การวางแผนครอบครัวเพื่อชีวิตที่สมบูรณ์ในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญที่สาวๆ ไม่ควรละเลย หลายคนที่ยังไม่เจอคนที่ใช่ในตอนนี้ อาจจะคิดว่ารอให้เจอคนที่ใช่ก่อน ถึงจะเริ่มวางแผนครอบครัวไปด้วยกัน แต่การปล่อยให้ระยะเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ นอกจากอายุจะมากขึ้นแล้ว ความเสื่อมของระบบภายในก็มากขึ้นตามด้วย โดยเฉพาะปริมาณและคุณภาพไข่ของผู้หญิง ดังนั้น “ การฝากไข่ ” จึงเป็นแนวทางการวางแผนชีวิตครอบครัวในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
แพทย์หญิงวนากานต์ สิงหเสนา สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ VFC ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร อธิบายว่า “ไข่” ที่ถูกผลิตมาจาก “รังไข่” เป็นเซลล์สืบพันธุ์ที่สำคัญของฝ่ายหญิง ซึ่งโดยปกติอายุยิ่งมาก ปริมาณและคุณภาพไข่ของผู้หญิงก็จะยิ่งลดลง โดยเฉพาะเมื่ออายุ 35 ปี ขึ้นไป จะมีผลทำให้การตั้งครรภ์ยากขึ้น หรือหากตั้งครรภ์จะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง และทารกในครรภ์อาจมีความผิดปกติได้
แต่ในปัจจุบัน ด้วยสภาพแวดล้อมหลายปัจจัย ทำให้ผู้หญิงมีลูกช้าลง และคำนึงถึงการวางแผนครอบครอบน้อยลง “การฝากไข่” จึงเป็นทางออกของผู้หญิงที่ต้องการวางแผนมีครอบครัวที่สมบูรณ์ในอนาคต หรือในเวลาที่พร้อม ซึ่งการฝากไข่ คือการเก็บไข่ในอายุที่เหมาะสม ได้แก่ 28 – 35 ปี และนำไปแช่แข็งในไนโตรเจนเหลว อุณหภูมิลบ196 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สามารถหยุดการทำงานของเซลล์ได้ โดยสามารถเก็บได้นานหลายสิบปี เมื่อมีการนำไข่มาใช้ในภายหลัง ก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จเท่ากับอายุตอนเก็บไข่ เช่น หากเราอยากมีลูกตอนอายุ 40 แต่มาเก็บไข่ตอนอายุ 32 โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จก็จะเท่ากับคนอายุ 32 ปี
กลุ่มที่เหมาะกับการฝากไข่ นอกจากกลุ่มสาวโสด แต่งงานช้าแล้ว ยังเหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องรักษาด้วยการฉายแสงบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือให้ยาเคมีบำบัด เพราะอาจทำให้เซลล์ไข่ถูกทำลายหลังการรักษา รวมถึงกลุ่มที่มีแนวโน้มรังไข่เสื่อมก่อนวัย เช่น มีโรคประจำตัว ฮอร์โมนไม่สมดุล หรือ มีประวัติเคยผ่าตัดรังไข่และเนื้อรังไข่ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการฝากไข่ ควรได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อจำกัดในการเก็บไข่ เช่น มีเลือดออกผิดปกติ โดยวันที่จะเข้ามาปรึกษาแพทย์ควรเป็นวันที่ประจำเดือนมาวันแรก หรือไม่เกิน 4 วันแรก เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจอัลตราซาวนด์ดูจำนวนฟองไข่ของเดือนนั้น ๆ และพิจารณาให้ยาประตุ้นไข่
“ โดยธรรมชาติของผู้หญิง ในวันแรกของรอบประจำเดือนจะมีฟองไข่เล็กๆหลายใบ แต่จะโตจนถึงวันตกไข่เพียง 1 ใบเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากเข้าสู่กระบวนการเก็บไข่ จึงจำเป็นต้องฉีดยาฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้ฟองไข่ใบเล็ก ๆ ที่มีอยู่ โตขึ้นทั้งหมดและเก็บออกมาแช่แข็งไว้ เพราะหากไม่ฉีดยาฮอร์โมนกระตุ้น ก็จะได้ไข่แค่ใบเดียว” แพทย์หญิงวนากานต์กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเก็บไข่ นับตั้งแต่ปรึกษาแพทย์ครั้งแรก กระตุ้นไข่ ฉีดยากันไข่ตก จนถึงวันเก็บไข่ ใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้น แนะนำให้เริ่มตระหนักตั้งแต่อายุน้อย เพื่อความมั่นคงของชีวิตในอนาคต โดยจำนวนไข่ที่เก็บได้จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณไข่ตั้งต้นในวันแรกของรอบเดือน ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคืออายุ ยิ่งอายุมาก ปริมาณและคุณภาพไข่ที่ได้ก็จะน้อย หากอยากเก็บไข่แช่แข็งเยอะ อาจจะต้องเก็บไข่หลายรอบ
“ มีคนไข้อายุน้อยหลายคนเลยที่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการฝากไข่ เพราะว่าไข่ของเรามีวันหมดอายุได้ ยกตัวอย่างคนไข้รายหนึ่ง อายุ 31 ปี ยังไม่มีการวางแผนจะแต่งงานมีลูกในเร็ว ๆ นี้ แต่มีความต้องการที่จะมีลูกในอนาคต จึงเข้ามาปรึกษาหมอเพื่อเก็บไข่แช่แข็ง ซึ่งจากอายุ ณ ตอนนี้ที่เข้ามาเก็บไข่ ทำให้ได้ปริมาณไข่เยอะ จึงไม่ต้องนัดมาเก็บไข่อีกรอบ คนไข้ก็ดีใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก เพราะกังวลว่าถ้ามีลูกตอนอายุมากจะทำให้มียาก แต่ตอนนี้สบายใจขึ้น เพราะมั่นใจว่าการฝากไข่จะช่วยให้มีลูกง่ายขึ้น จึงอยากแนะนำใครที่สนใจจะฝากไข่ เพียงแค่หาช่วงจังหวะที่สามารถมาพบหมอได้บ่อย ประมาณ 2 สัปดาห์ ก็เสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดแล้ว ” แพทย์หญิงวนากานต์กล่าว