ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น สิ่งที่มีความสำคัญคือการดูแลสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนสำหรับคนสูงวัยโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือใกล้กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งการทำงานที่อาศัยกลไกจากอาสาสมัครทางสาธารณสุข (อสม.) ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีทั้งด้านกาย ใจ และสังคมรอบข้าง
ผศ.ดร.บุญศรี กิตติโชติพาณิชย์ อาจารย์พยาบาล วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวถึงที่มาของโครงการวิจัย “การพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุเมืองสมุทรสงครามอย่างยั่งยืน” โดยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ว่า
สภาพแวดล้อมด้านผู้สูงอายุของจังหวัดนี้มีความเหมาะสมเพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สวนไร่ มีความสงบ เหมาะกับการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที สภาพแวดล้อมไม่ถูกเปลี่ยนไปมากนัก มีความคงอัตลักษณ์ทางท้องถิ่นไว้เช่นเดิม บุคลากรในท้องถิ่นเองก็ได้วางแนวทางไว้ว่าต้องการให้เป็นสถานที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในระดับโลกให้เปรียบเสมือนกับ Wellness Place ของประเทศไทย
ประกอบกับสภาพครอบครัวปัจจุบันที่มีผู้สูงอายุ ทำงานจนเกษียณแล้วมาอาศัยที่อำเภอบางคนที แต่ลูกหลานหรือคนใกล้ชิดยังคงต้องทำงานในกรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้สูงอายุบางคนต้องอาศัยอยู่ภายในบ้านคนเดียว จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างรอบด้าน
จึงได้ขอรับการสนับสนุนจาก สกสว. เพื่อเริ่มต้นโครงการอบรม “บุคคลที่ดูแลผู้สูงอายุ” หรือ “Caregiver” ในพื้นที่ตำบลบางนกแขวก ให้ดูแลด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสิ่งแวดล้อมที่ดี สำหรับผู้สูงอายุ ด้วยการลงพื้นที่เดือนละ 1-2 ครั้ง ผ่านการประชุมอบรมให้ความรู้เบื้องต้นในการดูแล เช่น การวัดอุณหภูมิร่างกาย การให้อาหารทางสายยาง หรือการดูแลผู้ป่วย หรือให้ความรู้ตามที่ผู้เข้าร่วมอบรมสอบถามเข้ามา
ทั้งนี้ืจากการอบรมและลงพื้นที่เป็นเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่กันยายน-ธันวาคมปี 2563) พบว่า Caregiver ได้รับความรู้เป็นอย่างดี สามารถดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ได้มากขึ้นเกิดความผูกพันร่วมกัน บางบ้านรอให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล และมีการพูดคุยปฏิสัมพันธ์ที่ดี ส่งเสริมให้เกิดการดูแลอย่างเป็นระบบและมีกลไก ขณะเดียวกันสุขภาวะทางกายและจิตใจของผู้สูงอายุก็ดีตามไปด้วย เพราะไม่รู้สึกเหงาและมีคนมาดูแลเป็นประจำ
ซึ่งเจ้าหน้าที่ Caregiver ยังคงทำงานดูแลผู้สูงอายุแบบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าโครงการอบรมจะจบลงไปแล้วก็ตาม พร้อมระบุว่า โครงการนี้ส่งผลดีไปจนถึงระดับสังคมที่ทำให้เห็นความเอื้ออาทรและการไม่ทอดทิ้งกันภายในชุมชน เกิดความผูกพันซึ่งกันและกัน ช่วยดูแลในชุมชนมากขึ้น โดยหากโครงการนี้ยังคงต่อเนื่องไปได้ในอนาคต บุคลากรในพื้นที่เองก็มีแนวความคิดที่จะต่อยอดให้เป็นพื้นที่แบบ Wellness Center สำหรับผู้สูงอายุ ให้ได้รับบริการที่ดีและมีสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป ซึ่งอาจจะมีการให้ความรู้อย่างต่อเนื่องไปยังโรงเรียนในพื้นที่ด้วย
ขณะที่นางสาว ดุสิดา จันทร์วิรัช อสม. ประจำ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)บางนกแขวก หนึ่งใน Caregiver ที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ได้รับความรู้ครบทุกด้านทั้งการดูแลสุขภาพกาย จิตใจ การให้ยา รวมถึงการทำความสะอาดร่างกายของผู้สูงอายุ ซึ่ง Caregiver 1 คนจะดูแลผู้สูงอายุ 5-8 คน ลงพื้นที่เดือนละประมาณ 1-2 ครั้ง ซึ่งจะมีการกำหนดตารางลงพื้นที่อย่างชัดเจน โดย Caregiver จะวัดความดัน เจาะเลือดตรวจเบาหวาน ตรวจวัดไข้ทั่วไป รวมถึงอาบน้ำให้สำหรับผู้สูงอายุบางคนที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้มากนัก
จากโครงการนี้ทำให้ผู้สูงอายุในพื้นที่มีความชื่นชอบจากการดูแลของ Caregiver อย่างมาก และยินดีให้ดูแล เพราะนอกจากจะเป็นการดูแลร่างกายตามปกติแล้ว ยังได้ช่วยทำความสะอาด จัดสภาพแวดล้อมให้กับห้องหรือที่อยู่อาศัยให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้นด้วย พร้อมกับพูดคุยสร้างปฏิสัมพันธ์กัน ทำให้ผู้สูงอายุทุกคนไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและมีเพื่อนคุย แม้ว่าการระบาดของโควิด-19
ในขณะนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญ ก็ได้ปรับวิธีการดูแลใหม่ ด้วยการรักษาระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันตนเองอย่างสม่ำเสมอ และมองว่า หากโครงการนี้ได้รับการต่อยอดมากขึ้น หรือ Caregiver ของ รพ.สต.บางนกแขวกสามารถเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่คนอื่นรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ได้ ก็ยินดีให้ความช่วยเหลือ เพราะถือเป็นการส่งต่อความรู้ให้คนอื่นได้ปฏิบัติต่อไป และสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืนได้อีกด้วย