วันที่ 24 มิถุนายน 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) โดย พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ศารุติ แขวงโสภา, พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติ กรณีจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้รับอนุญาต
สืบเนื่องจาก การปฏิบัติงานในช่วงเดือนเมษายน 2564 บก.ปคบ.ร่วมกับ อย.ตรวจค้นสถานเสริมความงามที่ไม่ได้ รับอนุญาต (คลินิกเถื่อน) และจับกุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต (หมอกระเป๋า) พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ผิดกฎหมายได้เป็นจำนวนมาก
ตรวจสอบพบมีการใช้กรดไฮยาลูโรนิก ชนิดฉีด เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของผิวหนัง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม (ฟิลเลอร์) ที่ไม่ได้รับอนุญาต ฉีดให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งอาจเกิดอันตรายแก่ร่างกายได้
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ.จึงได้สั่งการให้ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ.ประสานข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสืบสวนขยายผลหาแหล่งนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้รับอนุญาต ดังกล่าว
จากการสืบสวนขยายผลทราบว่า เครือข่ายที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กับสถานเสริมความงามและหมอกระเป๋าดังกล่าว อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม
เช่น ฟิลเลอร์ โบทอกซ์ เมโส คอลลาเจน กูลต้า ยาชาครีม วิตามินบี วิตามินซี จำนวนหลายรายการ มูลค่ากว่า 3,000,000 บาท จากอาคารพาณิชย์ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเจ้าของอาคารพาณิชย์ให้การรับว่า เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้รับอนุญาต และจำหน่ายให้กับสถานเสริมความงาม และหมอกระเป๋าจริง
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ทั้งหมด นำส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้น จากการสอบสวนพบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาทและฐาน “ขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ฐาน “ผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการต่อผู้อนุญาต” ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฝากความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชน ควรใช้บริการกับสถานเสริมความงามที่น่าเชื่อถือ ควรตรวจสอบใบอนุญาตและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาที่จะใช้ว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง และแจ้งเตือนผู้ที่กำลังกระทำความผิด ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เช่น ฟิลเลอร์ โบทอกซ์ ที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด 19 ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย จึงได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเร่งรัดดำเนินการเพื่อคุ้มครองประชาชน ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่าสาวไทยส่วนใหญ่ รักสวยรักงามและชอบที่จะเข้ารับบริการเสริมความงามทำให้มีการโฆษณาขายยาฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ คอลลาเจน กลูตาไธโอน และเครื่องสำอาง ตามคลินิกเถื่อนอย่างแพร่หลายผ่านทางเว็บไซต์
จึงขอเตือนผู้ที่ต้องการรับบริการให้ระวัง และควรเข้ารับบริการฉีดกับสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาลตามกฎหมาย เลือกที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ตลอดเวลาทำการ ก่อนการฉีดควรสอบถามและขอดูตัวยาที่ใช้ว่ามีการอนุญาตขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจาก อย. หรือไม่
เพราะอาจเสี่ยงต่อการเสียโฉมหรือเสียชีวิตตามที่เป็นข่าวมานับไม่ถ้วน เพราะการศัลยกรรมหรือการฉีดบนใบหน้าต้องดำเนินการโดยแพทย์ที่มีความรู้ด้านกายวิภาคบนใบหน้าเป็นอย่างดี เนื่องจากบนใบหน้ามีกล้ามเนื้อเล็ก ๆ และเส้นเลือดมากมาย จึงต้องฉีดด้วยความระมัดระวัง หากเกิดอันตรายจากการแพ้ ทางสถานพยาบาลจะได้รับผิดชอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงที หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556