เปลว สีเงิน
“ชัยเกษม นิติสิริ”
ผมดูรูปเก่าๆ ท่านในชุดเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมัยเป็นรัฐมนตรียุติธรรม และเป็นอัยการสูงสุดแล้ว เกิดความรู้สึกว่า
ท่านมีทั้งบุญ ทั้งวาสนาสูงส่ง น่าปลาบปลื้ม ทั้งมีคุณงามความดีมากล้น
รับราชการปฏิบัติหน้าที่ต่างพระเนตร-พระกรรณด้วยซื่อสัตย์-สุจริต จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดมากมาย
ก็ดูที่แผงอกท่านซี….
ทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
ทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ และทั้งเหรียญจักรพรรดิมาลา
แต่วานซืน….
เห็นสวมเสื้อยืด “แดงทั้งแผ่นดิน ทักษิณสถาปนา” หน้าอกพาดคำว่า “พรุ่งนี้/เพื่อไทย” ใส่กางเกงยีน เสื้อนอกคลุมทับพยับผยอง
อืมมมม….
จากภาพเสนาบดีและอัยการสูงสุด ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใต้ธงไตรรงค์ มาเป็น “ทาสรับใช้ทักษิณ” “ใต้ธงแดง” เต็มตัว
ผมรู้สึกเขินแทน และละอายในความรู้สึกแทน ยังไงไม่รู้!
ยิ่งท่านออก “จดหมายเปิดผนึก” ประกาศตัว เปลือย “ธาตุแท้” ให้เห็นชัดลงไปด้วยแล้ว
อึ๋ยยยย..
นี่คือ จดหมายเปิดผนึกของชัยเกษม
ปัญหาการใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีเพื่อจำกัดความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างอย่างล้นเกิน
ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 พระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ
หรือความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
สร้างผลกระทบให้ประชาชนเสียหายจากกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนสงสัยว่า ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรม
และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว โดยมิชอบด้วยหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
ซึ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในหลักกฎหมายและหลักความยุติธรรมของประเทศ
ตามที่ภาคประชาชนได้เรียกร้องและเสนอร่างแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว
พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่มีเสียงสมาชิกมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา
เพื่อตรวจสอบระบบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้ดุลยพินิจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่
และตรวจสอบการสั่งการโดยรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว
และไม่ให้เกิดนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย
ชัยเกษม นิติสิริ
ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย
31 ตุลาคม 2564
#ม็อบ31ตุลา64
ก็ เก๋ไก๋ เป็นชัยเกษม “คนรุ่นใหม่”
ติดแฮชแท็ก#ม็อบ31ตุลา64 ขานรับข้อเรียกร้องม็อบสามนิ้วล้มเจ้าของพังรุ้งที่ราชประสงค์อย่างกลมกลืนด้วยนะ
คุณชัยเกษม ถามจริงๆ เถอะ
คุณเป็นผู้ใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมมาก่อน ก็ต้องรู้ว่ามาตรา ๑๑๒ ไม่ใช่เพิ่งมี หากแต่มีมาตั่งแต่ปี พศ.๒๔๕๓
ในฐานะนักกฎหมาย ถ้าคุณเห็นโดยสุจริตว่า มาตรานี้ “สร้างผลกระทบให้ประชาชนเสียหาย”
ตอนเป็นรัฐมนตรียุติธรรมหรือเป็นอัยการสูงสุด ทำไมไม่เสนอแก้ ทำไมกลับนิ่งดูดายมาเป็นเวลากว่าร้อยปี หือ?
และทำไมเพิ่งรู้สึกเอาตอนมาอยู่รับใช้ทักษิณทางการเมือง และเหี้ยนกระหือรือจะรื้อมาตรา ๑๑๒ เอาตอนใกล้มีเลือกตั้งล่ะ?
หวังประจบพวกรุ่นใหม่สามนิ้ว แย่งคะแนนกับพรรคก้าวไกลเขาละซีท่า?
และถามอีกคำ….
คุณชัยเกษม คุณต้องการให้คนจ้วงจาบหยาบช้าสถาบันพระมหากษัตริย์ตามใจชอบ และซ่อนเจตนาด้วยหวังโค่นล้มมาตั้งแต่สมัยคุณเป็นอสส.แล้วอย่างนั้นหรือ?
