เปลว สีเงิน
พระมหา “สมปอง-ไพรวัลย์”
“๒ โล้นส้ม” แห่งสำนักสร้อยทอง ทำไป-ทำมาเป็น “ส้มซ่าไม่หยุด” จริงๆ
จี๊ดดดด…ได้ตลอด!
จาก “ไลฟ์สด” ยกธรรมยำคะนองสองโล้นเป็นสองนางกาสะลอง-ซ้องปีบ อ้างเป็นกลยุทธ์ “ดึงรุ่นใหม่เข้าวัด” นั้น
เรียกเสียงเจริญพร ทั้งบวก-ทั้งลบจากญาติโยมได้ตรึม
เรื่องบันลือไปถึงมหาเถรสมาคม สำนักพุทธฯ เจ้าคณะปกครอง และเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง
เท่าที่ฟัง ทางมหาเถรฯ มอบให้เป็นหน้าที่เจ้าคณะปกครองพิจารณา ถึงตอนนี้ พอสรุปถึงการพิจารณาได้ว่า
เห็นไปทางเดียวกัน….
ไม่ผิดขั้นอาบัติร้ายแรง “ไพรวัลย์-สมปอง” แค่คะนองหลุดกรอบสมณสารูป ว่าด้วยกริยามรรยาทพระไปบ้างเท่านั้น
“ว่ากล่าวตักเตือน” ก็พอ!
ญาติโยมส่วนใหญ่บอก I don’t agree ผ่านโซเชียลอื้ออึง ซึ่งจะว่าไปแล้ว กรณีนี้ ในมุมผม ควรมองแยกเป็นส่วนๆไป
ที่ผู้บริหารสงฆ์ “ว่ากล่าวตักเตือน” ก็เป็นไปตามวินัยพระหรือ “ศีลของพระ” ที่มี ๒๒๗ ข้อ
การคะนองกาย คะนองวาจา ทั้งเล่นตุ๊กตุ่น-ตุ๊กตา หยอกล้อกันเหมือนพระแต๋ว นั่นผิดในหมวดเสขิยวัตร ที่มี ๗๕ ข้อ
ว่าด้วยความไม่สำรวมกริยามรรยาทของพระ เป็นอาบัติมโนสาเร่ คืออาบัติเล็กๆน้อยๆ
ก็ว่ากล่าวกันไปในชั้นแรก จะเอาถึงขั้นให้สึก หรือไล่ออกจากวัด ยังไม่ถึงขนาดนั้น
แต่นั่นแหละ เรื่องอยางนี้ “เบา” ในโทษพระ แต่ “หนัก” ทางสังคมโลก อย่างที่เรียก “โลกวัชชะ” คือโลกติเตียน
อย่างพระเรี่ยไร พระกินข้าวเย็น ดื่มเหล้า ก็อาบัติเล็กน้อยทางสงฆ์
แต่ทางโลก ชาวบ้านถือ “โทษหนัก”
เพราะเจ้ากู กูกราบ สู่องค์พระสมณโคดม แล้วมาทำโสโครก-โสมมเป็นส้ม-เป็นแดง ตะแคงธรรมหากินแบบนี้ได้ไง?!
เมื่อหมู่สงฆ์ว่ากล่าวแล้ว ถ้าไม่ฟัง หรือถึงฟัง แต่ก็ยังประพฤติอย่างนั้นเป็นอาจินต์
เพื่อป้องกันความเสื่อมสู่พระศาสนา…
ผู้ปกครองสงฆ์ อาจขับออกจากวัด หรือให้สึก คือให้กล่าวคำลาสิกขา พ้นไปจากสมณเพศก็ได้
ดูเหมือน “กฎคณะสงฆ์” จะมีข้อนี้อยู่นะ!
