เฒ่าจอมลักไก่!-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ก็ร่างมาเพื่อไม่ให้ผ่าน

พอไม่ผ่านสภา ก็ดูเอาว่าเกิดอะไรขึ้น

เรื่องนี้ “ไอติม” ไม่ได้ทำคนเดียว

ที่แน่ๆ “ไอติม” เป็นหุ่นเชิด แต่จะถูกหลอกด้วยหรือไม่นั้นต้องดูกันยาวๆ

เด็กรุ่นใหม่อย่าง “ไอติม” อาจบริสุทธิ์ใจ อยากเห็น ประชาธิปไตยไทยเบ่งบาน เหมือนทุ่งบัวตองเบ่งบานตอนหน้าหนาว

แต่สำหรับ “เฒ่าสามนิ้ว” อาจไม่ได้คิดแบบนั้น

ครับ…ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอติม ถูกสมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่คว่ำไปด้วยเสียง ๔๗๓ ต่อ ๒๐๖ เสียงตามความคาดหมายของทุกฝ่าย

ที่บอกว่าทุกฝ่าย ก็เพราะคนเสนอก็รู้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าถ้าผ่านไปได้ หมาคงออกลูกเป็นไก่

เจตนามันเป็นอย่างนั้นด้วยซ้ำ

พอสภาไม่ให้ผ่าน มันก็เข้าแผนที่วางไว้สิครับ และคนเริ่มเกมก็มีอยู่หลายคน

หนึ่งในนั้นคือ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ”

เฟซบุ๊ก Charnvit Kasetsiri ตอนนี้ทำหน้าที่ไม่ต่างจากศูนย์บัญชาการสามนิ้ว

ปล่อยประเด็นให้เด็กๆ เอาไปแชร์ต่อ

————

To return to ancient Absolute Monarchy time  means….

การต้องกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช นั้นหมายถึงว่า

๑.กลับไปสู่ยุค ปลายสมัย ร. ๕ (จุลจอมเกล้าฯ) คือประมาณ “การปฏิรูป” พ.ศ.๒๔๓๕ (๑๘๙๒) ซึ่งเปนยุคสูงสุดของพระราชอำนาจกษัตริย์ไทย เปนครั้งแรก และเปนการรวมอำนาจที่ศูนย์กลางที่องค์กษัตริย์ (centralization) อย่างไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเปนสมัยสุโขทัย ล้านนา อยุธยา  ธนบุรี หรือต้นรัตนโกสินทร์

๒.แต่จะตกต่ำ เสื่อมทรามลง อย่างรวดเร็ว ในสมัย ร. ๖  (มงกุฎเกล้าฯ) ที่เกิดการกบฏ/ปฏิวัติ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔/๕๕ หรือ ค.ศ.๑๙๑๒ ) หรือที่เรียกกันว่า “กบฏหมอเหล็ง” ของบรรดานายทหารหนุ่ม ๆ จากโรงเรียนนายร้อยทหารบก

๓.และจะตกต่ำลงอีกในสมัย ร. ๗ (ปกเกล้าฯ) ที่เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนา ๒๔๗๕/๑๙๓๒  โดยคณะราษฎร ที่นำโดยนายทหารบก ทหารเรือ ข้าราชการนักกฎหมาย และสามัญชนชาย จำนวนประมาณ ๑๐๐ คน

๔.สรุประบอบสมบูรณาญาสิทธิราช absolute  monarchy ของ “สยาม” (ที่จะต้องเปลี่ยนเปน “ไทย” นั้น) มีอายุเพียงจาก พ.ศ.๒๔๓๕-๒๔๗๕ (๑๘๙๒-๑๙๓๒) คือ ๔๐  ปีเท่านั้น (อาจจะอายุสั้นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ก้อเปนได้)

๕.ใน “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม” หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม” ฉบับ ๒๗ มิถุนา ๒๔๗๕ (ที่ถูกสอดใส่คำว่า “ชั่วคราว” ไว้นั้นจารึกไว้เปนหลักฐานว่า

“มาตรา ๑ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเปนของราฎรทั้งหลาย”

————-

เฒ่าจอมลักไก่!

