ผักกาดหอม
ต้องเดินหน้าต่อไปครับ….
ถูกต้องแล้วที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการเปิดภูเก็ต และพื้นที่เกาะสมุย พะงัน เกาะเต่า ตามที่ ศบค.เสนอ
เพราะถ้าไม่เริ่มตอนนี้ ไม่มีแรงกระตุ้น
ไม่มีทางที่จะเดินไปสู่เส้นทาง ๑๒๐ วันเปิดประเทศได้
แต่ก็มีคนตกใจ!
เพราะวานนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเกิน ๔ พัน
มีคำถามถาโถมว่า แล้วจะเปิดประเทศได้แน่หรือ
ไม่มีใครรู้ครับว่าจะเปิดได้สำเร็จ หรือต้องอยู่แบบนี้ต่อไป
แต่มีคนทำให้เป็นจริงได้
คือ….ประชาชนทุกคน
ลำพังรัฐบาลยากครับ ที่จะเป็นจริงได้
ขณะที่มิติของหมอ ดูจะเป็นห่วงนโยบายของรัฐบาลเป็นพิเศษ
เฟซบุ๊ก “นิธิพัฒน์ เจียรกุล” ของ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ตำหนิมาตรการเปิดประเทศ ค่อนข้างรุนแรง
“…บ้านนี้เมืองนี้ มีตัวอย่างธรรมาภิบาล (good governance) ให้ลูกหลานดูเป็นตัวอย่างกันบ้างไหม
ไล่มาจากระดับหัวเรือใหญ่ที่ประกาศกระชากใจภาคการแพทย์ด้วยการเตรียมการเปิดประเทศ ยังสงสัยว่าอาจจะเป็น ๑๒๐ วันอันตรายได้ ถ้าไม่มีแผนเคลียร์ปัญหาโควิด-๑๙ ที่ยังคั่งค้าง (back log) ขณะนี้ให้ชัดเจน
ระดับรองมาหน่อยเป็นแผนกระจายวัคซีนเดือนหน้า มีจังหวัดชายแดนบางจังหวัดที่ไม่มีช่องทางผ่านแดนเป็นทางการ แต่อยู่ในข่ายได้รับวัคซีนในระดับ ๒ (อาจด้วยเหตุผลเมืองกีฬา ซึ่งคงมีอีกหลายเมืองไม่น้อยหน้ากัน) รองมาอีกนิดก็ขอแบ่งวัคซีนดื้อๆ จากลูกน้องในหัวเมืองเพื่อเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ แต่ไปไม่รอดต้องรีบกลับลำ และหน่วยงานท้ายสุดที่กระดี๊กระด๊า ชกลมรอมาหลายรอบ
ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในเมืองหลวงไข่แดงประเทศ ที่ครองแชมป์ต่อเนื่องยาวนานในระลอก ๓ ของผู้ติดเชื้อสูงสุด รวมไปถึงยอดผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ และยอดผู้เสียชีวิต
ซึ่งถึงเวลาที่โพสต์นี้ยังไม่มีแววจะลดลงได้ โดยไม่มีมาตรการประกอบการผ่อนคลายที่ชัดเจนว่าจะควบคุมไม่ให้มีการละเมิดอย่างไร
ช่วง ๓-๔ วันนี้ใครอยู่ในแวดวงการบริหารจัดการเตียงระดับ ๓ ในเขต กทม.
สำหรับรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรงและอาการวิกฤติระหว่างโรงพยาบาล ต้องกุมขมับเพราะสถานการณ์เตียงเริ่มคับขัน
จนกลับไปเหมือนเมื่อปลายเดือนที่แล้วที่หลายคนอยากกลั้นใจตาย
แถมผู้ป่วยหนักระลอกใหม่นี้มีสัดส่วนที่สูง ซึ่งเป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง และมีหลายรายที่สืบสาวหาต้นตอการรับเชื้อไม่ได้ชัดเจน
ซึ่งหมายถึงเชื้อได้ระบาดซึมลึกเข้าไปในชุมชนทั่วไปแล้ว ไม่ได้อยู่แต่ในกลุ่มก้อนทั้งใหม่และเก่าที่โผล่ขึ้นมามากมายเป็นดอกเห็ดจนจดจำกันไม่หวาดไม่ไหว
ก่อนจะคิดก่อนจะทำอะไร เคยถามและรับฟังอย่างใส่ใจ จากภาคการแพทย์ส่วนที่เขาทำงานกันอยู่อย่างหนักหน่วงบ้างไหม
จะโทษส่วนน้อยของภาคการแพทย์ที่ชงข้อมูลซึ่งขัดความรู้สึกส่วนใหญ่ขึ้นมาให้ก็คงใช่ที่
เพราะคำพูดที่ออกสู่สาธารณะแล้ว ถือเป็นสัญญาประชาคมแบบหนึ่งที่ผู้พูดต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว
แต่ดินแดนสารขัณฑ์แห่งนี้มีตัวอย่างให้เห็นกันมามากมายแล้วในอดีตว่า คำพูดไม่เคยเป็นนายคน (ที่ไม่มีธรรมาภิบาล) เหมือนดังคนโบราณสอนสั่ง…”
