ต้อง “ล็อก” อีกซักกี่ครั้ง? – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

“ล็อกดาวน์” กลับมาหลอนอีกแล้ว!
คณะแพทย์สาธารณสุข “นำเสนอ” จากป่วยวันละ ๒-๕ พัน ตอนนี้ ทะยานขึ้น “หลักหมื่น” ต่อวัน
ตายก็ทำสถิติใหม่ทุกวัน
จาก “หลักสิบ” รำไรๆ ไปถึง “หลักร้อย” ต่อวันแล้ว!
คนป่วย-คนตายก็เหนื่อย แพทย์-พยาบาล-บุคลากรทางการแพทย์ก็เหนื่อย
โรงพยาบาลไม่เต็ม แต่เตียงเต็ม ห้องไอซียูเต็ม ห้องเก็บศพเต็ม เมรุเต็ม สัปเหร่องานเต็ม เผาจนเตาแตก
“ล็อกดาวน์” ปิดสวิตซ์ซะรอบดีมั้ย?
กรุงเทพฯ, ปริมณฑล รวมถึงจังหวัดที่แเดงแปร๊ด เพราะเดลตามันมาเร็ว-มาแรง แซงทุกป้าย-ทุกโค้ง รั้งไม่หยุด-ฉุดไม่อยู่จริงๆ

นี่…..
ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19 กับคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขศบค., คณบดีคณะแพทยศาสตร์ในพื้นที่กทม. เขาสรุปลงตัวประมาณนี้

โดย “นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” ปลัดสาธารณสุข นั่งหัวโต๊ะประชุม
ด้วยมตินั้น จึงเสนอมาตรการต่อศบค.ชุดใหญ่ตัดสินใจ พร้อมแนบมาตรการปฏิบัติไปด้วย

๑.การตรวจหาผู้ติดเชื้อโดยใช้แรปิด แอนติเจน เทสต์ (Rapid antigen test)
จากเดิม ที่ใช้วิธี RT-PCR ด้วยการ Swab อาจใช้เวลานานหลายชั่วโมง หรือหากมีจำนวนมาก จะต้องใช้เวลาข้ามวัน ทำให้ทราบผลเชื้อล่าช้า
ระหว่างนั้น อาจเกิดการแพร่กระจาย

จึงตกลงใช้ “แรปิด แอนติเจน เทสต์” สนับสนุนการตรวจ ซึ่งในช่วงแรก ให้ตรวจที่สถานพยาบาล ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และมีเตียงรับรองด้วย
ดังนั้น ผู้ที่เข้ารับการตรวจ จะได้รับการตรวจด้วยวิธีนี้ก่อน ถ้าผลเป็นลบ ก็ให้กลับบ้าน

แต่ถ้าผลเป็นบวก จะรับเข้าดูแลในสถานพยาบาลเลย หรือรายที่สงสัย อาจจะมีการตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR และต่อไป….
เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจ จะใช้รูปแบบการตรวจด้วยตนเอง “ที่บ้าน” ให้มากขึ้น จะพิจารณาในเร็วๆ นี้
แต่ “ที่สถานพยาบาล” ทำได้เลยทันที

๒.Home Isolation และ Community Isolation หากตรวจพบติดเชื้อ ต้องใช้รูปแบบนี้ในการรองรับ
โดยสาธารณสุข จะเข้าไปดูแลและติดตาม ถ้ามีอาการมาก คนไข้สีเหลืองและเป็นกลุ่มเสี่ยง จะรับไว้ในสถานพยาบาล

คนที่จะอยู่ในระบบ Home Isolation และ Community Isolationจะต้องเป็นคนไข้สีเขียวเท่านั้น
และจะต้องดูเรื่องความปลอดภัย จะร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ในการดูแลเป็นครอบครัว อาจจะลดเกณฑ์ Home Isolation และ Community Isolation จากเดิมที่จะต้องสามารถแยกตัวอยู่คนเดียวที่บ้านได้ ให้ดูแลเป็นครอบครัว
โดยมีการสนับสนุนอุปกรณ์ในการดูแลตนเองและรายงานมาที่ระบบติดตาม

ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในสถานพยาบาลในวันที่ ๑๐ หรืออาจจะสั้นกว่า กลับไปดูแลที่ Home Isolation เพื่อลดเตียงให้คนที่จำเป็นได้เข้าสู่ระบบรพ.ได้

๓.เน้นมาตรการบุคคลต่างๆ อย่างเข้มงวด เพราะตอนนี้มีความกระจาย โดยต้องเน้นสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ
โดยที่ทำงานก็ต้องระวัง อย่ารับประทานอาหารร่วมกัน ที่บ้านก็เช่นกัน ขอให้ต่างคนต่างรับประทานอาหาร และขอให้ Work From Home มากขึ้น

แล้วนายกฯ “บิ๊ก ศบค.” ว่าไง?
ก็เห็นโพสต์จากสถานที่กักตัว ๑๔ วัน ตอนหนึ่ง ว่า

“….ผมได้เรียกประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในเช้าวันพรุ่งนี้ (9 ก.ค.) เพื่อพิจารณามาตรการที่ฝ่ายต่างๆได้เสนอเข้ามา และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบโดยทันทีครับ”

ก็หมายความว่า….
เที่ยงๆ บ่ายๆ วันนี้ “ล็อก-ไม่ล็อก” เดี๋ยวก็รู้!

แต่ภาษาหมอนี่ “ฟังยาก” แฮะ อ่านมาตรการ ๓ ข้อจบ มองหน้ากันเลิ่กลั่ก หมอเขาว่าไรของเขา (วะ)?

ขอถอดรหัสให้พอเข้าใจกันหยาบๆ ละกัน

-ต่อจากนี้ จะไม่ใช้วิธี “แยงจมูก” ตรวจโควิด รู้ผลแน่นอนก็จริง แต่ช้า
-ใช้ชุดตรวจ Rapid antigen test แทน ตรวจเร็ว รู้ผลเร็ว เป็นบวกค่อยนอน เป็นลบกลับบ้าน ช่วยแก้ปัญหาเตียงเต็ม
-ขั้นต่อไป ให้ใช้ชุด “แรปิด เทสต์” ตรวจกันเองที่บ้าน
-ถ้าตรวจพบติดเชื้อ ใช้วิธี Home isolation คือรักษาเองที่บ้าน แต่ต้องแยกห้องอยู่ ห้ามเยี่ยม-ห้ามประกัน

ทีมแพทย์จะส่งที่วัดไข้, เครื่องวัดออกซิเจน พร้อมคำปรึกษาไปให้ถึงบ้าน วันหนึ่งโทรสอบถามอาการ ๑ ครั้ง ถ้าไม่มีอาการ จะสั่งจ่ายฟ้าทลายโจร แต่ถ้าเริ่มมีอาการ จะสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ส่งมาให้

อาหารการกิน ไม่ห่วง….
ส่งปิ่นโตให้วันละ ๓ มื้อ ไม่เสียเงิน ทางสปสช.จ่ายใหค่าอุปกรณ์ไม่เกิน ๑,๑๐๐ บาท ค่าดูแลผู้ป่วยรวมอาหาร ๓ มื้อ ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท/วัน
ส่วน Community Isolation ก็คล้ายกัน เปลี่ยนจากกักตัวที่บ้าน เป็นดูแลตนเองในระบบชุมชน

นี่เป็นมาตรการใหม่ที่สาธารณสุขเสนอใช้กับคนป่วยสีเขียว คือป่วยน้อยหรือป่วยแบบไม่มีอาการ ให้รักษาตัวเองที่บ้าน
เว้นแต่หนักจริงๆ ค่อยไปโรงพยาบาล พอเข้าใจ “ภาษาหมอ” ตามที่ปลัดสธ.แถลงด้วยศัพท์แสงกันแล้วนะ

“ป่วยน้อย-นอนบ้าน” ในยุโรป อังกฤษ-อเมริกา เขาทำอย่างนี้ทั้งนั้น บางโรงพยาบาลในบ้านเรา ก็ทำ

แจ้งไป เขาจะส่งพาราเซตามอลมาให้กิน พร้อมเครื่องวัดไข้ แต่อย่าออกไปไหนนะ หนักจริง โทรไปก็จะมารับ ก็รับบ้าง-ไม่รับบ้าง ตายคาบ้านบ้าง
ภาวะไวรัส “จัดระเบียบโลกใหม่” มันก็เช่นนี้ ขมขื่น แต่ก็ต้องทำใจ ในเมื่อป่วยกันทั้่งประเทศ!

