หยุดโควิดอยู่ที่ ‘คน’ -ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

โควิด-วัคซีน

ดูเหมือนยาก แท้จริงแล้วยิ่งกว่ายาก

            ที่ว่ายากคือการทำความเข้าใจ

            ความรู้เรื่อง ไวรัสโควิด-๑๙ และวัคซีนโควิด เปลี่ยนไปแทบทุกวัน

            ฉะนั้นความรู้เมื่อวานอาจใช้ไม่ได้กับความรู้ในวันนี้

            และความรู้ในวันนี้ อาจเก่าไปแล้วสำหรับวันพรุ่งนี้

            แต่เรื่องเก่าที่เราไม่รู้ก็มีเยอะ

            ฟัง “วิษณุ เครืองาม” ให้สัมภาษณ์วานนี้ น่าจะทำให้ความเข้าใจเรื่องวัคซีนกระจ่างขึ้น

            ไม่ใช่ประเด็นวัคซีนยี่ห้อนี้ป้องกันโควิดได้กี่เปอร์เซ็นต์ ยี่ห้อโน้นฉีดแล้วชัวร์กว่าอีกยี่ห้อ เพราะโอกาสตายน้อยกว่า

            แต่เป็นเรื่องสัญญาซื้อขายวัคซีน

                “…ผมได้มีโอกาสดูสัญญาบางฉบับ ที่กระทรวงสาธารณสุขนำมาให้ตรวจดูก็รู้สึกแปลกใจ

                เพราะฝ่ายผู้ขายหรือผู้ผลิตบอกว่าถ้าไม่เซ็นสัญญาไม่ต้องซื้อของจากเขา และมีเงื่อนไขว่าถ้าส่งล่าช้าจะไม่รับผิดชอบ

                บางยี่ห้อบอกไม่คืนเงินและเราไปคิดค่าปรับ ยึดทรัพย์  หรือฟ้องร้องอะไรไม่ได้ และไม่รับผิดชอบความเสียหายใดๆ

                ที่สำคัญคือระบุว่าห้ามเปิดเผยสัญญา เนื่องจากการขายให้แต่ละประเทศเขียนสัญญาไม่เหมือนกัน

                มีทั้งเอื้ออารี และเข้มงวด

                ถ้าใครเอาไปเปิดเผยจะขายให้ครั้งเดียวและไม่ขายให้อีกเลย

                จะเห็นว่าที่ผ่านมาฝ่ายรัฐบาลจะไม่พูดเรื่องสัญญาการซื้อวัคซีนเลย แต่ยืนยันว่ารัฐไม่ได้โกหกหรือหลอกลวง

                แต่ในบางเรื่องพูดไม่ได้ ทำให้บางคนที่พยายามพูดให้ดูดี จนกลายเป็นทำให้รัฐถูกมองว่าพูดกลับไปกลับมา…”

            นี่แหละครับถึงบอกว่า บริษัทวัคซีนทุกบริษัทในโลกนี้ดีลกับรัฐบาลเท่านั้น

            เอกชนรายไหน หรือคนที่ไม่ใช่คนของรัฐบาลคนไหน เคลมว่าตัวเอง ติดต่อขอซื้อวัคซีนกับบริษัทโดยตรง และติดต่อมานานแล้ว สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ตอแหล

            เพราะวัคซีนทั้งหมดยังใช้ในกรณีฉุกเฉิน

            ฉีดแล้วเจ็บ-ตาย ฟ้องร้องบริษัทวัคซีนไม่ได้ รัฐบาลแต่ละประเทศจึงต้องตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยเยียวยา

            ประเทศไหนมีวัคซีนทางเลือก ดำเนินการโดยโรงพยาบาลเอกชนหลังได้รับจัดสรรวัคซีนจากการดีลให้โดยรัฐบาล ก็บังคับขายประกันพ่วง พร้อมส่วนต่างกำไร

            โรงพยาบาลเอกชนใจไม่ถึงพอที่จะควักเงินเยียวยาให้ครับ

             ที่จริงประเด็นนี้น่าจะจบไปนานแล้ว แต่ก็ยังมีคนขุดมาแซะกันอยู่เรื่อยๆ ว่า รัฐบาลกันท่าไม่ให้เอกชนนำเข้า

            ครับ…ทีนี้มาถึงประเด็นสำคัญ

            จากนี้ไปวัคซีนหลักของไทย ไม่ได้มีแค่ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า

            จะมี สปุตนิก วี, ไฟเซอร์ และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ตามมาช่วงปลายปี ถึงต้นปีหน้า

            และอาจรวมถึงวัคซีนสัญชาติไทยแท้ “HXP-GPOVac” เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย จากความร่วมมือวิจัยพัฒนาระหว่าง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ด้วย

            เพราะจะเริ่มทดสอบในมนุษยระยะที่สองเดือนสิงหานี้แล้ว

            นั่นคือวัคซีนหลัก

            วัคซีนหลักก็คือวัคซีนฉีดฟรีโดยรัฐบาล

            ส่วนวัคซีนทางเลือก ขณะนี้เข้ามาแล้วคือ ซิโนฟาร์ม  ประมาณ ๒ ล้านโดส

            เตรียมนำเข้าอีกประมาณ ๓ ล้านโดส

            อีกยี่ห้อคือ โมเดอร์นา ที่กำลังตกเป็นข่าวดรามา ล็อตแรก ๕ ล้านโดส

            วัคซีนทางเลือกก็คือวัคซีนนำเข้าโดยเอกชนผ่านการดีลของรัฐ

            เป็นวัคซีนฉีดแบบเก็บเงิน

            ซิโนฟาร์ม เก็บเงินองค์กร หน่วยงาน รัฐและเอกชน  เพื่อไปฉีดให้คนในองค์กร หรือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบฟรี

            สำหรับโมเดอร์นา ใครอยากฉีดเก็บรายหัวพร้อมประกันภัย เก็บเงินก่อนฉีดทีหลัง

            นั่นคือข้อมูลพื้นฐานที่รู้กันอยู่แล้ว แต่ต่อให้รู้ก็มีคนนำไปบิดเบือนข้อเท็จจริงกันรายวัน แถมมีคนพร้อมจะเชื่อด้วย

            บางคนบอกว่าเห็นมั้ยสุดท้ายรัฐบาลเลิกแทงม้าตัวเดียว เตรียมนำ สปุตนิก วี, ไฟเซอร์ และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เข้ามา

            จะคิดแบบนั้นก็ได้ แต่มันเกิดจากที่เกริ่นไว้ข้างต้นคือ ความรู้เรื่อง ไวรัสโควิด-๑๙ และวัคซีนโควิด เปลี่ยนไปแทบทุกวัน

            เดิมทีไม่มีไวรัสกลายพันธุ์

            เริ่มแรกไม่มีใครรู้ว่า วัคซีนแต่ละชนิดสามารถป้องกันไวรัสได้แค่ไหน

            เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างปรากฏเป็นวิทยาศาสตร์  มันก็ต้องปรับเปลี่ยนครับ

             ฟังคุณหมอ อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโคโรนาไวรัส 2019 (ศบค.)  แถลงวานนี้ ชัดเจนเข้าใจง่าย

            สายพันธุ์เดลตาระบาดแล้ว ๙๖ ประเทศ

            สำหรับไทยเพิ่งจะพบสองเดือนที่แล้ว

            เดิมทีสายพันธุ์อัลฟาระบาดในไทย ๘๕-๙๐ แต่ตอนนี้ ภาพรวมเป็นเดลตา ๓๐%

            ใน กทม.-ปริมณฑล กว่า ๕๐% เป็นเดลตา

            ไฟเซอร์เจออัลฟาประสิทธิภาพการป้องกันลดลง  ๗.๕ เท่า เจอเดลตาลดลง ๒.๕ เท่า

            ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าเจอเบตาลดลง ๙ เท่า เจอเดลตาลดลง ๔.๓ เท่า

            ซิโนแวค พบว่า ๒ เข็ม เมื่อเจอเดลตาลดลง ๔.๙ เท่า

            ถ้าแปลงตัวเลขทางคลินิกวัคซีนที่กระตุ้นภูมิได้สูงสุด คือวัคซีน mRNA หมายถึงไฟเซอร์ และโมเดอร์นา  รองลงมา แอสตร้าฯ ซิโนแวค

            ในแง่การป้องกันโรค พบว่าไฟเซอร์ ป้องกันเดลตา ลดลงจาก ๙๓% เหลือ ๘๘% แอสตร้าฯ ลดลงจาก  ๖๖% เหลือ ๖๐%

            แต่ที่สำคัญวัคซีนที่มีตอนนี้สามารถป้องกันการต้องนอนโรงพยาบาล เจ็บป่วยรุนแรงได้

            ไฟเซอร์ป้องกันได้ ๙๖% แอสตร้าฯ ป้องกันได้ ๙๒ %

            ซิโนแวค ๒ เข็ม สามารถป้องกันเจ็บป่วยและตายได้มากกว่า ๙๐%

            ฉะนั้นความรู้ที่ต้องปรับ ณ เวลานี้คือ วัคซีนทุกตัวไม่มีทางป้องกันได้ ๑๐๐%

            แต่ทุกตัวมีประสิทธิภาพ ป้องกันการป่วยรุนแรงหรือตายได้เกิน ๙๐%

            รวมทั้งซิโนแวค ก็สามารถป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงได้

            ขณะนี้ถือเป็นการระบาดระลอกที่ ๔ แล้ว เพราะเป็นสายพันธุ์เดลตา

            พฤติกรรมระบาดไม่เหมือนเดิม เพราะแพร่ระบาดในชุมชน ในครอบครัว ในองค์กร หาที่มาที่ไปไม่ได้ เข้ากับคำจำกัดความ “เวฟใหม่”

            และยังติดเชื้อระดับ ๕-๖ พันต่อวัน

            คำถามยอดฮิตคือจะจบเมื่อไหร่

            คำตอบคือขึ้นกับการเคลื่อนไหวของคน

            เพราะเชื้อโรคไปเองไม่ได้.

Written By
More from pp
ประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ 5th ASEAN Youth Speech Contest  
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขอเชิญนักเรียน นิสิต นักศึกษา อายุระหว่าง 15-25 ปี ที่มีสัญชาติใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วมประกวดสุนทรพจน์เยาวชนอาเซียน
Read More
0 replies on “หยุดโควิดอยู่ที่ ‘คน’ -ผักกาดหอม”