ครับ…เป็นการตำหนิที่ค่อนข้างรุนแรง แต่มีเหตุผล
ก็ไม่รู้ว่า หัวเรือใหญ่อย่างนายกฯ ประยุทธ์ ถามหมอก่อนหรือเปล่า
ที่แน่ๆ คือมีหมอใน ศบค.เต็มไปหมด
ถ้าไม่ปรึกษาหมอ แล้วออกนโยบายเอง ก็เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ที่เลี่ยงไม่ได้หากไม่สามารถเปิดประเทศใน ๑๒๐ วันได้
หรือเปิดได้ แต่ไม่มีใครมา เพราะไทยกลายเป็นดงโควิด
แต่เรื่องนี้นอกจากมิติทางการแพทย์แล้ว ยังต้องชั่งน้ำหนักมิติทางเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนประกอบด้วย
๑๒๐ วันนี้ รัฐบาลต้องทำอะไรบ้าง
เท่าที่เห็นคุณหมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล เจียระไนมา คือการบริหารจัดการวัคซีน
ถ้ายังถูกแทรกแซงโดยนักการเมือง ความวิบัติอาจบังเกิด เปิดประเทศไม่ได้ใน ๑๒๐ วัน แล้วจะย้อนกลับไปหารัฐบาล
โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือ
แต่เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันต่างคนต่างมาทำหน้าที่ และทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเอง
หมอมีหน้าที่รักษาผู้ป่วย ก็โฟกัสไปที่ผู้ป่วย รักษายาก รักษาไม่ทัน นั่นคืองานที่ต้องรับผิดชอบ จะโยนภาระให้คนอื่นไม่ได้
รัฐบาลมีหน้าที่บริหารประเทศ มีเรื่องให้โฟกัสนับไม่ถ้วน เอาเฉพาะโควิด เศรษฐกิจ ๒ เรื่องนี้ ต้องเดินไปพร้อมกันให้ได้ นี่คืองานที่รัฐบาลจะปฏิเสธไม่ทำไม่ได้
หากทำไม่ได้สุดท้ายต้องออกไป ไร้ประโยชน์ที่จะอยู่ต่อ
นักการเมือง ถ้าไม่รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร แค่อยู่เฉยๆ จะเป็นคุณกับประเทศในยามยากแบบนี้มากโขทีเดียว
ส่วนประชาชนมีหน้าที่ดูแลตัวเอง ในยามวิกฤติเช่นนี้ อย่าทำตัวเป็นภาระสังคม แต่ต้องร่วมรับผิดชอบต่อสังคมให้มาก
สถานการณ์การระบาดของโควิด-๑๙ ในไทยตอนนี้ เลยจุดที่จะแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งก่อนไปแล้ว เพราะปัญหาอื่นที่รอแก้ไข จะลากเอาทุกปัญหาไปกองรวมกัน
แล้วระเบิดไปพร้อมกัน
การล็อกดาวน์ประเทศที่บางคนคิดอยากให้ทำนั้น ลองซิครับสักครึ่งเดือน เศรษฐกิจจะพังพินาศ
พังแล้วใช่ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ให้ดูมาเลเซีย เพื่อนบ้านเราเป็นตัวอย่าง ล็อกดาวน์ไปหลายรอบ สุดท้ายต้องเลิก เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อทรงตัวอยู่ที่ ๓-๕ พันคนต่อวัน
ล็อก-ไม่ล็อกค่าเท่ากัน
สำหรับประเทศไทย อย่าคาดหวังว่าจำนวนผู้ป่วยจะลดลงไปเหลือหลักสิบในระยะเวลาอันใกล้นี้
ตัวเลขจะทรงตัวอยู่ที่ ๒-๔ พันคนอีกเป็นเดือนๆ จนกว่าจะฉีดวัคซีนได้มากพอ
และวัคซีนต้องได้ผล สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้
ฉะนั้นต้องโฟกัสไปที่วัคซีน นี่คือโจทย์ที่ยากที่สุด
ข้อมูลล่าสุด โควิดที่ระบาดในไทย ๗๑% เป็นสายพันธุ์อัลฟา ๒๒% เป็นสายพันธุ์เดลตา และ ๓% เป็นสายพันธุ์เบตา
จำเป็นต้องเร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด
และต้องฉีดถึง ๓ เข็ม ต่างยี่ห้อ
ทั้งโลกยังอยู่ในสงครามแย่งชิงวัคซีน
๑๒๐ วันเปิดประเทศได้หรือไม่ อยู่ที่วัคซีนมีมากพอหรือเปล่า
แผนเดิมตุลาคมนี้ฉีดเข็มแรกครบ ๕๐ ล้านคน อาจไม่ทันการณ์แล้ว
ทำอย่างไรจะฉีดครบเข็ม ๒ ในเดือนตุลา แล้วตามด้วยเข็ม ๓ ทันที.