9 ก.ค.64 – นายอิทธิพล ไทยกลม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ชาวบ้านบางกลอยมีอาการเจ็บป่วยกว่า 30 คนรวมถึงเด็กๆ เนื่องจากสภาวะขาดอาหาร นอกจากนี้ยังมีบางส่วนเสี่ยงต่อการติดโควิดว่า ขณะนี้อุทยานฯ มีการคัดกรองบุคคลภายนอกที่จะเข้าสู่พื้นที่อุทยานหรือผ่านขึ้นไปบ้านโป่งลึก-บางกลอย แต่ไม่ได้มีข้อห้ามชาวบ้านในพื้นที่เดินทางเข้าออกแต่อย่างใด ซึ่งได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านมาโดยตลอด ขณะเดียวกันข้อเสนอของคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีบางกลอยที่ต้องการให้ทางอุทยานฯ ตั้งจุดรับบริจาคอาหารและสิ่งของจำเป็นให้ชาวบ้านบางกลอยนั้น
“เมื่อวานนี้หลังจากมีข่าวว่าชาวบ้าน 2 ครอบครัวเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ประสานกับผู้ใหญ่บ้านโป่งลึกและบางกลอยขึ้นไปตรวจอาการ ให้ทำการกักตัวผู้มีความเสี่ยงไว้ 14 คน แต่ทุกคนยังไม่มีใครแสดงอาการป่วย ทางอุทยานได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามอย่างใกล้ชิด หากมีกรณีฉุกเฉินเรายินดีช่วยชาวบ้านและประสานหน่วยงานช่วยเหลือทันที” นายอิทธิพล กล่าว
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านนั้น ยอมรับว่ามีความซับซ้อน เนื่องจากนับตั้งแต่ครั้งแรกที่ชาวบ้านอพยพลงมาปี 2539 มีการจัดสรรที่ดินให้ แต่หลังจากนั้นมีการอพยพกันอีกหลายครั้ง ทางอุทยานฯ ก็มีการสำรวจพยายามจัดสรรที่ดินอีกหลายครั้ง แต่เนื่องด้วยที่ดินจำกัดและครอบครัวมีการขยาย จนการสำรวจล่าสุดในปี 2561 ได้พยายามแก้ปัญหา แต่ถึงปี 2564 มีจำนวนชาวบ้านเพิ่มขึ้นอีก จึงต้องใช้เวลาให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกัน
“ชาวบ้านต้องออกไปทำงานข้างนอก พอเจอโควิดต้องกลับมาก็ไม่มีที่ทำกิน เพราะที่ดินมีจำกัดแค่นั้น จะให้ไปถางป่าเพิ่มก็ทำไม่ได้ ส่วนมาตรา 65 พรบ.อุทยานฯ ที่ผ่อนปรนให้ชาวบ้านไปเก็บของป่าเพื่อดำรงชีพได้ ตั้งแต่ผมมาเป็นหัวหน้าที่นี่เดือนมีนาคมก็ไม่เคยปิดกั้นหรือจับกุม ชาวบ้านสามารถเข้าไปหาหน่อไม้หรือเก็บทรัพยากรที่ขึ้นทดแทนได้ หรือจับปลาได้ ยกเว้นแต่ถ้าการล่าสัตว์ใหญ่ ช้าง กวาง หรือกระทิง ที่ต้องจับกุม เราเข้าใจว่าชาวบ้านจำเป็นต้องหากิน หลังจากนี้จะเร่งการสำรวจร่วมกับชาวบ้าน จัดทำแนวขอบเขตตามมาตรา 65 ให้ชัดเจน” หัวหน้าอุทยานฯ กล่าว
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย กล่าวว่า หลังมีการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรณีขอให้เร่งหามาตรการเยียวยาด้านปากท้องและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังถูกอพยพโยกย้ายและต้องถูกดำเนินคดีจากการกลับขึ้นไปทำกินในพื้นที่บางกลอยบน ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิม แม้จะมีหน่วยงานลงมาในพื้นที่แต่ชาวบ้านยังต้องกินอาหารที่ได้รับบริจาคที่มีสารอาหารไม่เพียงพอ ที่มีเพียงข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือปลากระป๋องเท่านั้น สำหรับบางคนที่พอปลูกพืชอาหารในที่ดินตัวเองได้บ้าง จะเอามาขายในชุมชน แต่จากปัญหาเศรษฐกิจและโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเงินเพียงพอซื้ออาหารเพิ่ม
“เรื่องเข้าไปหาอาหารในป่าชาวบ้านยังกังวลมาก ทีแรกเราเจอโควิดเราก็คิดว่าเข้าไปหาอะไรกินในป่าก็ได้ พวกปลา พืชผักอะไรต่างๆ แต่ว่าตอนนี้ชาวบ้านไม่กล้า กลัวเพราะอุทยานฯ เขาอาจจะลาดตระเวนแล้วมาเจอเรา ตอนนี้ก็ยังกินอาหารเหมือนเดิม เป็นอาหารบริจาค ก็ต้องกินไปเพราะไม่มีอะไรกิน” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
นายพชร คำชำนาญ ผู้ประสานงานภาคี #SAVEบางกลอย กล่าวว่า สถานการณ์ความเจ็บป่วยและการขาดแคลนอาหารของชาวบ้านบางกลอยรุนแรงกว่าคาดไว้มาก เชื่อว่าเป็นการสั่งสมปัญหามาหลายปีนับตั้งแต่ถูกอพยพ เพราะชาวบ้านไม่สามารถทำกินได้ ไม่มีอาหารที่ดีกิน ถูกละเลยมาอย่างยาวนาน เหมือนเป็นระเบิดเวลาที่มาปะทุในช่วงวิกฤตโควิด-19 พอดี ขณะนี้ชาวบ้านกำลังจะอดตาย เป็นภาพสะท้อนว่าชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยนั้นถูกมองว่าเป็นอื่นและเป็นเพียงหน่วยนับทางประชากรในสายตาของรัฐไทยมาโดยตลอด
“ตอนนี้มันคือการทิ้งให้ชาวบ้านตายจริงๆ ไม่ใช่การฆ่าด้วยวาทกรรมอีกต่อไปแล้ว พื้นที่นี้เป็นเหมือนคุกคุมขังชาวบ้านจนเกิดเป็นภาวะขาดสารอาหาร มันคือการถูกบังคับให้อพยพ ถูกบังคับให้อดอยาก คำถามคือในเมื่อสถานการณ์มันมาถึงจุดนี้แล้ว เราควรต้องบังคับกดขี่เขาต่อไปจริงๆ ไหม สังคมไทยหรือสังคมโลกจะได้อะไรจากการทำร้ายชุมชนกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยหรือ เราจะภาคภูมิใจกับมรดกโลกบนความเจ็บป่วยและความตายของชาวบ้านจริงๆ หรือ” นายพชร กล่าว