นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงของการระบาดของโควิดที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่รายงานดัชนีความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข หรือมีการจัดอันดับหลายแห่งที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
อาทิ ในช่วงต้นของการแพร่ระบาด มหาวิทยาลัย John Hopkins และองค์กร Nuclear Threat Initiative รายงานดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ เมื่อปี 2019 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดมากที่สุด
ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นิตยสาร CEOWorld Magazine นิตยสารสำหรับแวดวงธุรกิจได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับดัชนีระบบบริการสุขภาพ ประจำปี 2021 (Health Care Index) โดยไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 13 จาก 89 ประเทศทั่วโลก หรือเป็นอันดับที่ 4 ของทวีปเอเชีย (รองจาก เกาหลีใต้ ไต้หวันและญี่ปุ่น ตามลำดับ) และเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน ด้วยคะแนน 59.52 ทั้งนี้ ไทยมีความโดดเด่นที่สุดในเรื่อง ความพร้อมของยาที่จะให้บริการ และโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบบริการสุขภาพ
นายธนกร กล่าวว่า ดัชนีระบบบริการสุขภาพ มีปัจจัยที่ใช้ประกอบการวิเคราะห์หลักๆ 5 ปัจจัย โดยไทยได้รับคะแนนในแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้ ได้แก่
- โครงสร้างพื้นฐานของระบบบริการสุขภาพ (Infrastructure) ได้รับ 98.7 คะแนน
- บุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์, พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุข หรือ Professionals) ได้รับ 29.05 คะแนน
- ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อปี (Cost) ได้รับ 94.99 คะแนน
- ความพร้อมของยาที่ให้บริการ (Medicine Availability) ได้รับ 98.74 คะแนน และ
- ความพร้อมของรัฐบาล (Government Readiness) ได้รับ 96.1 คะแนน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่นำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ร่วมกันอีก ได้แก่ สภาพแวดล้อม, การเข้าถึงน้ำสะอาด, สุขอนามัย, การเตรียมความพร้อมของรัฐบาลเกี่ยวกับการกำหนดบทลงโทษจากความเสี่ยง อาทิ การใช้ยาสูบ และโรคอ้วน
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณและชื่นชมบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เอาใจใส่ มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานและประโยชน์สุขของประชาชน
ส่งผลให้มีเสียงสะท้อนที่ดีจากพัฒนาการ และความพร้อมของระบบบริการสุขภาพของไทย ซึ่งรัฐบาลได้วางนโยบายด้านสุขภาพ และเตรียมความพร้อมเพื่อสุขภาพอนามัยในการดำรงชีวิตที่ดีของประชาชนไทย
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายสาธารณสุข ที่มุ่งพัฒนา “ระบบบริการสุขภาพ” อาทิ ยกระดับระบบบริการสุขภาพขั้นปฐมภูมิและ อสม. ให้คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน พัฒนาระบบบริการสุขภาพขั้นทุติยภูมิ ให้เป็นจุดเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพในกลุ่มเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ และประชาชนสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง พร้อมเชื่อมั่นว่า ผลจากการจัดอันดับ ดัชนีระบบบริการสุขภาพ ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)” ภายในปี 2569 เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพในเชิงการท่องเที่ยว ต่อยอดสู่การสร้างอาชีพ