ผักกาดหอม
ช่วงนี้น้ำมันแพง
มีพวกฉวยโอกาส สาดน้ำมันเข้ากองเพลิง พากันถล่มนโยบายพลังงานของรัฐบาล ว่าอุ้มนายทุนไม่เห็นหัวคนจน
กูรู กูรู้ทั้งหลายเสนอมาตรการแก้น้ำมันแพงกันเพียบ
ยกเลิกกองทุนน้ำมัน
ยกเลิกอ้างอิงราคาสิงคโปร์
รวมไปถึงให้รัฐบาลลาออก
ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ วิกฤตราคาน้้ำมันเกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน และทุกครั้งนักการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจ จะนำเสนอวิธีการสารพัด
ครั้นเข้าสู่อำนาจ ใบ้กิน แก้ไขอะไรไม่ได้ ที่เคยทำมาแบบไหน ก็ดำเนินการไปแบบนั้นต่อไป
บางรัฐบาลถึงขนาดอุ้มราคาน้ำมัน จนหนี้พอกเป็นหางหมู ราคาน้ำมันตลาดโลกลดแล้วลดอีก แต่คนไทยใช้น้ำมันแพงต่อไปเป็นเดือนๆ เพราะต้องเอาเงินกลับเข้ากองทุน
เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ พรรคเพื่อไทยจัดปราศรัยใหญ่ที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก
“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ปราศรัยกลางสายฝน เล่นใหญ่…กระชากค่าครองชีพ ประกาศนโยบายการยกเลิกกองทุนน้ำมัน
ในวันนั้นอ้างว่า จะทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน ๙๕ ราคาขายปลีกลดลงถึงลิตรละ ๗.๕ บาท น้ำมันเบนซิน ๙๑ ราคาลดลงลิตรละ ๖.๗ บาท และน้ำมันดีเซลจะมีราคาลดลงถึง ๒.๒ บาทต่อลิตร
พี่น้องเสื้อแดงพากันไชโยโห่ร้อง หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ถึงคราวจะได้ใช้น้ำมันราคาถูก พลิกจากหน้ามือเป็นหลังเท้าทันที
แล้วทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นว่าไง?
โดยเฉพาะ “พิชัย นริพทะพันธุ์”
ใบ้กินซิครับ อ้างว่า “ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน”
วันนี้ “พิชัย นริพทะพันธุ์” วิจารณ์นโยบายน้ำมันเป็นต่อยหอย คุยโม้ว่าถ้าเป็นพรรคเพื่อไทยจะลดราคาน้ำมันดีเซลทันทีลิตรละ ๕ บาท
ถามว่าทำได้มั้ย? ไม่ยากครับ แค่งดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลก็ได้แล้ว
หลังจาก “ยิ่งลักษณ์” เป็นนายกรัฐมนตรี ราคาน้ำมันตลาดโลกไม่เป็นใจ ราคาน้ำมันในไทยพุ่งเป็นน้ำพุ แต่ไม่มีทีท่าว่าจะยกเลิกกองทุนน้ำมันตามที่เคยปราศรัยไว้
ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ “ยิ่งลักษณ์” ชี้แจงในสภาว่าไงรู้มั้ยครับ…
“….การคิดจะยกเลิกกองทุนน้ำมันตามที่หาเสียงเอาไว้ เพราะเห็นว่าขณะนั้นค่าครองชีพสูงมาก และเป็นต้นทุนของสินค้าหลายๆ อย่าง
แต่เมื่อได้มาทำงาน ก็เห็นว่ามีหลายวิธีที่ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องยกเลิกกองทุนน้ำมัน เพื่อลดค่าครองชีพ เช่นการลดราคาน้ำมันลงแทน…”
นโยบายราคาน้ำมันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงเป็นการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทชั่วคราว เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงทันที
รวมทั้งอ้างว่าจะปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้มุ่งสู่การสะท้อนราคาต้นทุนพลังงาน
ช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์น้ำมันทะลุลิตรละ ๔๐ บาท
กองทุนติดลบกว่า ๒ หมื่นล้านบาท
เพื่อให้เห็นภาพนโยบายประชานิยมชัดเจนยิ่งขึ้น ต้องไล่มาตั้งแต่รัฐบาล ทักษิณ ครับ
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ในรัฐบาลทักษิณ กองทุนน้ำมันติดลบถึง ๘๒,๙๘๘ ล้านบาท หนักสุดในประวัติศาสตร์
มาถึงเดือนธันวาคม ๒๕๕๑ ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ราคาน้ำมันดิบโลกลดลงต่อเนื่อง สามารถเก็บเงินใช้หนี้เดิมสะสมจากรัฐบาลก่อนๆ เรียกได้ว่าล้างกระดาน
ฐานะกองทุนน้ำมันกลับมาเป็นบวกที่ ๒๘,๗๖๘ ล้านบาท
ล่วงมายุคกระชากค่าครองชีพ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคาน้ำมันดิบโลกขยับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง
อุ้มน้ำมันเงินไหลออก กองทุนน้ำมันติดลบอีกครั้ง ๒๒,๘๒๐ ล้านบาท
มาถึงรัฐบาล คสช. ปี ๒๕๕๗ ราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มขาลงอีกรอบ
และร่วงยาวเพราะโควิด-๑๙ พลเมืองโลกอยู่กับบ้าน รถราถูกจอดตาย กองทุนน้ำมันของไทยจึงผงกหัวขึ้นอีกรอบ ร่วมหมื่นล้านบาท
ขณะนี้รัฐบาลประยุทธ์ เริ่มนโยบายอุ้มราคาน้ำมันเหมือนรัฐบาลก่อนๆ
และมีแนวโน้มอาจต้องอุ้มไปถึงปีหน้า เพราะเป็นช่วงขาขึ้นของน้ำมันตลาดโลก
อ่านถึงบรรทัดนี้เห็นอะไรมั้ยครับ?