ก็ไม่รู้นะว่า ศบค.ชุดใหญ่ไฟกะพริบ เขาเอายังไง?
“ล็อกกดาวน์” ทั้งเมือง เหมือนเดือนเมษา.หรือล็อกบางจุด-บางพื้นที่ เท่าที่จำเป็นตามสถานการณ์จริง?

หมอท่านยอมรับตรงๆ ว่า “เหนื่อย” เกินคำว่า “ล้า” แล้ว กับสภาพป่วยวันละ ๕ พัน และถึงหมื่นแน่ ป่วยสะสมคมคาเตียงอีกเกือบ ๓ แสน
ถ้าปล่อยไปแบบนี้ โดยไม่ทำอะไรเลย มีความเป็นไปได้ กรุงเทพฯ บรรยากาศท้ายยุค รัชกาลที่ ๒ ต่อรัชกาลที่ ๓ อาจ รีเทิร์น

“แร้งวัดสระเกศ-เปรตวัดสุทัศน์” นั่นแหละ!

สำหรับความเห็นส่วนตัวผม……
ไม่อยากให้ “ล็อกดาวน์” กรุงเทพฯ ถ้าจะล็อก ควรดูแผนภูมิ ว่าจุดไหนคือ “รังโควิด” กระจุก และที่แพร่กระจายออกมา
เห็นว่ามี ๒-๔ แหล่งแพร่ ก็ไปสกัดที่ต้นตอ ส่วนจะล็อกดาวน์พื้นที่ไหน ก็พิจารณาเป็นจุดๆ ไป

ไม่อยากให้มีคำว่า “ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ” เกิดขึ้นอีก!
ให้จิตสำนึกแต่ละคน “ล็อกดาวน์ตัวเอง” บ้างดีกว่า ป่านนี้แล้ว ถ้ายังไม่สำนึก แสดงว่าเขาพร้อมป่วย-พร้อมตาย

ก็ควรปล่อยเขา เพราะเขาเป็นมนุษย์พันธุ์สิทธิเสรีภาพขึ้นสมอง

ก็เห็นมั้ยล่ะ โควิดระบาดตึงๆ ยังออกมาชุมนุม ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ถอดหน้ากาก กินเหล้า พ่นบุหรี่เย้ย

ที่พุ่ง ๕ พัน ๗ พัน ถึงหมื่น ส่วนหนึ่งก็มาจากพวกนี้ แล้วนำไปติดครอบครัว “ป่วยยกบ้าน” ก็มีตอนนี้
ถึงล็อกดาวน์ไป เปิดมา…มันก็ระบาดอีก

งั้นอยู่กับความจริงไม่ดีกว่าหรือ ติดกันมากๆ เชื้อกับภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้น มันก็จะได้คุ้นเคยกัน ซักพัก จากไวรัส กลายเป็นหวัดไปเอง!
ผมว่านะ มาถึงป่านนี้แล้ว “นับเงินดีกว่า”

“นับป่วย-นับตาย” ไปเพื่ออะไร?

Written By
More from plew
“พระเจ้าแผ่นดิน” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน เมื่อพิธีพระราชทานเพลิงศพผ่านไป (๑๑ ตค.๖๕) ทุกอย่างก็จากลา… เหลือแต่ความเงียบเหงาห่อหุ้มความว้าเหว่-อ้างว้างในหัวอกคนเป็นพ่อแม่-พี่น้องของทูตสวรรค์ตัวน้อยๆ ที่คืนกลับสู่สวรรค์กันแล้ว
Read More
0 replies on “ต้อง “ล็อก” อีกซักกี่ครั้ง? – เปลว สีเงิน”