ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มนักเรียนเลวยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ กับกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ด้วยการนั่งคุกเข่าและส่งหนังสือเหมือนกับที่นักเรียนปฏิบัติต่อครูด้วยความสุภาพ
นับเป็นความพยายามของกลุ่มนักเรียนเลวที่ต้องการสื่อสารว่า พวกตนพยายามทุกทางเพื่อให้กระทรวงแก้ไขตามข้อเรียกร้องของตน ถือเป็นการปรับตัวแก้ไขข้อวิพากษ์วิจารณ์การแสดงออกที่ผ่านมา จากนี้ไปเราจะได้ถามให้ดังขึ้นได้เช่นกันว่ากระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงตนเองอะไรบ้าง
โดยข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ซึ่งตนเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลว ซึ่งมีอยู่ 2 ข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์และการแก้ปัญหาของครูต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ที่ขอตั้งข้อสังเกต เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปพิจารณาและแก้ไข
ข้อที่ 1 กระทรวงศึกษาธิการต้องออกคำสั่งปรับลดตัวชี้วัดชั่วโมงการเรียน ภาระงานของครูและนักเรียนให้ชัดเจน ปรับหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเรียนออนไลน์ในปัจจุบันทันที และข้อที่ 2 จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญในการช่วยเหลือและเยียวยาสภาพจิตใจนักเรียนจากการเรียนออนไลน์ ที่มีความเคร่งเครียดมากกว่าปกติ จัดให้มีช่องว่าง รายงานปัญหาต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบและหาทางแก้
“ข้อเรียกร้องทั้งสองนี้ยืนยันว่านักเรียนที่เรียนออนไลน์มีความเครียดสูงถึงขั้นต้องการผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์มาช่วยแก้ไขสภาพกดดันจนเกิดความเครียดของนักเรียน คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับการเรียนออนไลน์ ข้อเรียกร้องบอกชัดเจนว่าครูสอนออนไลน์ตามภาระงานของครูที่กระทรวงกำหนดและต้องทำให้ได้
ทั้งจำนวนชั่วโมง ภาระงานที่ต้องมอบให้นักเรียน โดยที่ครูไม่ได้คิดว่าการเรียนออนไลน์มีสภาพความจริง ที่เกิดขึ้นคือนักเรียนและครูอยู่ห่างกัน และนักเรียนแต่ละคนต่างอยู่คนละสถานที่ ระหว่างที่ครูและนักเรียน รวมทั้งระยะห่างระหว่างนักเรียน จึงเป็นปัญหาต่อการเรียนรู้ของนักเรียน มีการสอนโดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง
เพราะการเรียนออนไลน์ไม่เอื้อต่อการทำงานกลุ่มที่ต้องมีการอภิปรายระดมสมอง อาจนำไปสู่ความกดดันของเด็ก และยังมีความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับความสามารถของเด็กแต่ละคนแฝงอยู่ด้วย” ศ.ดร.กนก กล่าว
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า แรงแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ยังส่งผล ไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่ จนเกิดความเครียดไปด้วย ประเด็นสำคัญฝ่ายครู คือ เมื่อนักเรียนส่งงานกลุ่มให้ครูแล้ว ครูตรวจการบ้านหรืองานกลุ่ม อย่างมีคุณภาพหรือไม่
ครูจำนวนหนึ่งให้คะแนนผลงานกลุ่มโดยไม่ได้อ่านงานกลุ่มโดยละเอียดด้วยซ้ำไป ส่วนคำแนะนำเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่ครูควรจะต้องให้กับงานกลุ่มของนักเรียนเป็นรายบุคคล ผมแน่ใจว่าครูส่วนใหญ่ไม่ได้ทำ ถ้าครูทุกคนตรวจการบ้านหรืองานกลุ่มอย่างมีคุณภาพ เวลาของครูคงจะไม่เพียงพอสุดท้ายความเครียดของนักเรียนที่ใส่เข้าไปในงานกลุ่มหรือการบ้าน จึงไม่ได้รับการตรวจอย่างมีคุณภาพจากครู
การกำหนดภาระงานและตัวชี้วัดตามแบบแผนที่ดูเหมือนจะดี แต่เมื่อปฏิบัติจริงไม่ได้เกิดผลดี ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ปัญหาข้อเรียกร้องของนักเรียนต่อการเรียนออนไลน์ยืนยันอีกครั้งว่าการเรียน การสอนต้องปฏิรูปใหม่อย่างรวดเร็ว กระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงของสพฐ.ควรจะต้อง เปิดใจยอมรับปัญหาคุณภาพการเรียนการสอนของครูได้แล้ว