หรือเพิ่งมาคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน ต้องการเปลี่ยนประเทศเป็น “แดงทั้งแผ่นดิน” เอาตอนสวามิภักดิ์ทักษิณ?
และต้องการสร้างผลงานให้เข้าตานาย…
เมื่อนายส่งลูกสาวมาเป็นตัวเชื่อมคนรุ่นใหม่ ทั้งนายส่ออาการไม่ต้องใจ “ยอกย้อนเจ้า” ในคลับเฮาส์ประจำ
เมื่อนายว่า ข้าจึงคล้อยตามในทาง “ปฏิเสธกษัตริย์” หวังเพื่อไทยอินเทรนด์ในหมู่คนล้มเจ้าประจบคะแนนอย่างนั้นใช่ไหม?
ที่ถาม ก็ไม่ใช่อะไร…
เพียงแต่ไม่แน่ใจ ว่าคนเคยเป็นถึงอัยการสูงสุด เป็นเสนาบดียุติธรรม ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญานตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยซ้ำ
แต่ไฉนวันนี้ ….
จึงอสัตย์และสิ้นศักดิ์ไปได้ถึงขนาดนั้น?
ค้นดูประวัติงาน พบที่เขาบันทึกไว้จากแหล่งอ้างอิง Source://th.wikipedia.org/wiki/ ก็พอเข้าใจลางๆ
อ่านเป็นการศึกษาคนกันดูนะ…
“ชัยเกษม นิติสิริ” เริ่มรับราชการเป็นอัยการผู้ช่วย จังหวัดสมุทรสาคร, อัยการประจำกอง กองคดี ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเรื่อยมา
กระทั่งเคยดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดภูเก็ต อธิบดีอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
เป็นอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอัยการสูงสุด, อธิบดีอัยการฝ่ายปรึกษา พ.ศ. 2546-2550 ดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด
และตำแหน่งสูงสุด คือ “อัยการสูงสุด” ปีพ.ศ. 2550
ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้รับตำแหน่งกรรมการและกรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 30 กค.52
พ.ศ. 54-55 ได้รับตำแหน่งในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลายตำแหน่ง เช่นประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, คณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, กรรมการคณะที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
มีการวิจารณ์จากสื่อมวลชนว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พยายามตอบแทนตำแหน่งให้ เนื่องจากในสมัยที่นายชัยเกษมดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด
ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ฟ้อง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
และยังเป็นหนึ่งในฐานะกรรมการกฤษฎีกาที่ร่วมทำคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จ ที่ 568-569/2549 เกี่ยวกับโครงการสลากพิเศษแบบเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว
เนื่องจากเขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556
กรณีการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจ จับวัตถุระเบิด CTX 9000 ชัยเกษมถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ฟ้องร้อง
ในคดีการทุจริตคอรัปชั่นการจัดซื้อเครื่องตรวจ จับวัตถุระเบิด CTX 9000 ในฐานะอดีตกรรมการบริหารบริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด
ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ แยกสำนวนของเขาออกเป็นสำนวนต่างหาก ในวันที่ 27 มิถุนายน 2551
เพียง 3 วัน ก่อนหน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จะหมดหน้าที่
หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และได้ส่งเอกสารสำนวนให้อัยการสูงสุดแล้ว
อัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้แก่ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ สั่งไม่ฟ้องตัวเอง รวมถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนาย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บริษัทเอกชนหลายกลุ่ม รวม 25 ราย เนื่องจากเห็นว่า “คดีมีข้อไม่สมบูรณ์”
และเดือน กันยายน พ.ศ. 2554 ปปช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิดอดีตเจ้าหน้าที่บริษัทท่าอากาศยานไทย 6 คน ที่เดินทางไปซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ เพื่อดูงานท่าอากาศยาน โดยมีบริษัทตัวแทนขาย CTX 9000 ในประเทศสหรัฐฯเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้
เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2554 มาตรา 103
ประกอบด้วย นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด พล.อ.สมชัย สมประสงค์ รองประธาน บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด
นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด, นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ, นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ และ พล.อ.อ.ณรงค์ สังขพงศ์ ในฐานะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด
Source://th.wikipedia.org/wiki/
…………………
อืมมมม…
พรุ่งนี้ของเพื่อไทย มันมีแต่อดีตที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียวจริงๆ!