ปฏิรูปนักการเมือง – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เสียงเรียกร้องปฏิรูปตำรวจดังขึ้นมาอีกครั้ง
ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลยครับ
เพราะทุกครั้งที่มีเสียงเรียกร้องเช่นนี้แสดงว่า มีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นในวงการตำรวจอีกครั้ง
อีกครั้ง และอีกครั้ง
บางทีมันก็เหมือนปัญหาเส้นผมบังภูเขา
เพราะเราไม่แก้ปัญหาคอร์รัปชัน
ว่ากันตามข้อเท็จจริง ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบัน ไม่มีความพยายามมากพอที่จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นปัญหารากเหง้าของปัญหาอื่นๆ เลย
ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

มอบรางวัลให้จอมซนที่บ้านด้วย Kelly&Co ขนมฟรีซดราย ธรรมชาติ 100%

    ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI (Coruption Perception Index) จัดอันดับโกงทั่วโลก สะท้อนให้เห็นอาการดื้อยาในประเทศไทย
อยู่ในลำดับที่เลวร้ายเสมอมา

    แต่กลับไม่มีผู้นำประเทศยุคไหนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
หรือลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองอย่างเด็ดเดี่ยว และคงเส้นคงวา
“ผู้กินกับโจ้” หรือ “ปฏิรูปตำรวจ” ล้วนเป็นปัญหารอง

    ฉะนั้นจะบอกว่า ปฏิรูปตำรวจ คือการล้างบางตำรวจชั่ว อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด
เพราะตำรวจไม่ใช่ห่วงโซ่สูงสุดของ วงจรคอร์รัปชัน ภายใต้ระบอบอุปถัมภ์
และหลายปัญหาของตำรวจ ไม่สามารถแก้ไขได้โดยการปฏิรูปตำรวจ เนื่องจากบางกรณีเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล

    แต่การปฏิรูปตำรวจ จำต้องดำเนินการเช่นกัน ภายใต้การปฏิรูปการปราบปรามคอร์รัปชันที่จับต้องเป็นจริงได้
หลายประเทศมีการวางระบบตำรวจที่มีประสิทธิภาพ และไทยเองพยายามลอกเขามา เพราะคิดว่าหากทำตามแล้ว ปัญหาที่เกิดจากตำรวจจะหมดไป
ถือว่ายังมองการแก้ไขปัญหาที่้ไม่ตรงจุด

    ยกตัวอย่างอเมริกา มีโครงสร้างตำรวจที่นับว่ายอดเยี่ยม ซับซ้อน และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
เพราะมีระบบกระจายอำนาจมากที่สุด

    ระบบของรัฐบาลกลาง ประกอบด้วยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและกระทรวงยุติธรรม รวมถึง FBI, หน่วยงานปราบปรามยาเสพติด DEA, หน่วยสืบราชการลับ, บริการตรวจสอบไปรษณีย์
หน่วยงานตำรวจและงานสืบสวนอาชญากรรม มีพื้นที่อำนาจกระจายตัวไปทั่ว ๕๐ รัฐ

    สำนักงานนายอำเภอมีพื้นที่หลายพันเขตพร้อมกองกำลังตำรวจของเขต
กองกำลังตำรวจตามชานเมือง ๑,๐๐๐ แห่ง ตามด้วยพื้นที่เขตชนบท ๒๐,๐๐๐ แห่ง
กองกำลังตำรวจประจำหมู่บ้าน ๑๕,๐๐๐ แห่ง

    แบ่งไปเป็นตามแผนกตามความชำนาญเฉพาะด้าน
ได้รับการคุ้มครองการเป็นอิสระในการทำงาน ตามกฎหมายข้าราชการพลเรือน (Civil Service)

    มีสหภาพแรงงาน (Labor Union) คุ้มครอง
มีสิทธิตามกฎหมายที่เรียกว่า Collective Bargaining กับเมืองเกี่ยวกับเงื่อนไขการทำงาน (Condition of work) สวัสดิการ เงินเดือน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของตำรวจเองด้วย
การคอร์รัปชันน้อย แต่ก็ยังมีพบเห็นอยู่

    กระนั้นก็ตาม วงการตำรวจอเมริกายังถูกตั้งคำถามเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ และหลายครั้งก่อวิกฤตทางสังคม เช่น การเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองผิวสี
ที่โด่งดังเมื่อไม่นานมานี้คือกรณี จอร์จ ฟลอยด์

    ตำรวจผิวขาว เดเร็ค เชาวิน ถูกผู้พิพากษาศาลในรัฐมินนิโซตา ตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาสังหารจอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ในเมืองมินนีแอโปลิส เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๓
เพราะใช้เข่ากดที่คอเป็นเวลานานถึง ๙ นาที ระหว่างการจับกุมจน จอร์จ ฟลอยด์ เสียชีวิต
ถูกตัดสินจำคุก ๒๒ ปี ๖ เดือน

