ผักกาดหอม
ยังเปิดประเทศไม่เต็มที่ ก็ขู่กันซะแล้ว!
เห็นแชร์กันในโลกออนไลน์ สร้างความวิตกกังวล อกสั่นขวัญแขวน ว่าโควิดกำลังจะกลับมา และรุนแรงกว่าเดิม
ด้วยสายพันธุ์ใหม่ “เดลตาพลัส”
ช่วงนี้สำนักข่าวในยุโรปนำเสนอข่าว “เดลตาพลัส” เยอะพอควร เพราะกำลังเป็นที่จับตามองของรัฐบาลหลายประเทศ
โดยเฉพาะอังกฤษ ตัวเลขล่าสุด ผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักร ๖% ป่วยด้วยสายพันธุ์ “เดลตาพลัส” ที่มีชื่อเป็นทางการว่า “AY.4.2”
ที่จริงสายพันธุ์นี้มีการพูดถึงมาหลายเดือนแล้ว
ที่เกาหลีใต้พบตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม
เดือนกันยายนพบที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว
ถามว่า เชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้เข้ามาในประเทศไทยหรือยัง ก็ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด
แต่เท่าที่เห็นคือ สายพันธุ์ 1.AY.4 หรือ B.1.617.2.4
ตรวจพบที่ ปทุมธานี ๔ ราย บุรีรัมย์ กำแพงเพชร เชียงใหม่ สมุทรปราการ และชลบุรี จังหวัดละราย ในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม
“เดลตาพลัส” จะถล่มไทยจนเปิดประเทศไม่ได้หรือไม่?
ฉะนั้นถ้าเชื่อหมอในอังกฤษ ก็มีข้อมูลว่าสายพันธุ์นี้ยังไม่ถือว่าเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล
นักวิทยาศาสตร์กำลังทดลองอยู่ว่าสายพันธุ์นี้จะเป็นอันตรายแค่ไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อว่ามันไม่น่าจะแพร่ระบาดอย่างหนักและวัคซีนที่มีอยู่ก็น่าจะจัดการได้
ศาสตราจารย์ฟรองซัว บาลูซ์ จากสถาบันพันธุศาสตร์ ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (ยูซีแอล) บอกว่า มีความเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์ AY.4.2 จะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่า
แต่ก็ไม่มาก!
ง่ายที่ว่าคือ “แพร่ระบาดได้ง่ายกว่า ๑๐%”
ซึ่งมันเทียบไม่ได้กับสายพันธุ์อย่างอัลฟาและเดลตาซึ่งแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าถึง ๕๐-๖๐% ไม่ทำให้สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด
ก็อย่าเพิ่งตกใจ
แต่ถ้าเชื่อโซเชียล ก็แล้วแต่ใจจะคิดเลยครับ
มีข้อมูลจาก เพจ Center for Medical Genomics มาฝากครับ เป็นเรื่องที่คนไทยควรรู้ เพราะเป็นวัคซีนป้องกันโรคเฟกนิวส์ได้
ถึงจะเป็นวิชาการหน่อย แต่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก
เราได้ประโยชน์อะไรจากการศึกษาธรรมชาติการกลายพันธุ์ของไวรัส “SARS-CoV-2” ในประเทศไทย (Natural History of SARS-CoV-2 Variants in Thailand)
โรคโควิด-๑๙ เป็น “โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging infectious disease)” ที่เรายังไม่เข้าใจธรรมชาติของการเกิดโรค (Natural history of disease) อย่างถ่องแท้ การกำหนดนโยบายของภาครัฐระดับประเทศเพื่อการป้องกัน ติดตาม ดูแล และรักษา การล็อกดาวน์หรือการเปิดประเทศจำต้องอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากหลายภาคส่วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (whole genome sequence) ของเชื้อ “SARS-CoV-2” ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-๑๙ ที่แยกได้ในประเทศไทยเป็น “แกนหรือเสาหลัก” เทียบเคียงกับรหัสพันธุกรรมจากเชื้อทั่วโลกในช่วง ๒ ปี (พ.ศ.๒๕๖๓-๒๕๖๔) ที่ผ่านมา
จากนั้นนำเข้าเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์กับข้อมูลทางระบาดวิทยา ข้อมูลทางคลินิก ข้อมูลภูมิคุ้มกันที่ถูกสร้างขึ้นจากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือจากการฉีดวัคซีน ข้อมูลการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมของผู้ติดเชื้อ (host genomic variation) ฯลฯ
โดยทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดีได้รับการสนับสนุนการศึกษาวิจัย “ธรรมชาติการกลายพันธุ์ของไวรัส ‘SARS-CoV-2’ ในประเทศไทย (Natural History of SARS-CoV-2 Variants in Thaialnd)” จากหลายแหล่ง เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS), มูลนิธิรามาธิบดี, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), Wellcome Trust, (AHF)-Global Public Health Institute: SARS-CoV-2 Genomic Sequencing เป็นต้น
การระบาดโรคโควิด-๑๙ สายพันธุ์ “เดลตา” อาจเป็นคลื่นลูกสุดท้ายของการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) ก่อนกลายสภาพไปเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) โดยขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์อื่นใดจะมาแทนที่เดลตาได้
ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเห็นตรงกันว่าการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก (Pandemic) ของสายพันธุ์ “เดลตา” กำลังปรับเปลี่ยนไปเป็นการระบาดแบบโรคประจำถิ่น (Endemic) ซึ่งลดความรุนแรงของการระบาด ลดจำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
และลดอัตราการตายลง ภายใน ๖ เดือนหรือ ๑ ปีหลังจากนี้
ก็สรุปได้ว่าเราต้องอยู่กับโควิด-๑๙ อีกประมาณ ๑ ปี
แต่โชคดี เป็น ๑ ปีของโควิดขาลง
และการฉีดวัคซีนของไทยไม่ขี้เหร่
ตัวเลข ณ เวลา ๑๕.๑๓ น. วันที่ ๒๒ ตุลาคม คนไทยฉีดวัคซีนแล้ว ๖๙,๙๖๑,๑๐๒ โดส
ตัวเลขกลมๆ ก็ ๗๐ ล้านโดส
วันก่อน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า
“คนที่อยากฉีดเพื่อปูพื้นต้องรีบหน่อย เพราะเดือนถัดไปมีโอกาสที่ซิโนแวคจะหมด พลาดโอกาสไม่ได้ฉีดสูง อย่างไรก็ตามเรามีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดเข็ม ๑ เข็ม ๒ และเข็ม ๓ ตามเป้าหมาย ๑๐๐ ล้านโดส ที่จะฉีดให้ครบในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม”
แก๊งไอโอสามนิ้วเอาไปแปลงสาร ดูถูกดูแคลน ซิโนแวคเหมือนเดิม
หากมองในมุมการแพทย์ Sinovac เข็ม ๑ AstraZeneca เข็ม ๒ ใช้ระยะสร้างภูมิน้อยกว่า AstraZeneca เข็ม ๑ AstraZeneca เข็ม ๒ นานนับเดือน แต่สร้างภูมิได้ไม่แตกต่างกันมากนัก
ที่เหมือนกันคือ ป้องกันการป่วยหนักได้ ลดอัตราการตายลง
แต่หากมองในมุมการเมือง ก็วนอยู่กับวัคซีนเซินเจิ้น ไม่พ้นจากกะลา
ในขณะนี้ทั่วโลก ฉีดวัคซีนไปกว่า ๗ พันล้านโดส
เกือบครึ่งหนึ่งคือ ๓.๔ พันล้านโดส เป็นวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย วัคซีนที่มีการฉีดมากที่สุดในโลก ๘ ลำดับแรก มีดังนี้
๑.Sinovac ๑.๘ พันล้านโดส
๒.Pfizer ๑.๖ พันล้านโดส
๓.Sinopharm ๑.๖ พันล้านโดส
๔.AstraZeneca ๑.๕ พันล้านโดส
ส่วน Moderna Sputnik V, Johnson&Johnson, Bharat อย่างละน้อยกว่า ๐.๔ พันล้านโดส
ก็จะเห็นว่า วัคซีน Sinovac, Sinopharm ที่คนไทยกลุ่มหนึ่งด้อยค่านั้น ฉีดมากเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะในจีน อินโดนีเซีย บราซิล ปากีสถาน ตุรกี อิหร่าน เป็นต้น
และสถานการณ์โควิดในจีน ดีกว่า อเมริกา ยุโรป แต่ก็ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย มิใช่วัคซีนเพียงอย่างเดียว แต่วัคซีนคือองค์ประกอบสำคัญในการต่อสู้กับโควิด
สถานการณ์โควิดในไทย ณ ปัจจุบันหากเทียบกับหลายๆ ประเทศที่มีพลเมืองพอๆ กัน เราไม่ถือว่าเลวร้ายครับ
อัตราการเสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ
ครับ…นี่เป็นข้อมูลก่อนเปิดประเทศ