จริงครับ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๑ บัญญัติว่า  “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

แต่ “ชาญวิทย์” ไม่อธิบายต่อว่ามาตรา ๒ เขียนไว้ว่าอย่างไร และเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญไทยฉบับหลังๆอย่างไร

มาตรา ๒ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ บัญญัติไว้แบบนี้ครับ

“ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดั่งจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ

๑.กษัตริย์

๒.สภาผู้แทนราษฎร

๓.คณะกรรมการราษฎร

๔.ศาล

จากนั้นประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับแรกคือ ฉบับปี ๒๔๗๕ มาตรา ๒ นำมาตรา ๑  และ ๒ ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว มามัดรวมกัน โดยบัญญัติว่า

“อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

นี่คือแม่บทของรัฐธรรมนูญทุกฉบับถัดมา

รัฐธรรมนูญที่ “ชาญวิทย์” และคณะอยากให้กลับนำมาใช้มากที่สุดคือรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ มาตรา ๓ ก็บัญญัติว่า

“อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ฉบับที่บอกว่าเป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจ ต้องทำลายล้างนั้น มาตรา ๓ ก็เหมือน มาตรา ๓ รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ทุกคำ

แล้วจะจับประชาชนให้มาสู้รบกันทำไม

ก็เห็นชอบอกชอบใจที่ “ชลน่าน ศรีแก้ว” บอกว่า “ต้องไปสู้บนถนน”

เอาสิครับ “ชาญวิทย์” ต้องเดินนำหน้า

อย่าปล่อยให้เด็กไปตายแทน

เรื่องความตกต่ำที่ไล่มาเป็น พ.ศ.ก็ดีแล้วครับ แต่ก็น่าเสียดาย คนเป็นกูรูประวัติศาสตร์มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ  กลับถูกอคติบังตา พาใจมืดมน จนหมดสิ้น

ยุค ร.๕ ไทยต้องต่อสู้กับฝรั่งล่าอาณานิคม ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เข้มแข็งเพราะ ร.๕ ทรงพระปรีชาสามารถ

แล้วมันใช่เรื่องที่ “ชาญวิทย์” ต้องนำมาเป็นประเด็นตั้งต้นเพื่ออธิบายให้ข้อมูลมุมเดียว ทำให้เด็กรุ่นหลังเข้าใจผิด เพราะตั้งธงไว้แล้วว่า ไม่เอา ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ทำไมกัน

หากมองว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรัชกาลที่  ๖ เสื่อมถอย ก็สามารถมองเช่นนั้นได้

แต่ในมุมกลับกัน “ชาญวิทย์” ต้องอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจด้วยว่า “ดุสิตธานี” เป็นเมืองจำลองรูปแบบระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๑ บริเวณพระราชวังพญาไท  ดุสิตธานีเป็นเมืองเล็กๆ มีเนื้อที่ ๓ ไร่ ตั้งอยู่บริเวณรอบพระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเมืองเล็กๆ คล้ายเมืองตุ๊กตา ประกอบด้วย พระราชวัง ศาลารัฐบาล วัดวาอาราม สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล  ตลาดร้านค้า ธนาคาร โรงละคร ประมาณเกือบสองร้อยหลัง เพื่อเป็นแบบทดลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

โปรดให้มีพระธรรมนูญการปกครองลักษณะนัคราภิบาล ซึ่งเปรียบลักษณะของเมือง มีพรรคการเมือง 2 พรรค การเลือกตั้งนัคราภิบาล หรือนายกเทศมนตรี และมีสภาการเมือง แบบระบอบประชาธิปไตย

ความเป็น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรัชกาลที่  ๗ มีความเข้มข้นน้อยลงไปอีกเป็นเรื่องจริง เพราะร่างรัฐธรรมนูญถึง ๒ ฉบับ

ฉบับแรกเป็นของพระยากัลยาณไมตรี “ฟรานซิส บี. แซร์”

อีกฉบับเป็นร่างของพระยาศรีวิสารวาจา

ทั้งหมดก็เพื่อปูพื้นฐานประเทศไทย ปกครองระบอบประชาธิปไตย

“ชาญวิทย์” มองข้ามข้อเท็จจริงในอดีตเหล่านี้ไปได้อย่างไร

หรืออยากลงถนนจริงๆ


Written By
More from pp
ฝ่ายไหนกันแน่..? – สันต์ สะตอแมน
สันต์ สะตอแมน เพิ่งจะทราบข่าวปุ๊บปั๊บ! วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคมนี้ จะมีคอนเสิร์ต “ขอบคุณแฟนแฟน Man City Lion” ของครูชาย...
Read More
0 replies on “เฒ่าจอมลักไก่!-ผักกาดหอม”