“โรคตุ่มน้ำพอง” ไม่ใช่โรคใหม่

ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์  ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคผิวหนังว่า โรคผิวหนังมีจำนวนหลายพันโรค เพราะผิวหนังเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอก เมื่อเกิดผื่น ตุ่ม ฝี หรือ มีร่องรอยต่าง ๆ มักจะเห็นได้ง่าย จึงทำให้มีการตั้งชื่อโรคต่าง ๆ มากมาย บางชื่ออาจไม่เป็นที่คุ้นหูมากนักสำหรับคนไทย    อาทิ เพมฟิกอยด์ ทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคใหม่ ทั้ง ๆ ที่ความจริงมีมานานเป็นร้อยปีแล้ว 

ภูมิต้านทานของคนเรานั้น มีหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม มะเร็ง ฯลฯ คล้ายกับตำรวจ ทหาร ที่คอยปกป้องประเทศ ต้องฆ่าศัตรู โดยต้องไม่ทำร้ายประชาชนของตนเอง แต่บางครั้งภูมิต้านทานเหล่านี้ก็จำผิด เลยกลับมาทำอันตรายอวัยวะของตนเองทำให้เกิดโรคแพ้ภูมิตัวเองขึ้น ลักษณะเหล่านี้เรียกว่า “ภูมิเพี้ยน” คือกลับมาทำร้ายตัวเราเอง

โรคตุ่มน้ำพอง ที่กำลังเป็นกระแสข่าวในขณะนี้ เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้ไม่บ่อยมาก แต่ก็ไม่ใช่โรคหายาก สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่มาทำลายโครงสร้างที่ทำหน้าที่ยึดเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกจากกันกลายเป็นตุ่มน้ำและแผลถลอก รอยโรคสามารถพบได้ทั้งผิวหนังและเยื่อบุ โรคที่พบบ่อยมี 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคเพมฟิกัส และโรคเพมฟิกอยด์

โรคเพมฟิกัส นั้นมักพบในช่วงอายุ 50-60 ปี มีความผิดปกติที่ชั้นผิวหนังกำพร้า จะเกิดในผิวหนังชั้นตื้นกว่า แต่อาจกินบริเวณกว้าง ผู้ป่วยจึงมีแผลเสมือนถูกน้ำร้อนลวกเป็นบริเวณกว้าง และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีแผลถลอกในช่องปากร่วมด้วย  มีอาการเจ็บ และอาจพบแผลถลอกที่เยื่อบุบริเวณอื่นได้  เช่น ทางเดินหายใจ เยื่อบุช่องคลอดและอวัยวะเพศ ที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ แตกได้ง่าย กลายเป็นแผลถลอก มีอาการปวดแสบ หรือ คัน เมื่อแผลหายมักทิ้งรอยดำ โดยไม่เป็นแผลเป็น

 

ส่วน โรคเพมฟิกอยด์ พบได้บ่อยกว่าโรคเพมฟิกัส มักพบในอายุมากกว่า 60 ปี เกิดจากมีการหลุดลอกของชั้นหนังกำพร้าออกจากชั้นหนังแท้ คือเกิดการแยกชั้นของผิวหนังที่ลึกกว่า แต่ก็มักจะกินบริเวณไม่กว้างมากนัก ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการผื่นแดงคันนำมาก่อน ต่อมาเริ่มมีตุ่มน้ำใสขนาดต่าง ๆ กัน โดยตุ่มน้ำมีลักษณะพอง แตกยากหรืออาจแตกออกเป็นแผลถลอก รอยโรคที่เยื่อบุพบได้น้อยกว่าโรคเพมฟิกัส และมักไม่เจ็บ โดยทั่วไปความรุนแรงของโรคมักน้อยกว่าเพมฟิกัส

 

 

โรคตุ่มน้ำพองมักต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาร่วมกับการตรวจทางอิมมูนเรืองแสงในการวินิจฉัยโรคด้วย ยาที่ใช้รักษาเป็นหลักคือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน ในโรคเพมฟิกอยด์ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือ ยากลุ่มที่ไม่ใช่ยากดภูมิคุ้มกัน ในรายที่ตุ่มน้ำหรือแผลถลอกมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย โรคตุ่มน้ำพองมักเป็นค่อนข้างเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี หลังจากโรคสงบแล้วอาจกลับเป็นซ้ำได้ ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นโรคตุ่มน้ำพอง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค

  • ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด
  • ไม่แกะเกาผื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยที่มีแผลในปากควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ปลาแห้ง ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ
  • ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องมารักษาอย่างต่อเนื่อง มาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ทานยาต่อเนื่อง ไม่ควรลดหรือเพิ่มยาเองและดูแลรักษาแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น

Written By
More from pp
กรมการจัดหางาน เร่งกวาดล้างคนต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย แยกราชประสงค์
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรณีมีประชาชนแจ้งเบาะแสผ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์ห้องร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ว่าพบคนต่างชาติหลายรายเข็นรถขายน้ำผลไม้ หน้าห้างสรรพสินค้า...
Read More
0 replies on ““โรคตุ่มน้ำพอง” ไม่ใช่โรคใหม่”