อาจารย์เภสัชฯ จุฬาฯ แนะเทคนิคเตรียมวัคซีน Moderna เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด

หลังจากวัคซีน COVID-19 หลากหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น Sinovac, Sinopharm, AstraZeneca, Pfizer ถูกฉีดให้กับคนไทยไปแล้วมากกว่า 60 ล้านโดส ในที่สุดวัคซีน Moderna วัคซีน mRNA ตัวที่ 2 ที่เป็นทางเลือกให้แก่คนไทยก็มาถึงโรงพยาบาลและหน่วยฉีดวัคซีนต่างๆ  ซึ่งในบางจุดบริการก็ได้เริ่มฉีดกันไปแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน

ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ และ ผศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม ภาควิชาอาหารและเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเตรียมวัคซีน Moderna ในงานเสวนา Chula-Phama-Talk เรื่อง “การเตรียมวัคซีน Moderna” ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สรุปได้ว่า การบริหารจัดการ ขนส่ง จัดเก็บ เตรียมยา จนถึงการฉีดวัคซีน Moderna ให้แก่ผู้รับบริการมีรายละเอียดที่ต้องระมัดระวังเพื่อคงคุณภาพของวัคซีนให้สมบูรณ์ที่สุดจนถึงผู้รับการฉีดวัคซีน ที่สำคัญคือแม้จะเป็นวัคซีนชนิด mRNA เช่นเดียวกับของ Pfizer แต่รายละเอียดการขนส่งจนถึงการเตรียมยากลับแตกต่างกันหลายประเด็น ซึ่งเภสัชกร พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้โดยตรงจะต้องทราบข้อมูลอย่างละเอียด ดังนี้

–  วัคซีนชนิดนี้สามารถเก็บในตู้แช่แข็งที่อุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียสได้จนถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ข้างขวด ซึ่งมีช่วงเวลาประมาณ 7 เดือนนับจากวันผลิต โดยห้ามอยู่ในอุณหภูมิต่ำกว่า -50 องศาเซลเซียส และห้ามใช้น้ำแข็งแห้งในกระบวนการขนส่ง  เมื่อเก็บวัคซีนในตู้เย็นธรรมดา (อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส) วัคซีนจะมีอายุ 30 วัน

– วัคซีนอยู่ในรูปแบบยาแขวนตะกอนสีขาวถึงขาวขุ่น พร้อมใช้โดยไม่ต้องเจือจาง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นยาแขวนตะกอนซึ่งต้องทำให้กระจายตัวก่อนฉีด แต่ห้ามเขย่าวัคซีนโดยเด็ดขาดเพราะอาจทำให้วัคซีน mRNA เสื่อมสภาพ วิธีการทำให้วัคซีนกระจายตัวเข้ากันดีคือการหมุนวนขวดวัคซีนเบาๆ หรือ swirl วัคซีนบรรจุแบบ multiple dose vial 1 ขวด มี 5 มิลลิลิตร สามารถฉีดได้ 10 โดส และขวดที่เปิดแล้วอาจเก็บไว้รอ   การใช้เข็มต่อๆ ไปได้ประมาณ 12 ชั่วโมง (โดยเก็บที่อุณหภูมิ 2 ถึง 25 องศาเซลเซียส) แต่ก็ควรใช้ให้หมดภายในเวลาที่สั้นที่สุดเพราะวัคซีนไม่มีสารกันเสียที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อนเข้าไปในกระบวนการดูดยาแต่ละครั้ง

“บุคลากรที่เกี่ยวข้องจึงต้องระมัดระวังในการดำเนินการ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้วัคซีนมีข้อสงสัยในคุณภาพ และทำให้มั่นใจได้ว่าวัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนมีประสิทธิผลและความปลอดภัยสูงสุด” สองอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในที่สุด

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/Pharmacy.CU/videos/619294496050119/

 



Written By
More from pp
“ศุภมาส” ถกประเด็น “เรียนดี มีความสุข ขยายโอกาสเพื่อคนไทย” ในเวที “ไทยแลนด์ 2024 เดอะ เกรท ชาเลนจ์ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส”
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมเสวนาในงานสัมมนา “ไทยแลนด์...
Read More
0 replies on “อาจารย์เภสัชฯ จุฬาฯ แนะเทคนิคเตรียมวัคซีน Moderna เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด”