โดย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
อธิบดีกรมควบคุมโรค
“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในประเทศไทยปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–22 พ.ย. 62 พบผู้ป่วย 1,961 ราย เสียชีวิต 28 ราย
จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระนอง พังงา ศรีสะเกษ ยโสธร และตรัง ตามลำดับ
ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคใต้ ส่วนอาชีพที่พบมากที่สุดก็ยังเป็นกลุ่มเกษตรกร
โดยตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตรายงานจากภาคใต้สูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีที่ผ่านมา
โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ พบรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย จากจังหวัดตรังและจังหวัดนราธิวาส”
“พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้ยังมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ และประชาชนอาจได้รับเชื้อโรคดังกล่าวจากการเดินลุยน้ำย่ำโคลนได้ โรคไข้ฉี่หนูมักพบผู้ป่วยในหน้าฝนหรือช่วงที่มีน้ำท่วมขัง โดยสัตว์ที่แพร่เชื้อ ได้แก่ พวกสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู เป็นต้น คนมักติดโรคจากการสัมผัสแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือการดื่มกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค อาการที่พบโดยส่วนใหญ่จะมีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อรุนแรง เป็นต้น และอาจทำให้มีอาการรุนแรงเช่น ตับวาย ไตวาย ภาวการณ์หายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ควรหลีกเลี่ยงการแช่น้ำหรือลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์นำโรค ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อโรคควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ต เป็นต้น หากมีอาการไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง หลังสัมผัสจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”