น้ำในข้อเข่าแห้ง นำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อม 

ข้อเข่ามีเสียง ปวดตึงบ่อยอย่าปล่อยไว้ เพราะอาจเป็นภาวะน้ำไขข้อแห้ง หากไม่รีบรักษาอาจนำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อม  

น้ำไขข้อ หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่าน้ำในข้อเข่า คือน้ำที่มีลักษณะเหนียวและยืดหยุ่น ทำหน้าที่หล่อลื่นภายในข้อเข่าเพื่อลดการเสียดสีและลดแรงกระแทก ช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการลุก นั่ง ยืน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดแรงกดของผิวกระดูกข้อเข่าขณะเดินหรือวิ่ง

โดยธรรมชาติร่างกายจะผลิตน้ำไขข้อได้เองอยู่แล้ว แต่เมื่ออายุมากขึ้นน้ำในข้อเข่าก็จะลดลงตามความเสื่อมของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเร่งให้น้ำในข้อเข่าแห้งเร็วขึ้น ไมว่าจะเป็นน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เกิดอุบัติเหตุหรือข้อเข่าได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตน้ำในข้อเข่า ตลอดจนพฤติกรรมการใช้งานข้อเข่าแบบผิด ๆ เช่น การนั่งพับเพียบหรือนั่งงอเข่าเป็นประจำ และโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคข้ออักเสบต่าง ๆ เช่น เกาต์ รูมาตอยด์

นายแพทย์เปรมเสถียร ศิริธนาพิพัฒน์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า ภาวะน้ำไขข้อแห้งจะทำให้เกิดอาการปวดตึงเข่าได้ง่าย ข้อเข่าเสื่อมสภาพหรือเกิดการบาดเจ็บ เช่น มีเสียงดังในข้อเข่าโดยเฉพาะเวลาเดินหรืองอเข่า มีอาการบวมแดงที่บริเวณหัวเข่า เป็นต้น หากไม่รีบรักษาอาจนำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อมรุนแรงได้

“การรักษาภาวะน้ำไขข้อแห้งนอกจากการใช้ยาแล้ว แพทย์อาจพิจารณาเรื่องการฉีดกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) หรือน้ำไขข้อเทียม โดยเป็นการฉีดน้ำหล่อลื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับสารตามธรรมชาติในเนื้อเยื่อข้อเข่าเข้าไปที่ช่องว่างของผิวข้อเข่า เพื่อลดอาการปวด บวม อักเสบ ลดการเสียดสีและเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของข้อเข่าให้ดีขึ้น โดยจะให้ผลการรักษาประมาณ 6 – 12 เดือน

นอกจากนี้ยังมีการรักษาทางเลือกด้วยการฉีดเกล็ดเลือด หรือ PRP (Platelet Rich Plasma) เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รักษาอาการบาดเจ็บ และลดอาการปวด โดยนำเลือดของผู้ป่วยเองไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ ให้มีความเข้มข้นแล้วนำกลับมาฉีดที่ข้อเข่า ซึ่งการรักษาแต่ละวิธีจะต้องขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและตามการประเมินของแพทย์” นายแพทย์เปรมเสถียรกล่าว

ส่วนการตรวจวินิจฉัยเพื่อดูภาวะน้ำไขข้อแห้ง นอกจากจะซักประวัติ ตรวจดูความผิดปกติทางกายภาพของข้อเข่าแล้ว แพทย์จะตรวจหาบอลลอตเมนท์ (Ballottement) เพื่อดูแรงดันของน้ำในข้อเข่า ตรวจหาบอลลูนไซน์ (Balloon Sign) เพื่อดูแรงกระเพื่อมของน้ำบริเวณผิวด้านนอกข้อเข่า ตรวจความแข็งแรงของข้อ (Stability) ตรวจการเสียดสีภายในข้อ (Crepitation) รวมถึงการเอกซเรย์เพื่อดูความเสียหายในข้อเข่า ทั้งนี้การตรวจแต่ละอย่างขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์

สำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำไขข้อแห้งแล้วไม่รีบรักษา แล้วปล่อยทิ้งไว้จนข้อเข่าเสื่อมรุนแรง การรักษาด้วยวิธีข้างต้นอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร แพทย์อาจต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด 

Written By
More from pp
“เอิร์ธ พงศกร” ประกาศ ลาออก ปชป เหตุหมดความเชื่อมั่น ไร้อุดมการณ์
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 นายพงศกร ขวัญเมือง หรือ เอิร์ธ ลูกชาย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผุ้ว่า...
Read More
0 replies on “น้ำในข้อเข่าแห้ง นำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อม ”