ในสังคมโลกเป็นจริง ทุกหมู่คณะ ย่อมมีบุคคลผ่าเหล่า-ผ่ากอปะปน เป็นธรรมดา
ในแร่เพชร-แร่ทอง ก็ยังมีดิน มีตะกั่ว ในข้าวสารก็ยังมีกรวด มีแกลบ ในคนดี ก็ย่อมมีคนไม่ดีปน
พระก็มาจากคน เครื่องจักรคือธรรมจะขัดเกลาคนผู้หยาบหนาที่เข้ามาให้เป็นพระผู้บางเบาในกิเลสตัณหาได้หมดทุกคน ย่อมเป็นไปไม่ได้
อย่าว่าแต่ยุคนี้-สมัยนี้เลย ในสมัยพุทธกาลก็ไม่ต่างกัน ขนาด “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ยังทรงเป็นพระประมุขแห่งสงฆ์อยู่
ก็ยังมีพระนอกรีด-นอกรอยเยอะแยะ ตัวอย่างชัด พระวินัยสงฆ์ ๒๒๗ ข้อนั้น ไม่ใช่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเอง
หากแต่มีพระประพฤติไม่ดี-ไม่งาม ชาวบ้านติเตียน จึงทรงตราเป็นกฎหมายสงฆ์ขึ้นในแต่ละข้อ
อาบัติปาราชิก ทำผิดปุ๊บ ขาดจากความเป็นพระปั๊บ ๔ ข้อ สังฆาทิเสส โทษเบารองลงมา ทำผิดต้องเข้าปริวาสกรรม
คล้ายๆกักตัวสำนึกบาปประมาณนั้น มี ๑๓ ข้อ เป็นต้น
เนี่ย…
พระสมัยพุทธกาล ทำผิดในแต่ละข้อก่อน พระพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติเป็นพระวินัยไล่ตามทีหลัง
พระที่ทำผิด ยกเว้นโทษให้ ในฐานะเป็น “ต้นบัญญัติ”
ที่ยกมานี่ ไม่ได้หมายความว่า ให้ยก “ไพรวัลย์-สมปอง” เป็นต้นบัญญัติยุคนี้ คือไม่ผิดนะ
แต่ยกมาให้ดูในความหมายว่า พระทำพิเรน นอกรีต-นอกรอย มีทุกยุคสมัย ไม่ต้องทำใจ แต่ให้ทำความเข้าใจ
พระที่เป็นต้นบัญญัติสมัยพุทธกาล โด่งดังเท่าไพรวัลย์-สมปองสมัยนี้ มีอยู่องค์ ชื่อ “พระอุทายี”
วินัย ๒๒๗ ข้อ พระอุทายีรูปเดียว เป็นต้นบัญญัติให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติเป็นวินัยสงฆ์ขึ้นมากมาย ไปเปิด “พระวินัยปิฏก” อ่านดูซี สนุกจะตาย
พระอุทายี ก่อนบวชท่านคงเก่งศิลปาการหลายแขนง ออกแบบตกแต่งก็เก่ง ยิงปืน ยิงธนูก็เก่ง
ทางบำบัดศาสตร์ก็เก่ง ทางพ่อสื่อแม่ชักก็เก่ง ทางทะลึ่ง หยาบโลน ชอบเจ๊าะแจ๊ะ-แต๊ะอั๋งสาวๆ ก็เก่ง
เก่งจนญาติโยมนำเรื่องที่พระอุทายีก่อขึ้นแต่ละวันไปฟ้องพระพุทธเจ้าไม่หยุด-ไม่หย่อน จนพระอุทายีมีสร้อยต่อท้ายชื่อว่า
“พระโลลุทายี” อุทายีผู้เลอะเทอะ!
จะยกที่พระอุทายีทำเลอะเทอะจนเป็น “ต้นบัญญัติ” ให้ดูซักเรื่อง เอาเรื่อง “พระภิกษุทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนด้วยกำหนัด ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” แล้วกัน
สรุปความเอาจากพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ เรื่อง “พระเสยยสกะ” ดังนี้
มีพระรูปหนึ่งชื่อ “พระเสยยสกะ” มีความกระสัน ไม่เป็นอันได้ปฏิบัติพรหมจรรย์ จนซูบผอม หมองคล้ำ พระอุทายีเห็นก็ถาม “เพราะเหตุไรจึงซูบผอม เศร้าหมอง คุณไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์กระมัง?”
พระเสยยสกะรับสารภาพ “จริงอย่างนั้น ขอรับ”
พระอุทายีก็แนะ
“ถ้าอย่างนั้น คุณฉันอาหารให้พอ จำวัดให้พอ สรงน้ำให้พอ เมื่อเกิดความกระสัน คุณก็ใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ”
“เอ…ทำเช่นนั้น ควรหรือ ขอรับ?” พระเสยยสกะถาม
พระอุทายีตอบว่า “ควรซิ..คุณ ผมก็ทำอย่างนั้น” เมื่อรุ่นพี่แนะนำก็ทำตาม กินอิ่ม นอนหลับ อาบน้ำสบาย พอเกิดกระสัน ก็ใช้มือปล่อยอสุจิให้เคลื่อนประจำ
พระเสยยสกะ ก็สดชื่น แจ่มใส ผิวพรรณ หน้าตาผุดผ่องขึ้นมาทันที จนพระเพื่อนๆทัก
“นี่..คุณ ได้ยาดีอะไรมาฉันหรือ?”
พระเสยยสกะก็ยิ้มแย้มแจ่มใสตอบว่า “ผมไม่ได้ทำยาฉัน แต่ผมหิวก็ฉันจนอิ่ม ง่วงก็นอนจนเต็มตื่น เหนอะหนะเหนียวตัวก็อาบน้ำจนฉ่ำ พอเกิดกระสันผมก็ใช้มือปล่อยอสุจิ”
เพื่อนพระภิกษุได้ยินเช่นนั้น อุทานขึ้นว่า
“คุณเสยยสกะ คุณปล่อยอสุจิด้วยมือ ซึ่งเป็นเครื่องฉันอาหารที่เขาถวายด้วยศรัทธาอย่างนั้นเชียวหรือ?”
“อย่างนั้นเลย ขอรับ” พระเสยยสกะ ยืดอก
เพื่อนภิกษุต่างติเตียน พากันไปกราบทูลต่อพระพุทธเจ้า ต่อมา ทรงเรียกประชุมสงฆ์สอบถามพระเสยยสกะ ว่า
“ดูกร เสยยสกะ ข่าวว่า เธอใช้มือพยายามปล่อยอสุจิ จริงหรือ?
“จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนเป็นอันมาก แล้วทรงบัญญติเป็นข้อห้าม “พระภิกษุทำน้ำอสุจิให้เคลื่อนต้องอาบัติสังฆาทิเสส”
นี้เป็นตัวอย่าง พระประพฤติไม่เหมาะ-ไม่ควร มีทุกยุค-ทุกสมัย เมื่อชาวบ้านติเตียน ก็นำไปสู่การวางกรอบ-วางระเบียบทางสงฆ์
ดูในพระวินัยปิฎกจะเห็นชัด พระรูปไหนที่ประพฤติไม่ควร พระพุทธองค์จะทรงเรียกพระรูปนั้น ว่า
“โมฆบุรุษ” ทันที!
อย่างพระเสยยสกะ พระอุทายี พระทุกรูปที่เป็นต้นบัญญัติ พระพุทธองค์จะไม่ทรงเรียกชื่อพระนั้นๆ แต่จะทรงเรียก “โมฆบุรุษ”
“๒ โล้นส้ม” ยังโชคดี ที่เป็นพระยุคหลังพุทธกาล ถ้าบวชในสมัยพุทธกาลละก็
วันนี้ ได้เป็น……
“โมฆบุรุษไพรวัลย์-โมฆบุรุษสมปอง” จ๊าดดดไปแล้ว!