ราคาน้ำมันที่เราใช้ๆ กันอยู่ ขึ้นกับราคาตลาดโลก
มีบางคนบอกว่า กำหนดราคาเองเลย เพราะไทยก็ผลิตน้ำมันเองได้
ความจริงคือการจัดหาน้ำมันดิบของประเทศไทยนั้น เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ๙๐% ผลิตเองแค่ ๑๐%
ถ้ากำหนดราคาน้ำมันเองโดยไม่ต้องอ้างอิงราคาสิงคโปร์ ทำได้หรือไม่ และจะเกิดอะไรขึ้น
คนที่เสนอเรื่องพวกนี้เพ้อเจ้อครับ มันทำไม่ได้
โดยเฉพาะนักการเมืองเลิกนิสัยแย่ๆ เสียที
ตอนเป็นรัฐบาลพูดอย่าง
เป็นฝ่ายค้านพูดอีกอย่าง
แต่อย่างว่าน้ำมันเป็นสินค้าการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร
ฝ่ายค้านมักโจมตีรัฐบาลเรื่องน้ำมันแพงอยู่เสมอ
กลับกันเมื่อไปเป็นรัฐบาล ก็มักแก้ปัญหาด้วยการอุ้มราคาน้ำมันเสมอเช่นกัน ฉะนั้นการบริหารจัดการราคาน้ำมันของแต่ละรัฐบาลแทบไม่มีอะไรต่างๆ
ในส่วนที่ต่างคือ รัฐบาลไหนจะประชานิยมมากกว่ากันเท่านั้นเอง
ถ้าอุ้มเยอะหนี้ กองทุนน้ำมันก็บาน
อุ้มน้อย ถูกชาวบ้านด่าเยอะ แต่สุดท้ายไม่ต้องแบกหนี้เยอะเกินไป มีผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐโดยรวม
ขณะที่ประชาชนเองต้องมีความเข้าใจเรื่องราคาน้ำมันเช่นกัน
มีคนบอกว่าให้เลิกกองทุนน้ำมัน เลิกภาษีต่างๆ เอาเนื้อน้ำมันเพียวๆ ประชาชนจะได้ลืมตาอ้าปากในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง
น้ำมัน ๑ ลิตรประกอบด้วยอะไรบ้าง?
๑.ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ร้อยละ ๔๐-๖๐ คือราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น ที่อ้างอิงราคาสิงคโปร์นั่นแหละครับ
๒.ภาษี ร้อยละ ๓๐-๔๐ เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำไมต้องเก็บภาษีไปตั้งเยอะแยะ ประเทศหากไม่มีการจัดเก็บภาษีก็ไม่มีเม็ดเงินในการพัฒนา
๓.กองทุนต่างๆ ร้อยละ ๕-๒๐ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน ฯลฯ
และ ๔.ค่าการตลาด ร้อยละ ๑๐-๑๘ นี่คือส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ
ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้ประชาชน
ฉะนั้นโดยโครงสร้างราคาน้ำมัน มีเหตุผลในตัวมันเอง
แต่ที่ไม่มีเหตุผลคือนักการเมือง
นับหัวดูได้นักการเมืองฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ผ่านการบริหารจัดการราคาน้ำมันมาแล้ว ถูกด่ามาแล้ว และรู้ว่าต้องแก้ปัญหาแบบไหน และแบบไหนนำมาใช้แก้ปัญหาไม่ได้
รัฐบาลลาออกมันไม่ได้ช่วยให้ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงไปนะครับ
แต่ถ้าเชื่อว่าจริง ทำไม “ยิ่งลักษณ์” ไม่ลาออกตอนน้ำมันลิตรละ ๔๐ บาทล่ะ