นายกฯ ร่วมประชุม GMS ครั้งที่ 7 เร่งยกระดับความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อน GMS สู่ “การบูรณาการ รุ่งเรือง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

9 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 7 (The 7th Greater Mekong Subregion Summit)

ซึ่งราชอาณาจักรกัมพูชาร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสด ภายใต้หัวข้อหลัก “GMS: พลิกฟื้นความแข็งแกร่งเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในทศวรรษใหม่” (GMS: Renewed Strength to Face the Challenges of the New Decade) โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกฯ และองค์การระหว่างประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลงด้วย ดังนี้

ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยสาระสำคัญของถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมฯ พร้อมทั้งชื่นชมความพยายามของประเทศสมาชิกในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มความสามารถ ผ่านการผสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูอย่างรอบด้านและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนใน GMS โดยการประชุมฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา และแสวงหาความร่วมมือที่สร้างสรรค์ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นควรร่วมกันยกระดับความร่วมมือเพื่อสานต่อความสำเร็จของ 3C ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของแผนงานความร่วมมือ GMS ดังนี้

1) Connectivity เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อทั้งภายในอนุภูมิภาคและสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งไทยกำลังพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตามแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR Map) และแผนพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ทางภาคใต้ ซึ่งจะเป็นช่องทางส่งออกและนำเข้าสินค้าแห่งใหม่ของ GMS และสามารถต่อยอดความเชื่อมโยงไปยังประเทศสมาชิกภายใต้แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

ขณะเดียวกัน ไทยมีความพร้อมในการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเข้ากับเส้นทางจากจีน และ สปป.ลาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและขยายห่วงโซ่มูลค่าในอนุภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยยังได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 และ 6 รวมถึงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา เชื่อมโยงบ้านหนองเอี่ยนกับสตึงบท ซึ่งจะส่งเสริมให้ GMS มีความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อที่แท้จริง

สำหรับความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบไทยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิก GMS และ ADB เร่งผลักดันการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเร่งหารือเพื่อผลักดันกฎระเบียบที่เป็นหนึ่งเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ

2) Competitiveness มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจทุกระดับปรับตัวเพื่อให้อนุภูมิภาค GMS มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยไทยให้ความสำคัญกับการเยียวยาควบคู่ไปกับการสร้างศักยภาพของ MSMEs การส่งเสริม E-Commerce และมุ่งใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ ไทยได้พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ควบคู่ไปกับการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อเพิ่มโอกาสการเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าทั้งภายในและนอกอนุภูมิภาค

3) Community เร่งส่งเสริมอนุภูมิภาค GMS ให้เป็นประชาคมที่ครอบคลุม ยั่งยืน และมีอนาคตร่วมกัน โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับอนุภูมิภาคจากโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ โดยไทยได้จัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลการดำเนินงานในระดับอนุภูมิภาค GMS อีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งสนับสนุนความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่มุ่งเน้นดูแลสุขภาพและสุขอนามัยแบบองค์รวม และร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือชายแดน GMS ปลอดภัย ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนการเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อในระดับภูมิภาค

นอกจากนี้ การเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่เน้นการสร้างความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยได้กำหนดให้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เป็นวาระแห่งชาติด้วย

นายกรัฐมนตรีขอบคุณ ADB และหุ้นส่วนการพัฒนาอื่น ๆ ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา GMS มาโดยตลอด พร้อมหวังว่าผลการประชุมในวันนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จ เพื่อสร้าง “อนุภูมิภาค GMS ที่มีการบูรณาการ รุ่งเรือง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ในการประชุมฯ นี้ ผู้นำประเทศสมาชิกฯ ได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่างปฏิญญาร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 7 (2) ร่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 และ (3) ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564-2566

Written By
More from pp
โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท และสนามเรด เมาท์เทิน กอล์ฟ คลับ ธุรกิจในเครือเอ็ม บี เค เข้ารับพระราชทานรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 14 จากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ  
ธุรกิจเครือเอ็ม บี เค โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท โดย นางสาวอาทร วนาสันตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว บริษัท...
Read More
0 replies on “นายกฯ ร่วมประชุม GMS ครั้งที่ 7 เร่งยกระดับความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อน GMS สู่ “การบูรณาการ รุ่งเรือง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง””