กรมวิทย์ฯ รายงานผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.64 – 6 ส.ค.64

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19ในประเทศไทย โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ เครือข่ายห้องปฏิบัติการ ว่า แนวโน้มในภาพรวมของประเทศจากข้อมูลการเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ถึง 6 สิงหาคม 2564

จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,632 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 1,499 ราย (91.9%) สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)จำนวน 129 ราย (7.9%) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 4 ราย (0.2%) โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครสุ่มตรวจ จำนวน 1,157 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา จำนวน 1,104 ราย (95.4%) สายพันธุ์อัลฟา จำนวน 53 ราย (4.6%) ส่วนสายพันธุ์เบตา ไม่พบผู้ติดเชื้อ

ส่วนภูมิภาคสุ่มตรวจ จำนวน 475 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา 395 ราย (83.2%) สายพันธุ์อัลฟา 76 ราย (16%) และสายพันธุ์เบตา 4 ราย (0.8%) โดยขณะนี้สายพันธุ์เดลตาพบแล้วทุกจังหวัด ส่วนสายพันธุ์เบตาสัปดาห์นี้พบเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ โดยพบจังหวัดภูเก็ต 3 รายและจังหวัดพัทลุง 1 ราย

สำหรับสายพันธุ์แลมบ์ดาที่พบในแถบประเทศอเมริกาใต้ ยังไม่พบในประเทศไทยแต่อย่างใด ดังนั้นขอให้ทุกคนช่วยกันเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ และการรักษาระยะห่าง เพื่อหยุดยั้งการแพร่เชื้อ ถ้าเราสามารถหยุดการแพร่เชื้อได้เร็วควบคุมโรคได้เร็วโอกาสที่เชื้อจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆก็น้อยลง ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆ เช่น คนที่มาจากต่างประเทศ บริเวณชายแดน คลัสเตอร์แปลกเกิดขึ้น หรือคนไข้หนัก เป็นต้น

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีมีประชาชนไปตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนนั้น ไม่แนะนำให้ไปตรวจเนื่องจากการภูมิดังกล่าวเป็นการบอกภูมิคุ้มกันทั่วไป อาจจะไม่ใช่การตรวจ Neutralizing antibody เป็นภูมิคุ้มกัน ที่จะกำจัดเชื้อโรค จึงไม่สามารถบอกได้กำจัดเชื้อสายพันธุ์อะไร นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการแต่ละแห่งมีค่าตัวเลขที่แตกต่างกันไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้ว่ามีภูมิคุ้มกันมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้กำหนดค่าที่ชัดเจนว่าอยู่ในระดับที่เท่าไหร่จึงจะสามารถป้องกันโรคได้ ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการศึกษาวิจัยการตรวจภูมิคุ้มกันหลังจากการฉีดวัคซีน ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปว่าควรฉีดวัคซีนลักษณะแบบใดจึงจะเกิดผลดี


Written By
More from pp
ไทย เอเวชั่น มอบ 3,000,000 บาท สมทบทุนจัดสร้างห้อง Negative Pressue Covid19
นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ ประธานผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย เอเวชั่น เซอร์วิส จำกัด มอบหมายให้ ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ พญ. สุจิตราประสานสุข เป็นผู้แทนมอบเงินจำนวน 3,000.000.00 บาท  ให้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเพื่อสมทบทุนจัดสร้างห้อง Negative Pressure COVID-19  จำนวน 1 ห้อง โดยมี ร.ศ. นพ. พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นผู้รับมอบ
Read More
0 replies on “กรมวิทย์ฯ รายงานผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.64 – 6 ส.ค.64”