    ผู้พิพากษาระบุว่า การกระทำของ เดเร็ค เชาวิน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการ ใช้อำนาจในทางที่ผิด แม้ว่าอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่มีทั้งอำนาจเเละความเชื่อใจจากประชาชน

    รากเหง้าของปัญหานี้คือ อคติและความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน
ต่อให้มีโครงสร้างตำรวจดีแค่ไหน ไม่มีทางแก้ปัญหาได้
เพราะรากเหง้าคือ ความขัดแย้งเรื่องผิวสี

    หันกลับมาที่ไทย
เรามีปัญหาอีกแบบ
คือคอร์รัปชัน

    ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในวงการตำรวจแทบจะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม ล้วนมีต้นตอมาจากปัญหาคอร์รัปชันทั้งสิ้น
แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าระบบการทำงานของตำรวจในปัจจุบันล้าสมัยเกินไป ไม่สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันได้

    สภาปฏิรูปแห่งชาติที่ตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้สรุปผลการพิจารณาเสนอให้รัฐบาลดำเนินการโอนตำรวจ ๑๒ หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามหลักสากล

    ต่อมาหลังรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ บังคับใช้ ได้มีการแต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานการปฏิรูปตำรวจ เสนอรายงานให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในระยะเวลาหนึ่งปีตามที่กำหนด
แต่ไม่ถูกใจนายกฯ

    จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่อีกชุด มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ได้จัดทำรายงานการปฏิรูปพร้อมร่าง  พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติขึ้นใหม่ และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา
แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการนำเข้าสู่สภาฯ เพื่อตราเป็นกฎหมาย

    ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับล่าสุดนี้ มีทั้งสิ้น ๑๗๓ มาตรา
สาระสำคัญ อาทิ

    กำหนดให้เจ้าพนักงานหลายหน่วยเป็นตำรวจประเภทไม่มียศ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล งานพิสูจน์หลักฐาน งานการศึกษาและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

     กำหนดให้การจัดทำแผนงานของกองบังคับการตำรวจจังหวัดต้องหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าสถานี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

    แบ่งสถานีตำรวจเป็น ๓ ระดับ ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ การเลื่อนตำแหน่งครั้งแรกต้องขึ้นขนาดเล็กก่อน ต่อมาอีกสองปีจึงเลื่อนไปขนาดกลางและใหญ่ตามลำดับ

    ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (คพ.ตร.) มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากตำรวจผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งโยกย้าย รวมทั้งการลงโทษทางวินัย

    ให้มีคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กร.ตร.) มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของตำรวจทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่และการประพฤติตนที่ไม่เหมาะสมในกรณีต่างๆ

    การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งให้กระทำในสายงานเป็นหลัก แบ่งออกเป็นสามสายงาน ได้แก่ บริหาร อำนวยการ สอบสวน ป้องกันอาชญากรรม และวิชาชีพเฉพาะ

    กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมประเมินผลให้คะแนนการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ 30 คะแนน และนำไปเป็นคะแนนรวมในการประเมินผลประจำปี ใช้เป็นข้อมูลและหลักฐานประกอบการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี

    ถามว่าขี้เหร่มั้ย?
ก็พอใช้ได้ อย่างน้อยก็เห็นความเปลี่ยนแปลง
แต่อาจไม่ได้แก้ปัญหาแบบ “ผู้กินกับโจ้”
ตราบใดที่ไม่มีการแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้ครบวงจร

    ตำรวจรับส่วยส่งนาย นายส่งให้นักการเมือง นักการเมืองเอาไปเลี้ยงโจร ปฏิรูปตำรวจแล้วไง มันก็ยังมีคนแบบ “ผู้กินกับโจ้” อยู่ดี
ฉะนั้นต้องแก้ไขห่วงโซ่ความเลวที่อยู่เหนือตำรวจให้ได้ด้วย

    แล้วจะแก้ไง?
ปฏิรูปตำรวจเอาไว้ก่อนก็ได้ ลุยปัญหาคอร์รัปชันก่อน
“ลุงตู่” จะทุบโต๊ะมั้ย?
ปฏิรูปนักการเมืองก่อน.


Written By
More from pp
‘บุญเกื้อ ปุสสเทโว’ เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ
18 กุมภาพันธ์ 2565 – นายบดีศร ปุสสเทโว บุตรชาย นายบุญเกื้อ ปุสสเทโว ทีมโฆษกพรรคไทยภักดี ได้แจ้งผ่านเฟซบุ๊ก “บุญเกื้อ...
Read More
0 replies on “ปฏิรูปนักการเมือง – ผักกาดหอม”