รมว.แรงงานเตือนนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวตามมติครม. 28 ก.ย. 64 ยื่นขออนุญาตทำงานภายในกำหนด

รมว.แรงงาน เตือนนายจ้าง/สถานประกอบการ ยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ภายใน 7 วัน หลังรับแบบบันทึกข้อมูลคนต่างด้าวจากเจ้าหน้าที่ พ้น 7 วัน ไม่ดำเนินการมีโทษทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการตามมติครม.วันที่ 28 ก.ย. 64 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 ที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้ เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ หากตรวจพบแรงงานข้ามชาติ ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต จะทำแบบบันทึกข้อมูล และให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมายประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบ มีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันนั้น เป็นเรื่องที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญมาโดยตลอด

“ตั้งแต่วันที่ 1 – 26 พ.ย. 64 เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสถานประกอบและบันทึกข้อมูลคนต่างด้าวแล้ว 157,887 ราย นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงาน จำนวน 51,697 ราย คิดเป็นร้อยละ 32.74 ซึ่งตามมติครม.วันที่ 28 ก.ย. 64 กำหนดอย่างชัดเจนให้นายจ้าง สถานประกอบการที่ได้รับแบบบันทึกข้อมูลคนต่างด้าวจากเจ้าหน้าที่แล้วดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีโทษทั้งนายจ้าง และลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสถานประกอบฯ จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 64 ตามระยะเวลา 30 วันที่ได้กำหนดไว้ในมติครม. วันที่ 28 ก.ย. 64 ขอย้ำให้นายจ้างดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (แบบ บต.50) พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1- 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ ภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดจะทำให้แรงงานข้ามชาติมีสถานะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี

“สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานแล้ว ให้ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือซื้อประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย ดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ณ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองที่ 1 ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายใน 31 มีนาคม 2565 ยื่นขอตรวจลงตราวีซ่า ณ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองที่ 1 ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายใน 1 สิงหาคม 2565 และจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ณ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัดหรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครองกำหนด ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ หรือคนต่างด้าวต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว



Written By
More from pp
มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือ หน่วยงานกระทรวงแรงงาน จ.สมุทรสงคราม และกลุ่มไทยสมายล์ ลงพื้นที่ เติมกำลังใจ มอบรถเข็นวีลแชร์และอุปกรณ์ให้ผู้พิการและผู้ยากไร้
15 กุมภาพันธ์ 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.สมุทรสงคราม และทีมงานมวลชนสัมพันธ์ (CSR) กลุ่มไทยสมายล์ ลงพื้นที่มอบรถเข็นวีลแชร์...
Read More
0 replies on “รมว.แรงงานเตือนนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวตามมติครม. 28 ก.ย. 64 ยื่นขออนุญาตทำงานภายในกำหนด”