16 ส.ค.64- นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในงานแถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านระบบ VDO Conference ณ ห้อง PMOC ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการศึกษา เข้าร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องโถงอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ให้สาธารณชนได้รับทราบทั่วประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้เรียนในทุกระดับชั้น ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า โดยคำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปกครองนักเรียน รวมถึงครูที่เป็นด่านหน้าในการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียน จึงได้ออกมาตรการลดภาระทางการศึกษา เพื่อเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ทั่วประเทศ รวม 3 มาตรการ ได้แก่
มาตรการที่ 2 อินเทอร์เน็ตฟรีสำหรับการเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา สังกัด สพฐ. รวมถึงนักเรียนนักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา และสังกัด กศน. ที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จำนวน 3.6 ล้านคน รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ในช่วงระหว่างวันที่ 15 สิงหาคมถึง 15 ตุลาคม 2564 (2 เดือน)
มาตรการที่ 3 การลดภาระงานครูและนักเรียน โดยให้ครูลดการรายงานและโครงการต่าง ๆ ให้คงไว้เฉพาะที่จำเป็น ส่วนนอกเหนือจากนี้ให้ชะลอไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวมถึงลดการประเมินต่าง ๆ ทั้งที่เป็นงานของหน่วยงานภายในและภายนอก ให้เหลือ 3 โครงการ หรือ 1% จากเดิมที่มี 72 โครงการ หรือ 32% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูให้มากขึ้น ขณะที่การลดภาระนักเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ต้องเรียนอย่างเต็มที่ ให้ครูและผู้ปกครองร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ โดยให้การบ้านเท่าที่จำเป็น เน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอบ เช่น ภาระงาน การบ้าน พฤติกรรมของนักเรียน เป็นต้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลดกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักไป ทำให้เกิดรูปแบบการดำรงชีวิตวิถีใหม่ที่เรียกว่า New Normal ที่เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรวมถึงกิจกรรมด้านการศึกษาเช่นกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนารูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ผ่านการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน ให้นักเรียนได้รับอุปกรณ์การศึกษา ระบบอินเทอร์เน็ตที่จำเป็นต่อการศึกษาที่บ้าน เพื่อให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ได้รับความรู้อย่างครบถ้วน และมีศักยภาพสูง สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมทั้งให้มีการปลูกฝังวินัย จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม ประวัติศาสตร์ และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อจะเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นย้ำว่า ขอให้ใช้โอกาสนี้ในการทำให้ครู เด็ก ผู้ปกครอง ได้มีโอกาสเรียนรู้ไปด้วยกัน สนับสนุนซึ่งกันและกันในลักษณะ Active Learning โดยขอให้มีการสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้เด็กสนใจ เอาใจใส่ในการเรียน ถึงแม้จะอยู่ที่บ้านก็ตาม ซึ่งผู้ปกครองหลายท่านก็มีภาระ หลายท่านก็อาจจะดูแลได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเด็ก อยู่ที่ครู อยู่ที่วิธีการสอน จะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลครูให้มีการเตรียมความพร้อมรับการศึกษาในรูปแบบใหม่ต่อไปในอนาคต ที่นับวันจะมีการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้นในโลกยุคหลังสถานการณ์โควิดยุติลงแล้ว ที่เรียกว่า New Normal
นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณและชื่นชมทุกคน ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันพัฒนารูปแบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูง สอดคล้องกับการดำเนินวิถีชีวิตใหม่ในสถานการณ์โควิด-19 ในเวลานี้ และช่วยกันสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือลดภาระทางการศึกษาแก่ผู้ปกครอง นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อจะอำนวยและขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงแม้ในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่บัดนี้ ต้องเตรียมให้เด็กมีความพร้อม ให้เป็นเด็กที่เข้มแข็ง เป็นคนดีในสังคม มีจิตสาธารณะ เผื่อแผ่ แบ่งปัน เคารพในสถาบันหลักของชาติ โดยสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างเยาวชน คนรุ่นใหม่ของเราให้มีอนาคต แล้วประเทศชาติก็จะมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอให้ทุกคนปลอดภัย สำเร็จในการทำงาน มีกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข็ง และอวยพรให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ บรรลุผลตามเจตจำนงที่วางไว้ทุกประการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งเด็ก เยาวชนของไทย และผู้ปกครองที่วาดหวังว่าลูกหลานจะเจริญเติบโตได้ในอนาคต มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นจะต้องร่วมมือไปพร้อม ๆ กันเพื่อให้ทุกคนได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ให้รุ่งเรืองต่อไป