ผักกาดหอม
ไม่ต้องตกใจครับ…
ไม่ร้ายแรงกว่าที่ผ่านมาแน่นอน
หลังเปิดประเทศสิ่งที่ต้องเจอคือ การระบาดของโควิด-๑๙ ในระลอกที่ ๕
แต่ถ้าเข้าใจและยอมรับถึงการอยู่ร่วมกับโควิดไปอีกนาน ก็จะมีระลอกที่ ๖ ที่ ๗ ตามมา สุดท้ายป่วยการที่จะเรียกว่าระลอก เพราะโควิด-๑๙ จะไม่ต่างกับไข้หวัด ที่เราต้องเจอกับมันในทุกๆ ปีหลังจากนี้
วานนี้ (๒๑ กันยายน) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดแถลงข่าว เนื้อหาเกี่ยวกับการรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ กับแผนการใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล หรือ ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ เพื่อรักษาผู้ป่วยในไทย
ไม่ได้เกี่ยวกับการระบาดระลอก ๕ โดยตรง
แต่ก็มีประเด็นน่าสนใจจาก ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
“การคาดการณ์หากมีการระบาดในระลอกที่ ๕ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะไม่สามารถหนีการระบาดได้จากการเปิดประเทศ เพราะมีการเคลื่อนที่ของคน ซึ่งคิดว่าจะเป็นระลอกเล็กๆ และอาจจะมีผู้ติดเชื้อมาก แต่ต้องให้ผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด
ดังนั้นภูมิคุ้มกันของคนไทยจึงต้องสูงมากพอ มีความพร้อมในการรักษาทั้งเตียง ยา และเครื่องมือทางแพทย์”
ที่ต้องเน้นเรื่องการระบาดรอบที่ ๕ ก็เพราะประเทศไทย คนไทยต้องมีความพร้อมในการรับมือ ไม่ใช่ตื่นตระหนกจนทำอะไรไม่ถูก
วันนี้เราเรียนรู้โควิด-๑๙ กันมาพอสมควร
และประเทศไทยช่วงเปิดประเทศเต็มรูปแบบ จะไม่ต่างไปจากอังกฤษในตอนนี้สักเท่าไหร่นัก
คือ แม้จะมีผู้ติดเชื้อเยอะ แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ
และการเสียชีวิตอยู่ในอัตราที่ต่ำมากๆ
แต่นั่นหมายความว่า เราเตรียมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ
ถามว่าเราจะไปสู่จุดนั้นได้หรือไม่
ก็ไม่น่าจะยาก
วันนี้อัตราส่วนคนไทย ๑๐๐ คน ฉีดวัคซีนไปแล้ว ๓๒ คน
ขณะที่ชาวอังกฤษ ๑๐๐ คน รับวัคซีนแล้ว ๗๐ คน
และแผนของไทยคือฉีดให้ได้มากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ภายในสิ้นปี
ฉะนั้นความกังวลเรื่องการระบาดรอบที่ ๕ ไม่น่าจะมากกว่าที่ผ่านๆ มาอีกแล้ว
วันนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนมากเป็นลำดับที่ ๒๐ ของโลกครับ
แต่วัคซีนไม่ใช่เรื่องเดียวที่ต้องเตรียมความพร้อม
ยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งแบบยาเม็ด และยาน้ำ สำหรับเด็กและผู้ใหญ่
ทุกอย่างต้องพร้อมสรรพกว่าที่ผ่านมา
การระบาดครั้งรุนแรงในขณะนี้ แม้จะมีความสูญเสียมากมาย โดยเฉพาะชีวิตประชาชน แต่ก็มีข้อดีคือ เราได้บทเรียนในการแก้ปัญหา วิธีบริหารจัดการ เพื่อนำไปใช้ในการระบาดระลอกต่อไป
หลายคนคงเครียดเมื่อได้ยินคำว่า การระบาดรอบที่ห้า
ของเก่ายังไม่จบ ของใหม่จะมาอีกแล้วหรือ…
มันต้องชั่งน้ำหนักครับ
ในการแถลงข่าว ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย บอกว่า
….การเปิดประเทศ จากการประมาณการในช่วงหลังจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไป อาจจะเห็นจำนวนคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่เยอะเท่ากับครั้งที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดเหมือนที่ผ่านมา
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การเตรียมประเมินสัดส่วนการติดเชื้อ และการรักษามาตรการการป้องกันตัวเองเช่นเดิม ดังนั้นเมื่อไม่สามารถปิดประเทศได้ตลอด ก็ต้องเปิดประเทศและอยู่ร่วมกับโควิด หากมีการติดเชื้อก็ทำการรักษาควบคู่กันไปได้….
ประเทศต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าครับ
ที่จริงวงการแพทย์ ก็ไม่ได้มองไปในทิศทางเดียวกันเสียทั้งหมด
อย่าง รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มองไปอีกทาง
เน้นสู้กับโรคมากกว่าอย่างอื่น
“….ดังที่เคยบอกไปว่า สถานการณ์ระบาดของเรายังสูงหลักหมื่น ติดท็อปเท็นมาต่อเนื่อง ระบบการตรวจคัดกรองโรคมีศักยภาพจำกัด วัคซีนยังไม่ครอบคลุม โดยยังคงมีกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อจำนวนมาก
ตลอดจนบทเรียนที่เห็นจากการระบาดทวีความรุนแรงในพื้นที่ทดลองเปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ สะท้อนถึงความเป็นจริงว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชน และการประกอบกิจการค้าขาย บริการต่างๆ ยังมีปัญหาด้านความปลอดภัย เสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อได้สูง และกำลังมีแรงผลักดันให้เปิดเมือง เปิดท่องเที่ยว และเปิดประเทศดังที่ทราบกัน
จากปัจจัยข้างต้น จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเห็นหนังม้วนเก่ามาฉายซ้ำ แต่การฉายซ้ำอาจหดหู่กว่าเดิมในแง่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระยะยาว และครอบคลุมทุกมิติทั้งปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองประการหลัง
หากดึงดันผลักดันเปิดการท่องเที่ยวและเปิดประเทศ สิ่งที่จะตามมาคือ การระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น และจะเกิดผลกระทบหนักทั้งเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาว…
ก็เป็นเหตุผลน่ารับฟัง แต่การแก้ปัญหามองมิติเดียวไม่ได้
ประเทศไทยล็อกดาวน์มาเกือบครึ่งปี ความสูญเสียจาก “เศรษฐกิจ” กับ “โควิด-๑๙” ยากจริงๆ ครับที่จะบอกว่าอะไรมากกว่ากัน
แต่เราสูญเสียทั้งสองอย่าง
ถ้าจะล็อกดาวน์ต่อจนสิ้นปีจะเกิดอะไรขึ้น
สำหรับคนมีเงินเดือนกิน อาจไม่เดือดร้อนเท่าไหร่
แต่สำหรับกลุ่มคนที่ถูกเลิกจ้าง ถูกพักการทำงาน มีจำนวนมหาศาล การบอกว่าให้ทนต่ออีก ๑ ไตรมาส จะเกิดอะไรขึ้น
ครับ…ถึงต้องย้ำว่าการชั่งน้ำหนักสำคัญสำหรับการอยู่รอดของผู้คนทั้งจากโควิด-๑๙ และเศรษฐกิจ
วันนี้หลายประเทศลอกการบ้านไทย
โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ กำลังได้รับความนิยมจากประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ
แต่ละประเทศพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ได้ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-๑๙ ที่ยังสูงอยู่
ขณะนี้เราเดินนำไปแล้ว จะให้หยุด ปล่อยให้คนอื่นที่เดินตามหลังมาแซงไป ไม่ใช่ความคิดที่ดีเลย
มันถึงเวลาแล้ว…ทุกอย่างต้องไปพร้อมกัน
ธุรกิจต่างๆ ต้องเปิด ยกเว้นที่เสี่ยงมากจริงๆ อาจต้องรอความพร้อมอีกสักระยะ
วัคซีนต้องเร่งฉีดกันเต็มที่ และกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้า จะฉีดให้ได้เดือนละ ๑ ล้านโดส ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือสูตรยาอื่นๆ ต้องพร้อม และมีตุนไว้พอสมควร
น้ำเลี้ยงทางเศรษฐกิจต้องถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ มีมติเห็นชอบกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-๑๙ วงเงิน ๑.๗ แสนล้านบาท
บวกกับแนวคิดปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มอีก ๑๐%
จาก ๖๐% เป็น ๗๐%
ถามว่าดีมั้ย?
ถ้าประเทศอยู่ในสถานการณ์ปกติ ไม่ควรทำ
แต่ขณะนี้เรากำลังเจอวิกฤตระดับโลก
การกู้เศรษฐกิจจำต้องมีเม็ดเงินที่เพียงพอ
และกลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้คือ สถานประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการทั่วไป แรงงานในระบบ ประชาชนทั่วไป เกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ว่างงาน และวัยแรงงาน ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน
แต่กระสุนนัดนี้ต้องเข้าเป้าจริงๆ ซึ่งอยู่ที่ฝีมือของรัฐบาล
ทุกอย่างต้องปรับ
อเมริกา สเปน มาเลเซีย ล้วนขยายเพดานหนี้สาธารณะมาแล้วทั้งนั้น
อเมริกาปรับขึ้นไปถึง ๘๐%
ไม่มีประเทศไหนปิดทุกอย่างเพื่อปราบโควิด-อย่างเดียว
เพราะถ้าขืนทำแบบนั้น ประชาชนจะตาย
ไม่มีจะกินครับ