมอยู่ด้วยหลายคน อาทิ
บุญทรง เตริยาภิรมย์
ภูมิ สาระผล
จุฑามาศ ศิริวรรณ
และอภิชาติ (เสี่ยเปี๋ยง) จันทร์สกุลพร เป็นต้น
ประเด็นที่ตั้งเป็นคำถามคือ ในเมื่อคดีคอร์รัปชัน เป็นคดีสำคัญ ถึงขนาดมีการแก้ไขกฎหมายไม่ให้มีอายุความ
ในเมื่อเราตระหนักถึงภัยคุกคามจากการคอร์รัปชันขนาดนั้น แล้วทำไมหลักเกณฑ์การขออภัยโทษกลับไม่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันด้วย
ประเทศไทยต้องทำอะไรสักอย่างหรือไม่
หรือปล่อยไว้แบบนี้
นักการเมืองโกง ติดคุกไม่กี่ปีก็หลุดออกมา
ครับ…วุฒิสมาชิกสมชาย แสวงการ แสดงความเห็นประเด็นนี้ได้ตรงไปตรงมาที่สุด
“…โปรดอ่านซ้ำอีกครั้ง คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง คดีจำนำข้าว เมื่อ ๒๘ พ.ค.๒๕๖๒ เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ตัดสินจำคุกจำเลยในคดีสูงสุด ๕๐ ปี ๔๘ ปี ๔๒ ปี ๔๐ ปี ๓๖ ปี ๓๒ ปี ๒๔ ปี ๑๖ ปี ๘ ปี ๔ ปี กว่าศาลฎีกาจะพิพากษานั้นต้องพิจารณาทั้งสำนวน พยานหลักฐานและพยานบุคคลจนสิ้นสงสัย
แต่คำพิพากษานั้นแทบจะไร้ความหมาย? เมื่อมีปัญหาว่าราชทัณฑ์มีอำนาจเหนือตุลาการ?
คำพิพากษาที่ถึงที่สุดหรือของศาลฎีกา ถูกยกเลิก เพิกถอน โดยอำนาจที่ไม่ใช่อำนาจตุลาการ โดยอาจอ้างเพียง “เพื่อการบริหารคนไม่ให้ล้นคุก ประหยัดงบประมาณ”
แต่ลืมไปเสียซึ่งหลักการลงโทษทางอาญา ทฤษฎีการลงโทษ ทฤษฎีป้องกันปราบปราม ทฤษฎีตัดผู้กระทำผิดบุคคลอันตรายออกจากสังคม ฯลฯ
คดีทุจริตจำนำข้าวมีความเสียหายมากถึง ๗๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
มีชาวนาฆ่าตัวตาย ๒๓ คน
มีการชุมนุมประท้วงของ กปปส.และพี่น้องประชาชนหลายล้านคน เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนจากการถูกยิงด้วยอาวุธสงครามและระเบิดมือจำนวนมาก จนนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกวันที่ ๒๐ พ.ค.
และนำไปสู่การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ ๒๒ พ.ค.๒๕๕๗ และริเริ่มการปฏิรูปในทุกๆ ด้าน ตามข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชน รวมทั้งข้อสัญญาที่จะมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
แต่สิ่งที่ปรากฏในวันนี้คือ การที่ราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ ในการสามารถใช้กฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติ ให้อำนาจผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการราชทัณฑ์ที่มีสามารถมีอำนาจเหนือตุลาการ?…”
และวุฒิสมาชิกสมชาย เรียกร้องไปยัง นายกฯ ลุงตู่ พิจารณาแก้กฎหมาย พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ แก้กฎกระทรวง ฯลฯ
พร้อมทั้งตรวจสอบว่ามีการฉ้อฉล ในชั้นการควบคุมของผู้บัญชาการเรือนจำ หรืออธิบดีหรือระดับคณะกรรมการอย่างไร
นี่ไม่ใช่ประเด็นเล็กๆ ครับ แต่ใหญ่มากเกี่ยวเนื่องไปถึงทิศทางนโยบายปราบปรามคอร์รัปชันของไทยในอนาคต
ต้องยอมรับว่า กฎหมายมีช่องโหว่
ที่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อ้างว่าไม่ได้เป็นการใช้อำนาจโดยพลการหรือเลือกปฏิบัติให้ผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ สำหรับพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ เป็นกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขโทษ
มันก็ถูกของ “สมศักดิ์”
ไม่มีการทำผิดกฎหมาย แต่เป็นการบริหารกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้คนบางคนบางกลุ่มอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับ หลักเกณฑ์การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปนั้น พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษเด็ดขาดทุกคนโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษ
การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปนี้มักจะเกิดขึ้นในวโรกาสมหามงคลต่างๆ เช่นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก หรือพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เป็นต้น
ส่วนหลักเกณฑ์การได้รับพระราชทานอภัยโทษของนักโทษเด็ดขาดผู้ใดจะได้รับพระราชทานอภัยโทษเท่าใดนั้น รายละเอียดจะกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษที่ตราขึ้นในแต่ละครั้ง
มีหลักเกณฑ์อยู่ ๓ ประการ คือ
การได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อยตัว
การได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ลดโทษ
การไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๔
มาตรา ๑๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๖ นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้
(๑) นักโทษเด็ดขาดซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว
(๒) ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ภายหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.๒๕๖๔ ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
(๓) ผู้กระทำความผิดซ้ำ และมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม
(๔) นักโทษเด็ดขาดชั้นต้องปรับปรุงหรือชั้นต้องปรับปรุงมาก
กลุ่มนักการเมือง อดีตข้าราชการระดับสูง พ่อค้านายทุน ที่ร่วมก๊วนโกงและติดคุกอยู่ ไม่เข้าข่ายมาตรา ๑๔ นี้ครับ
ก็ต้องตั้งคำถามดังๆ ถึงล้อมคอกแล้วหรือยัง
ในเมื่อคดีคอร์รัปชันถูกแก้ไขในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๕ ว่า
“ในการดําเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง
ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดําเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ”
แล้วทำไมคนโกงรับโทษไม่สาสมกับความผิดที่ก่อไว้
กระบวนการพิจารณาลดโทษที่สุดท้ายไปอยู่ในมือนักการเมือง อาจทำให้ระคายเบื้องพระยุคลบาทด้วยซ้ำ
ถึงเวลาสังคายนาเสียที
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า